“กระเทียมจีน”ท่วมโลก กระเทียมไทยจะรอดหรือไม่?

15 ธ.ค. 2562 | 04:02 น.

“กระเทียมจีน”ท่วมโลก กระเทียมไทยจะรอดหรือไม่?

 

ช่วงระหว่าง 4-5 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตกระเทียมไทยค่อนข้างผันผวนจาก 7 หมื่นตัน เป็น 9 หมื่นตัน หรือ 8 หมื่นตันต่อปี มีพื้นที่ปลูกปีละ 7 หมื่นไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกในภาคเหนือ เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน เป็นต้น ศักยภาพการผลิตกระเทียมไทยได้ไร่ละ 1 ตัน (จีนผลิตได้ 4 ตันต่อไร่ ซึ่งสูงที่สุดในโลก) ต้นทุนการผลิตกระเทียมสดไทย 11 บาทต่อ กิโลกรัม(กก.) และต้นทุนกระเทียมแห้ง 35 บาทต่อ กก. ปัจจุบันมีครัวเรือนเกษตรกรไทยปลูกกระเทียมกว่า 25,000 ครัวเรือน

 

กระเทียมไทยกำลังเผชิญกับ “กระเทียมจีน” ทั้งปริมาณการผลิต ต้นทุน และการนำเข้าที่มีมากมายมหาศาล ต้นทุนกระเทียมสดจีน 5 บาทต่อ กก. และแห้ง 15 บาทต่อ กก. (ปี 2561) ราคากระเทียมไทยเบอร์กลาง 77.50 บาทต่อ กก. ราคากระเทียมจีนเบอร์กลาง 50 บาทต่อกก. (ณ วันที่ 14 ธ.ค. 2562, www.kasetprice.com) ในขณะที่ราคาเกษตรกรจีนที่ขายกระเทียมสดในตลาดจีนอยู่กิโลกรัมละ 14 บาท ($432 ต่อตัน) ราคาขายส่งในตลาดจีนอยู่ที่ 7.6 หยวนต่อ กก. หรือ 35 บาทต่อ กก.

“กระเทียมจีน”ท่วมโลก กระเทียมไทยจะรอดหรือไม่?

กระเทียมจีนกำลังท่วมโลก ปี 2559 กระเทียมจีนผลิต 22 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณผลิตกระเทียมมากที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 80 ของผลผลิตโลก (26.5 ล้านตัน ปี 2568 คาดว่าโลกผลิตอยู่ที่ 31 ล้านตัน) โดยจีนผลิตใน 5 มณฑลหลักคือ ซานตง (Shandong) ผลิต 2.2 ล้านตัน เหอหนาน (Henan) 1.3 ล้านตัน เจียงซู (Jiangsu) 0.8 ล้านตัน ยูนนาน (Yunnan) 0.5 ล้านตัน และเหอเป่ย์ (Hebei) 0.3 ล้านตัน ในแต่ละมณฑลจะมีพันธุ์กระเทียมเป็นของตนเอง เช่น ในมณฑลซานตงจะเป็นกระเทียมชางชาน (Changshan) และกระเทียมไทชาง (Taichang) ในมณฑลเจียงซู เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นกระเทียมหัวใหญ่

 

 

“กระเทียมจีน”ท่วมโลก กระเทียมไทยจะรอดหรือไม่?

ในปี 2558 จีนได้ตั้ง “ตลาดซื้อขายกระเทียมโลก” ชื่อว่า “Shandong Jinxiang Garlic International Trading Market” ที่เมืองจินเซียง (Jinxiang) ในมณฑลซานตง มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเป็นตลาดซื้อขายกระเทียมของโลกมีทั้งคลังสินค้าและศูนย์โลจิสติกส์ ในพื้นที่ 2,700 ไร่ มีการซื้อขายกระเทียมปีละ 2 ล้านตัน จีนส่งออกกระเทียมเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2561 จีนส่งออกกระเทียมมากสุด 1.8 ล้านตัน เพิ่มจาก 1.4 ล้านตันในปี 2550 ตลาดหลักคืออาเซียน ยุโรป และอัฟริกา ในอาเซียน มีอินโดนีเซียเป็นรายใหญ่ที่นำเข้ากระเทียมจีนมากสุด ซึ่งเป็นการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปีจาก 3 แสนตัน เป็น 5 แสนตัน แต่อินโดนีเซียผลิตกระเทียมได้เพียง 2 หมื่นตัน ตามด้วยเวียดนาม (2 แสนตัน) มาเลเซีย (1.5 แสนตัน) และฟิลิปฟินส์ (8 หมี่นตัน)

 

กระเทียมจีนได้สร้างความกังวลแก่ประเทศผู้ผลิตกระเทียมทั่วโลก เช่น กระเทียมจีนในยุโรป กระทบเกษตรกรในยุโรป เช่นใน สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส โปแลนด์ ฮังการีและโรมาเนีย นโยบายการปกป้องการนำเข้าของยุโรปจึงมีการเก็บภาษี 9.6% และเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี กระเทียมจีนจึงส่งออกไปยังทางเรือที่นอรเวย์ ซึ่งนอร์เวย์ไม่ได้เป็นสมาชิกยุโรป ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี หลังจากนั้นก็กระจายไปยังประเทศยุโรปอื่นๆ

“กระเทียมจีน”ท่วมโลก กระเทียมไทยจะรอดหรือไม่?

