เศรษฐกิจปีหน้า: รัฐบาล‘ประยุทธ์2’ ยังก้าวไม่พ้นวิบากกรรม!?

22 ธ.ค. 2562 | 03:00 น.

 

วันนี้ ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ กับจีน จะบรรลุข้อตกลงกันได้บางส่วนหรือเกือบทั้งหมด แต่ก็ใช่ว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นแบบทันทีทันควัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

ประเทศไทย (อาจ) โชคดี ที่ค่าเงินบาทยังมั่นคง ทำให้รัฐบาลประยุทธ์ 2” สามารถออกมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้รายได้และรายจ่ายของประชาชนเกิดการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง

เริ่มตั้งแต่นโยบายแจกเงินคนจน กระทั่งถึงนโยบายกินช้อปใช้แต่ก็ใช่ว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นจนเห็นได้ชัด เนื่องจากปัญหาที่สะสมมากมายจากรัฐบาลเก่า อีกทั้งหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและหนี้สาธารณะที่รัฐบาลต้องแบก...

ทำให้กำลังซื้อของพี่น้องคนไทย เฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจท้องถิ่นลดลง ขณะที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ก็มีการผูกขาดอยู่กับทุนใหญ่ ทำให้เงินไหลเวียนเข้าแต่กระเป๋าคนรวย จนเกิดสภาพรวยกระจุก จนกระจายขึ้นทั่วบ้าน-ทั่วเมือง

ส่งผลให้เศรษฐกิจบ้านเรามีภาวะถดถอย และกลายเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายค้านหรือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล นำเอาไปเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ โดยไม่นับรวมสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งมีผลต่อทั้งโลกก่อนหน้านี้

ล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยอมเซ็นอนุมัติสัญญาการค้า และจีนได้ตอบสนองด้วยข้อตกลงว่าจะซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯ วงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ตอนแรกที่ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ทั้ง 2 ประเทศ ตกลงกันได้เรื่องการลดภาษีปัจจุบันและการไม่ขึ้นภาษีวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา
 

 

สัปดาห์นี้จะไม่คุยในรายละเอียดของสัญญาการค้า ขั้นที่ 1 ที่เพิ่งตกลงกันได้ แต่จะคุยให้ท่านผู้อ่านฟัง ว่าทำไมจึงเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยต้องเริ่มทำความเข้าใจกันก่อนว่า

จีน คือฐานการผลิตของโลก ส่วนสหรัฐฯ คือตลาดใหญ่ที่สุดของจีน และ สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าให้จีนอย่างมโหฬาร ดังนั้นทรัมป์จึงออกมาตรการที่จะจัดเก็บภาษีของสินค้าจีนเสียใหม่ แต่ลืมไปว่าจีนได้เป็นจุดเปลี่ยนของภาคการผลิตทั่วโลกที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิตแล้ว

และภาคการผลิตทั่วโลกกำลังมีแนวโน้มที่จะปรับฐานการผลิตใหม่ เริ่มตั้งแต่การย้ายฐานการผลิตออกจากจีน หรือย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปประเทศใกล้เคียงจีน เพื่อเป็นฐานการผลิตสำรอง หรือเป็นส่วนเสริมหรือประกอบเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย หรือส่งออกจากประเทศนั้นๆ แทนที่จะเป็นจีน เพื่อเลี่ยงการเก็บภาษีของสหรัฐฯ

 

เวียดนามกับไทยอาจกลายเป็นแหล่งผลิตใหม่ที่จีนย้ายฐานผลิตบางส่วนเข้ามา เพื่อลดผลกระทบจากเรื่องการจัดเก็บภาษี ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยตรง ซึ่งเมื่อรวมกับเป็นช่วงวงจรของเศรษฐกิจขาลง ทำให้ โลกของเราอยู่ในสภาวะเสื่อมถอยอย่างเป็นรูปธรรม!!

ถึงตอนนั้น ท่านผู้อ่านก็จะเห็นอย่างชัดเจนถึงเศรษฐกิจภายในประเทศที่ถดถอย แม้จะมีการกระตุ้นจากภาครัฐมากเท่าใด ก็ยากที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ กล่าวคือ แค่การชะลอไม่ให้ตกกระทบพื้นแรงเกินไปเท่านั้น รอเวลาให้วงจรขาขึ้นกลับมาในอีก 2 ปีข้างหน้า

เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะไม่ตาย แต่ก็จะเลี้ยงไม่โต และมีความเสี่ยงสูงมาก แม้รัฐบาลคาดหวังว่าการลงทุนของภาครัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าจะเป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะจบด้วยความสำเร็จง่ายๆ

 

คอลัมน์ อยู่กับปัจจุบัน โดย พงษ์ศักดิ์ ศรีสด 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,533 วันที่ 22-25 ธันวาคม 2562

เศรษฐกิจปีหน้า: รัฐบาล‘ประยุทธ์2’  ยังก้าวไม่พ้นวิบากกรรม!?