เลิกใช้ถุงพลาสติก นายทุนปรับแผนผลิต- ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม!!!

04 ม.ค. 2563 | 23:32 น.

 

นักวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล จากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) สำนักงานออสเตรเลีย ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้ถึงผลการศึกษาในวารสาร Scientific Reports หลังได้ติดตามศึกษาชีวิตของเต่าทะเลในรัฐควีนส์แลนด์มาระยะหนึ่ง ผลการวิเคราะห์พบว่า เต่าทะเลที่กลืนพลาสติกลงท้องไป 1 ชิ้น มีความเสี่ยงจะต้องตายจากภาวะทางเดินอาหารอุดตันหรืออวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นถึง 22% ส่วนเต่าที่กินพลาสติกเข้าไป 14 ชิ้น ความเสี่ยงดังกล่าวจะพุ่งสูงขึ้นอีกเป็น 50%   เช่นเดียวกับข่าวการจากไปของพะยูนมาเรียม  ก่อนหน้านี้สร้างความเศร้าใจให้กับบรรดาผู้รักสัตว์  แต่ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือ การพบขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆ หลายชิ้นในลำไส้ของมาเรียม โดยขยะเหล่านั้นเข้าไปอุดตันในกระเพาะอาหารจนเกิดการอักเสบ สุดท้ายลุกลามจนติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้สูญเสียสัตว์ทะเลไป

 

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นประเด็นจุดพลุที่ทำให้เกิดการรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติก!!!

 

ปฏิกิริยาที่เห็นทันที สำหรับประเทศไทยคือการออกมาประกาศเลิกใช้ถุงพลาสติกในท็อปซูปเปอร์มาร์เก็ตสัปดาห์ละ 1 วัน ต่อมาทั้งท้อปซุปเปอร์มาเก็ต  เซเว่นฯ  โมเดิร์นเทรด และในห้างสรรพสินค้าอื่นๆที่เน้นเฉพาะในซูปเปอร์มาเก็ต  เริ่มเป็นทางการทันทีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

เลิกใช้ถุงพลาสติก  นายทุนปรับแผนผลิต- ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม!!!

ส่วนท่าทีบรรดานายทุนผู้ผลิตถุงพลาสติก แห่ปรับแผนธุรกิจกันเป็นแถวก่อนแล้ว โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไล่ตั้งแต่บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ TPBI ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ได้ขยายฐานไปสู่การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์กระดาษ  จากการเข้าซื้อกิจการของกลุ่ม“ Intelipac” ในประเทศอังกฤษ มูลค่ากว่า 547 ล้านบาท

เลิกใช้ถุงพลาสติก  นายทุนปรับแผนผลิต- ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม!!!

นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPBI เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ก่อนหน้านี้ว่า การซื้อกิจการ “ Intelipac”ทำให้บริษัทเป็นผู้ประกอบบรรจุภัณฑ์ที่ครบวงจร ตั้งเป้ารายได้ที่มาจากกลุ่มธุรกิจกระดาษ (PAPER) (ถุงกระดาษ ถ้วยกระดาษ) และกลุ่มโกลบัล เทรดดิ้ง (Global Trading) ธุรกิจซื้อมาขายไป จากฐานผลิตในอังกฤษไปสู่ช่องทางการจำหน่ายประเทศต่างๆ ในกลุ่มยุโรป และจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ยุโรป 2 กลุ่มรวมกันประมาณ 30% ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจที่สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับบริษัท  

เลิกใช้ถุงพลาสติก  นายทุนปรับแผนผลิต- ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม!!!