กระเทียบจีนในสหรัฐฯ  สหรัฐฯ นำเข้ากระเทียมจากจีนมาร้อยละ 50 ของการนำเข้ากระเทียมทั้งหมด ราคากระเทียมจีนอยู่ที่ กก.ละ 42 บาท ในขณะที่กระเทียมสหรัฐฯ 70 บาทต่อ กก. ประเด็นนี้กลายเป็น “Garlic War” ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน  กระเทียมจีนทะลักเข้ามาในตลาดสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2533 จนทำให้สวนกระเทียมรายใหญ่เจ๊งเหลือ 3 รายจาก 12 ราย (BBC News วันที่ 21 พ.ย.2562) ผลของการขึ้นภาษีจาก 10% ในเดือนกันยายน 2561 และเพิ่มเป็น 25% เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562  ทำให้ราคากระเทียมจีนเพิ่มขึ้น ( จาก $30 เป็น $55 ต่อ 13.6 กก. แต่ก็ยังต่ำกว่ากระเทียมสหรัฐฯ ที่ขายกันที่ $70)

 

ขณะที่อินโดนีเซีย ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกระเทียมให้เพิ่มขึ้นอีก 6 แสนไร่ เพราะมีความต้องการใช้ปีละ 5 แสนตัน แต่ผลิตได้ 2 หมื่นตัน ที่เหลือนำเข้า รัฐบาลจึงจูงใจให้เกษตรกรได้รับราคาประกันที่ 85 บาทต่อ กก. (38,000 รูเปี้ยต่อ กก.)

 

“กระเทียมจีน”ท่วมโลก กระเทียมไทยจะรอดหรือไม่?

หันมาดูกระเทียมไทยบ้าง  ไทยมีการนำเข้ากระเทียมเกือบ 100% มาจากประเทศจีน ประเด็นของกระเทียมไทยที่ต้องเร่งแก้ไข คือ 1.มีการลักลอบ นำเข้ากระเทียมหัวใหญ่มาจากประเทศจีน ตัวเลขนำเข้าทางการ 7 หมื่นตัน บวกกับลักลอบอีกมากกว่า 3 แสนตัน (สวัสดิ์ คำออน ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่) เมื่อนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยมาก ราคาถูกๆ เข้ามาขายแข่งกับกระเทียมหัวเล็กของไทย ราคากระเทียมไทยจึงตกต่ำ

 

2. ภาษีนำเข้าช่วยไม่ได้ ปัจจุบันไทยเก็บภาษีกระเทียมนำเข้าภายในกรอบโควตาตามองค์การการค้าโลก  60-70 ตันต่อปี เสียภาษีประมาณ 27% ที่เหลือเป็นการนำเข้านอกกรอบ ที่เสียภาษี 57% แม้ว่าภาษี 57% แต่ราคาขายกระเทียมจีนก็ยังถูกกว่ากระเทียมไทย เราควรมีการทบทวนมาตรการการนำเข้า

“กระเทียมจีน”ท่วมโลก กระเทียมไทยจะรอดหรือไม่?

 

3.รื้อบริษัทนำเข้า ต้องบอกให้ชัดว่าบริษัทที่จะนำเข้ากระเทียมอนุญาตให้กับบริษัทเพื่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าของสินค้าเท่านั้น 4.ต้นทุนการผลิตสูง กระเทียมไทยต้นทุนสูงกว่ากระเทียมจากประเทศจีน ทำให้กระเทียมไทยไม่สามารถแข่งขันในเรื่องราคาได้  

 

5.แปรรูปกระเทียมเพื่อสร้างมูลค่า กรณี “กระเทียมออแกนิค” ของคุณชนะ ไชยชนะที่จังหวัดลำพูน ทำ 1.กระเทียมดองออแกนิค ที่ได้มาตรฐาน IFORM, EU และCOR (มาตรฐานแคนาดา) การทำกระเทียมออแกนิคทำให้ต้นทุนเพิ่มเป็น 20 บาทต่อ กก. รับซื้อจากเกษตรกร 27 บาทต่อ กก. เอาไปขายกิโลละ 65 บาทเพื่อไปทำกระเทียมดอง โดยกระเทียมดอง 3 ตันใช้กระเทียมสด 5 ตัน 2.กระเทียมดำ ทำจากกระเทียมสด  ขายเป็นกระเทียมดำราคา 2,500 บาทต่อกก. จากกระเทียมสด 1 กก. ได้กระเทียมดำ 3 ขีด หรือกระเทียมดำ 1 กก. ต้องใช้สด 10 กก. ตลาดเยอรมันต้องการมากขณะนี้  ต้องการ 1 ตู้คอนเทอร์เนอร์ 8 ตัน มูลค่า 20 ลบ แต่ต้องมีมาตรฐาน IFORM

 

จากนี้ไปเกษตรกรที่ปลูกกระเทียมไทย “จะรอดหรือไม่” หากเราไม่รีบแก้ไข ไม่น่าจะรอดครับ