ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน : หวังได้แค่ไหน?

16 ธ.ค. 2562 | 11:03 น.

ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน : หวังได้แค่ไหน?

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2562 (อ้างตาม Agreement between the United States of America and  the People’s Republic of China, December 13, 2019, FACT SHEET, USTR) สหรัฐฯ กับจีนบรรลุข้อตกลงที่เรียกว่า “First Phase of Trade Deal Agreement” ซึ่งกำหนดเดิมจะมีผลบังคับวันที่ 15 ธันวาคม 2562  

ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน : หวังได้แค่ไหน?

 

สาระสำคัญคือ 1.สหรัฐฯ เลื่อนการขึ้นภาษีมูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อัตราภาษี 15% ของสินค้าได้แก่ แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ของเล่น วีดีโอเกมส์ ของประดับเทศกาลคริสต์มาส และสินค้าสำหรับผู้บริโภค ส่วนจีนยกเลิกการเก็บภาษี 25% รถยนต์สหรัฐฯ และชิ้นส่วนรถยนต์ 5% นอกจากนี้จีนจะซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯ มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการซื้อสินค้าเกษตรมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯในระยะ 2 ปีข้างหน้า  

ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน : หวังได้แค่ไหน?

2.สหรัฐฯ เก็บภาษีลดลงจาก 15% เหลือ 7.5% ของมูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ ที่ได้เก็บเมื่อวันที่  1 กันยายน 2562 กลุ่มสินค้านี้ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องกีฬา 3. สหรัฐฯ ยังเก็บภาษีมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ที่ 25% เหมือนเดิม 4.ข้อตกลงของ Phase One Trade Deal นี้นอกจากครอบคลุมการซื้อสินค้าแล้ว ยังรวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การแทรกแซงค่าเงิน สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า ซึ่งหากปราศจากข้อตกลงนี้จีนจะเก็บภาษีนำเข้า ข้าวโพด ข้าวสาลี เครื่องบินเล็ก และแม่เหล็ก ที่ 5% และ 10% ตามลำดับ

 

โดยข้อมูลจาก “BBC Research” สรุปว่ามูลค่าของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ จีนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ถึง มิถุนายน 2562 สหรัฐฯ เก็บภาษีจีน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ และจีนเก็บภาษีสหรัฐ 1.7 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อไปดูตัวเลขนำเข้าส่งออกของจีนกับสหรัฐฯ พบว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2008-2018) แม้ว่าสงครามการค้าที่เกิดอย่างเต็มตัวในปี 2561 แต่จีนก็ยังได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม แต่ดุลการค้าของจีนต่อสหรัฐฯ เริ่มเห็นผลจริงในกลางปี 2562 (กราฟตัวเลขรายเดือน) ดุลการค้าของจีนกับสหรัฐฯ เริ่มลดลง

ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน : หวังได้แค่ไหน?

 

นอกจากนี้ผลสงครามการค้าที่มีต่อเศรษฐกิจรายไตรมาสของจีนและสหรัฐฯ ในปี 2562 ลดลงอย่างต่อเนื่อง GDP จีนลดลงจาก 6.4% ในไตรมาส 1 เหลือ 6% ในไตรมาส 3 ผมคาดการณ์ว่า Q4 น่าจะต่ำกว่า 6% หรือเท่าเดิม ในขณะที่ GDP สหรัฐฯ ลดลงจาก 3% ในไตรมาส 1 เหลือ 2% ในไตรมาส 3 นี้คงเป็น “เหตุผลสำคัญ” ที่ทำให้ทั้งสองชาติต่างเห็นชอบในข้อตกลงทางการค้า จากข้อตกลงดังกล่าว เราพอจะหวังได้แค่ไหน? เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกจะคลี่คลายหรือไม่?

 

ผมมี ข้อคิดเห็น ดังนี้ครับ 1.เศรษฐกิจโลกและการค้าของโลกภาพรวมน่าจะดีขึ้น การส่งออกไทยในปีหน้า คงจะอยู่ในแดนบวก  แต่ที่สำคัญการค้าโลกคงไม่ฟื้นเร็วดังใจ เพราะมูลค่าและอัตราภาษีนำเข้าที่เก็บระหว่างกันยังคงอยู่ ประเด็น “ฮ่องกง” จะกลายเป็นประเด็นใหม่ที่เพิ่มขึ้นที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสอง นอกจากนี้รายละเอียดของข้อตกลงก็ไม่มีการกำหนดระยะเวลา

ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน : หวังได้แค่ไหน?

 

อย่างไรก็ตามบริษัท Morgan Stanley มองว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1 ทั้งปี 2563 ขยายตัว 3.2% จาก ปี 2562 อยู่ที่ 3% โดยให้น้ำหนักไปที่ข้อตกลงทางการค้าเป็นหลัก 2.ประเด็นเทคโนโลยี  (ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการแบน “Huawei” ที่สหรัฐฯ รณรงค์ให้มีการแบน) ทรัพย์สินทางปัญญา ความลับทางการค้า ขั้นตอนในการทำธุรกิจและเทคโนโลยี การแทรกแซงค่าเงิน (ค่าเงินหยวนอ่อนค่าต่อเนื่องม.ค.2561 อยู่ที่ 6.4 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ พ.ย. 62 อยู่ที่ 6.9 หยวนต่อดอลลาร์ และ ต.ค.2562 อยู่ที่ 7.1 หยวนต่อดอลลาร์) และข้อห้ามความเป็นเจ้าของธุรกิจ (Foreign Owner Restriction)

ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน : หวังได้แค่ไหน?

ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่มาก หลักฐานไม่ชัดเท่ากับดุลการค้าและเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขและปรับปรุง แต่หากเราติดตามเรื่องนี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจีนก็มีความตั้งใจจะเปิดโอกาสการลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติ เห็นได้จากคณะกรรมการปฎิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีน   (the National Development and Reform Commission : NDRC) ได้มีกำหนดระยะเวลาในการยกเลิกข้อกำหนดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเมื่อเดือนเมษายน 2561 จากเดิมการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ นักลงทุนต่างชาติต้องลงทุนแบบร่วมทุน (Joint Venture : JV) สัดส่วน 50% ซึ่งข้อกำหนดนี้จะถูกยกเลิกไปในปลายปี 2561 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนรถยนต์เชิงพาณิชย์จะยกเลิกในปี 2563 และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยกเลิกในปี 2565

 

อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะปลดล็อกสัดส่วนการถือหุ้นก็ตาม แต่ประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น ยังไม่มีการพูดถึงอย่างชัดเจนว่ายังจะมีอยู่อีกหรือไม่? ฉะนั้นประเด็นเหล่านี้จึงจำเป็นต้องใช้เวลา ไม่แน่ใจว่าจะทำให้สถานการณ์ “ข้อพิพาททางการค้าในปี 2020” พอจะคลี่คลายดังใจเราหรือเปล่า ต้องติดตามกันต่อไปครับ