ส่วนอีก 70% มาจากหมวดธุรกิจ  Consumable  (พลาสติกถุงหูหิ้ว ถุงขยะ ถุงใส่ผักผลไม้ ฯลฯ) เป็นหลักเพียงแต่จะเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ และหมวด Flexible Packaging  (บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค) รวมกัน   ส่วนนโยบายภาครัฐในการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกนั้น เข้าใจว่าภาครัฐอยากทำทั้งประเทศ ขณะนี้กระแสปรับตัวเริ่มในวงจำกัดเฉพาะในกลุ่มของถุงห้างสรรพสินค้า  แต่ยังมีกลุ่มของ “ถุงตลาด” ที่มากกว่ากลุ่มแรกกระจายอยู่ทั่วประเทศ

 

ด้านนายธีระชัย  ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ TPLAS กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้กระแสรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกจะออกมาแรง  แต่ยังไม่กระทบต่อผลประกอบการของบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมเปิดตัวสินค้าเสริมตัวใหม่ ที่จะมี 3 ผลิตภัณฑ์ ภายในปี 2563 ไล่ตั้งแต่ 1.กล่องบรรจุอาหารจากกระดาษ เป็นกระดาษที่ทำมาจากเยื่อไผ่ จะเริ่มผลิตได้ในภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ภายใต้แบรนด์ “B-LEAF” 2.ถ้วย- ชามกระดาษ 3.ถุงใส่เศษผงขยะขนาด 12 x 20  และ12 x 26  โดยสินค้าเสริม 2 ตัวแรกจะผลักดันเป็นสินค้าดาวรุ่งของปี 2563 และจะเป็นตัวที่มาเสริมรายได้ให้กับธุรกิจ

 

“สำหรับกระแสลดการใช้ถุงพลาสติกมีส่วนทำให้อัตราการบริโภคสำหรับคนที่พอมีกำลังซื้ออยู่ จะลดลง  เพราะการซื้อของจะต้องคิดเยอะขึ้น”

เลิกใช้ถุงพลาสติก  นายทุนปรับแผนผลิต- ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม!!!

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า แม้มีกระแสรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมโดยลดการใช้ถุงพลาสติก แต่ก็ไม่ได้กระทบต่อยอดขายของบริษัท เพราะเป็นสิ่งที่คนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่มาทดแทนได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามจากกระแสลดใช้ถุงพลาสติกครั้งนี้ทำให้นายทุนปรับแผนผลิต ขณะที่ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม  แต่ก็มีเสียงบ่นเล็ดลอดจากกลุ่มผู้บริโภคทำนองว่ากำลังเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภคหรือไม่!  เป็นกระแสตีกลับที่ถูกตั้งคำถาม!!!  เพราะผู้บริโภคต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น ต้องหาบรรจุภัณฑ์ใส่สินค้าเอง  ของที่เคยฟรีก็ต้องหาใช้เอง  หรือต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเลือกซื้อภาชนะสำหรับใส่สินค้ากลับบ้านหากไม่ได้เตรียมถุงผ้าหรือบรรจุภัณฑ์ติดตัวไป   

 

สุดท้ายแล้วเชื่อว่า “ถุงตลาด” ที่เป็นถุงพลาสติกบรรจุอาหาร ประเภทถุงร้อน ถุงขุ่น และถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่มีอยู่ในท้องตลาดหลากหลายยี่ห้อ ทั้งแบรนด์ ตราช้าง ตราดาว ตรากุญแจ ตรานกแก้ว  ยังคงพึ่งพาตลาดส่วนใหญ่ที่กระจายอยู่ในต่างจังหวัดเป็นหลัก   และการรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกคงทำได้ระดับหนึ่ง   หากไม่มีการรณรงค์ต่อเนื่องเดี๋ยวกระแสก็เงียบหายไปอีก   

 

ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องออกแรงและมองรอบด้านกว่านี้ โดยเฉพาะผู้บริโภคก็ต้องมีวินัยมากขึ้น  หากทิ้งไม่ถูกที่ถูกทาง ควรมีวิธีจัดการขั้นเด็ดขาดแบบไหน  วันนี้แค่การคัดแยกขยะจากบ้านหลายครัวเรือนยังทำไม่ได้ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังกองรวมอยู่ในถุงเดียวกันทั้งที่ซากขยะเหล่านี้คือขยะมีพิษ ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวคน

 

 พอกระแสมาที แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ลุกขึ้นขึงขังจริงจัง  พอกระแสเงียบ หยุดการเดินหน้าต่อเนื่อง สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้อยู่ดี  ฝากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรองดูให้ดี ให้รอบด้าน !

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007