แก้ค่าเงินบาทแข็ง ธปท.ต้องลงจากหอคอยงาช้าง

04 ม.ค. 2563 | 11:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3537 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 5-8 ม.ค.63

 

แก้ค่าเงินบาทแข็ง

ธปท.ต้องลงจากหอคอยงาช้าง

 

     ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง นับเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงตอนนี้ และคาดหมายกันว่าในปี 2563 เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันด้านแข็งค่าอยู่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก การท่องเที่ยว 2 เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยมีปัญหามากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายฝ่ายจะออกมาเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาบริหารจัดการและติดตามค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด หลังจากก่อนหน้านี้ได้ออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทมาระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการแข็งค่าของเงินบาทได้

     หากดูจากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่ากนง.มีความกังวลต่อสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทที่จะลุกลามไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆไว้อย่างชัดเจน โดยเห็นว่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แม้จะแข็งค่าชะลอลงและเคลื่อนไหวทั้ง 2 ทิศทางมากขึ้น แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะภาคการผลิตและการจ้างงานในภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก

 

     รวมถึงผลกระทบต่อกำไรและสภาพคล่องของธุรกิจ และความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งด้อยลงในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและเงินทุนอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและพิจารณาความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม

     อย่างไรก็ตาม หากดูจากท่าทีของธปท.ในการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทหลังการประชุมกนง.เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีมาตรการเพิ่มเติมใดๆออกมา มีเพียงออกมาส่งสัญญาณด้วยวาจาว่า “ธปท. จะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด”เท่านั้นสร้างความผิดหวังให้กับภาคเอกชนเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทเป็นมาตรการที่ใช้ไม่ได้ผล พร้อมขู่ว่าหากเงินบาทยังแข็งค่า การส่งออกได้รับผลกระทบรุนแรง บวกกับการขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า 5-6 บาทต่อวัน อาจเห็นการปลดคนงานเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้

     เราเห็นว่าธปท.และหน่วยงานภาครัฐ ควรเข้ามาดูแลค่าเงินบาทอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าไปกว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง เพราะต้องไม่ลืมว่าสาเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เพราะความล่าช้า และการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการเข้าไปบริหารจัดการค่าเงินบาท จนเศรษฐกิจของประเทศต้องล้มทั้งยืน จึงถึงเวลาแล้วที่ธปท. โดยเฉพาะดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. ต้องกระโดดลงมาแก้ปัญหาค่าเงินบาทอย่างจริงจังและรวดเร็ว