ข้อดีของค่าเงินบาทแข็งตัว?

28 ธ.ค. 2562 | 02:00 น.

ค่าเงินบาทสามารถแข็งตัวหรืออ่อนตัวลงได้ด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งทางการเงินและเศรษฐกิจ...

 

มีท่านผู้อ่านถามเรื่องค่าเงินบาท ว่ามีผลต่อพี่น้องคนไทยอย่างไร?และค่าเงินบาทขึ้นลงอย่างไร?

วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ก็เลยนำเรื่องค่าเงินบาทมาเล่าสู่กันฟัง ว่าค่าเงินบาทคืออะไร? ค่าเงินบาท คือจำนวนเงินบาทรวม เมื่อแลกกับเงินต่างประเทศ ที่เป็นเงินสกุลอื่นๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ เงินเยนญี่ปุ่น เงินปอนด์สเตอร์ลิง

อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้กำหนดค่าที่เป็นที่นิยมที่สุด ก็คือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในวันและเวลานั้นๆ เงิน 1 ดอลลาร์จะแลกได้เท่ากับกี่บาทนั้น...ค่าเงินอาจขึ้นลงเป็นรายชั่วโมง

เงินบาทแข็ง คือเงินบาทของเรามีค่ามากขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ส่วนค่าเงินบาทอ่อน ตรงกันข้ามกับเงินบาทแข็ง เช่น ถ้ามีโปรแกรมเดินทางไปต่างประเทศขณะค่าเงินบาทอ่อน ก็ต้องใช้เงินไทยจำนวนที่มากขึ้นในการแลกเป็นเงินดอลลาร์จำนวนเท่าเดิม

ค่าเงินบาทจะแข็งตัวหรืออ่อนตัวขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิเช่น มีเงินลงทุนจากต่างประเทศ หลั่งไหลกันเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมากพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเข้ามาในตลาดหุ้นหรือตลาดการเงิน

รวมทั้งการลงทุนอื่นๆ ที่นักลงทุนต่างชาติจะไม่สามารถใช้เงินตราต่างประเทศที่พวกเขามีอยู่ มาลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นไทยได้ โดยต้องแลกเป็นเงินไทยก่อน...ปัจจัยดังกล่าว รวมทั้งกลไกตลาดจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นโดยอัตโนมัติ

ขณะที่การส่งออกของไทยก็มีผลด้วยเช่นกัน คือหากไทยสามารถส่งออกได้มาก ผู้ส่งออกของไทยเราก็จะได้รับรายได้ในรูปของเงินสกุลต่างประเทศ ซึ่งผู้ส่งออกก็จะต้องนำเงินสกุลประเทศนั้นๆ มาแลกเป็นเงินบาท เพื่อการใช้จ่ายในประเทศต่อไป

ขณะเดียวกันก็จะเกิดเหตุการณ์เช่นกรณีแรก นั่นคือความต้องการเงินบาทมีมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ค่าเงินบาทสูงขึ้น จนเกิดค่าเงินบาทแข็งตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด....

ส่วนค่าเงินบาทอ่อน จะตรงข้ามกับเงินบาทแข็ง และมีเหตุปัจจัยทางการเงินหลายอย่าง เช่น ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าต่างประเทศจำนวนมากๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน พืชผลทางการเกษตรบางชนิด เครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ

ก็จะมีการนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินตราสกุลของประเทศนั้นๆ ก่อนจะนำมาใช้จ่ายซื้อสินค้าได้ ทำให้เงินของประเทศนั้นเป็นที่ต้องการ และกลไกของตลาดก็จะทำให้ค่าเงินประเทศนั้นแข็งตัวขึ้น ในขณะที่ค่าเงินบาทไทยอ่อนตัวลง

เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจน ว่าค่าเงินบาทสามารถแข็งตัวขึ้น หรืออ่อนตัวลงได้ด้วยปัจจัยทางการเงิน และเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งหากนักเก็งกำไรมีความรู้สึกว่าค่าเงินบาทน่าจะอ่อนตัวลงกว่านี้ ก็จะวิเคราะห์ว่าความต้องการถือครองเงินบาทในตลาดกำลังลดลง

เช่นเดียวกับการจะบอกว่าค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนอะไร? ดีกว่ากันนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ได้ประโยชน์กับเสียประโยชน์...เหมือนเหรียญมี 2 ด้าน ย่อมไม่สามารถตัดสินได้ด้วยการมองเพียงแค่ด้านเดียว!?!?

อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินบาทแข็งตัวก็ส่งผลเสียบางอย่าง อาทิเช่น เมื่อต่างชาติจะทำการซื้อข้าว หรือผลิตผลการเกษตรจากไทย เดิมเคยใช้เงินจำนวนน้อยกว่าในการซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิม เมื่อต้องจ่ายแพงขึ้น ก็อาจตัดสินใจเปลี่ยนแหล่งซื้อไปเป็นประเทศเที่ราคาถูกกว่าแทน

สรุปว่า ค่าเงินบาทจะแข็งตัว หรืออ่อนตัว ต่างก็มีผลกระทบทั้งด้านดีและไม่ดี จึงขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในสถานะใด?มากกว่า จึงจะสามารถบ่งชี้ได้ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร?

 

คอลัมน์ อยู่กับปัจจุบัน โดย พงษ์ศักดิ์ ศรีสด

ข้อดีของค่าเงินบาทแข็งตัว?