ผลการเลือกตั้ง UK ภาพสะท้อนทางออก‘Brexit’

21 ธ.ค. 2562 | 03:00 น.

 

คอลัมน์ รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,533 วันที่ 22-25 ธันวาคม 2562

 

ผลการเลือกตั้งของ UK (สหราชอาณาจักร) เมื่อ วันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา หากจะนำมาวิเคราะห์ ให้ดีแล้วน่าจะทำให้พอเห็นภาพความ ชัดเจนของการแยกตัวของ UK จาก EU (กลุ่มสหภาพยุโรป) ได้ไม่ยาก

อย่างที่ทราบกันดีว่า Brexit เป็นเสมือนปัญหาโลกแตกในภูมิภาคนี้มาระยะใหญ่ โดยมีการขยายระยะเวลาการแยกตัวออกไปหลายรอบแล้ว จนสุดท้ายได้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนออกมาเลือกตั้ง เพื่อหาผู้ที่จะมาชี้ชะตาให้กับประเทศ

โดยพรรคอนุรักษนิยม (Conservative หรือที่คนอังกฤษมักเรียกว่า Tories Party) นายบอริส จอห์นสัน ได้ประกาศจุดยืนที่แจ้งชัดถึงความประสงค์และความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้การแยกตัวของ UK ออกจาก EU มีผลทันทีในวันที่ 31 มกราคม 2563 ในขณะที่ นายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำฝ่ายค้านพรรคแรงงาน (Labour) ไม่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า หากได้รับเลือกแล้วจะเดินหน้าแยกตัว หรือยุติการแยกตัว แต่ดูเหมือนจะโยนทางเลือกกลับไปให้ประชาชนทำประชามติในรอบ 2 ว่าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศต้องการในการแก้ปัญหาเรื่องนี้เดินไปในทิศทางใด

แต่จากผลการเลือกตั้งที่ออกมาแสดงให้เห็นแล้วว่า จากที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนทั้งสิ้น 650 คน พรรคที่ต้องการครองเสียงข้างมากนั้น ต้องมีสมาชิกพรรคได้รับเลือกจำนวน 326 ที่นั่งขึ้นไป ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา สมาชิกของพรรคอนุรักษนิยม ของนายบอริส จอห์นสัน ได้รับเลือกถึง 365 ที่นั่ง โดยได้คะแนนเสียงเพิ่มจากเดิมถึง 47 ที่นั่ง

ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคแรงงานคะแนนเสียงลดลงอย่างมากจึงทำให้เก้าอี้ในสภาฯ หายไปถึง 59 ที่นั่ง โดยสมาชิกของพรรคได้รับเลือกเป็นผู้แทนในสภาฯ เพียงแค่ 203​ คนเท่านั้น และถึงแม้พรรค SNP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหลักของสกอตแลนด์ ที่มีเจตนาคัดค้านการแยกตัว UK ออกจาก EU อย่างชัดเจนจะได้ที่นั่งเพิ่มจากเดิม 13 ที่นั่ง แต่ก็มีเสียงของสมาชิกพรรคในสภาฯ ที่ได้รับเลือกเข้ามาเพียงแค่ 48 ที่นั่งเท่านั้น และต่อให้พรรคแรงงานจะรวมกับพรรคต่างๆ ที่เหลือ คะแนนของพรรคอนุรักษนิยมก็ยังคงเป็นเสียงข้างมากที่มีคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาฯ ไปถึง 40 คะแนนอยู่ดี

 

ผลการเลือกตั้ง UK  ภาพสะท้อนทางออก‘Brexit’

 

ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นได้อย่างหนึ่งว่า ประชาชนในประเทศเริ่มเบื่อกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของประเทศ ที่เป็นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ความไม่ชัดเจนของพรรคฝ่ายค้านในการแก้ปัญหานี้ ทำให้คนเทเสียงให้กับฝ่ายรัฐบาลที่อย่างน้อยก็รู้ว่า ประเทศจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน ในทางกลับกันหากผู้นำฝ่ายค้าน เสนอนโยบายที่ชัดเจนว่าจะเดินหน้าสู่กระบวนการที่จะยกเลิกการแยกตัวออกจาก EU แทนการโยนปัญหานี้กลับไปให้ประชาชนทำประชามติกันใหม่ ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าผลของการเลือกตั้งอาจจะออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง

 

 

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งก็ได้ออกมาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลคงรีบดำเนินการภายในกรอบระยะเวลาอันจำกัดก่อนสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาแยกตัวในวันที่ 31​ มกราคม 2563 ในการที่จะออกกฎหมายต่างๆ มาเพื่อรองรับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และแน่นอนว่าเมื่อพรรคอนุรักษนิยมได้กลับมาเป็นรัฐบาล โอกาสที่จะมีการเรียกให้ทำประชามติในเรื่องนี้คงไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้อีกแล้ว

เพราะรัฐบาลจะเดินหน้าเต็มที่ในการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงในการแยกตัวจาก EU ได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามข้อตกลงนั้นก็ยังคงต้องนำมาผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ แต่เมื่อ คะแนนเสียงของพรรคอนุรักษนิยมเข้มแข็งขึ้นมาก ดังนั้นปัญหาว่าผลการโหวตในสภาฯ จะแพ้เหมือนครั้งที่นายกฯเมย์ และนายจอห์นสัน เป็นนายกฯ ก็คงจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เว้นแต่ว่าจะมีการเสนอให้แยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง

ดังจะเห็นได้ว่าพรรคที่เสนอนโยบายให้มีการแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง ไม่ได้รับเลือกมาในครั้งนี้เลย นั่นหมายความว่าประชาชนต้องการส่งสัญญาณให้รู้ว่า ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ตอนนี้ แม้ต้องการจะยุติเรื่องนี้ด้วยการให้มีการแยกตัวจาก EU แต่ก็ยังต้องการให้เป็นการแยกตัวที่มีความตกลงกันระหว่าง UK กับ EU ดังนั้นหากนายกฯ บอริส จอห์นสัน เสนอการแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง ก็มีโอกาสที่สมาชิกทั้งจากพรรคอนุรักษนิยม พรรคแรงงาน และพรรคอื่นๆ จะร่วมกันควํ่าข้อเสนอดังกล่าวได้อยู่

 

 

เมื่อภาพการแยกตัวของ UK จาก EU เริ่มมีความชัดเจนมากหลังผลการเลือกตั้ง ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยก็ควรต้องเตรียมตัวหามาตรการมารองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแยกตัวของ UK ในครั้งนี้ เพราะขนาดประเทศไทยที่เป็นประเทศเล็กๆ เวลามีปัญหาทางเศรษฐกิจ ยังทำให้เศรษฐกิจโลกเซจนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งได้เลย

แล้วนี่เป็นถึงประเทศผู้นำของยุโรป แยกตัวจากกลุ่มภูมิภาคที่เข้มแข็งที่สุดในโลก มีหรือที่การแยกตัวครั้งนี้จะไม่สะเทือนเศรษฐกิจโลก หากประเทศกำลังพัฒนาไม่มีการเตรียมการรับมือกับเรื่องนี้ให้ดี ปีหน้าเศรษฐกิจโลกคงได้เป็นปีเผาจริงอย่างที่มีการรํ่าลือกันแน่ๆ

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้คือด้วยความที่ข่าว Brexit มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน คนเห็นข่าวบ่อยๆ ก็เริ่มไม่สนใจ แม้แต่รัฐบาลในหลายประเทศก็ดูจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะลุ้นกันมาจนเบื่อแล้ว แต่พอจะแยกตัวจริงๆ เข้า มีความเป็นไปได้ว่าการแยกตัวนี้อาจเกิดขึ้นในวันที่ 31​ มกราคมที่จะถึงนี้แล้ว ซึ่งกว่าประเทศต่างๆ จะรู้ตัวกันอีกที ก็คงโดนสึนามิเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น ผลกระทบการ Brexit ไปเสียแล้ว

ได้แต่หวังว่ารัฐบาลไทยจะได้เตรียมแผนรับมือสำหรับเรื่องนี้ไว้แล้ว