เปิดแผนจีน“กินรวบ” ทุเรียนไทย หวั่นซ้ำรอยยางพารา!!!

14 ธ.ค. 2562 | 22:48 น.

 

ปฏิบัติการจีนเดินเกมการค้าทำเอาเกษตรกรไทยหัวใจพองโตเพราะขายสินค้าได้ราคาดี ยกตัวอย่าง “ทุเรียน” ที่จีนเข้ามาเดินกลยุทธ์ปั่นราคาเพื่อสร้างซัพพลาย(ผลผลิต) พอซัพพลายเยอะ ทำให้ราคาลง  ราคาจะลงต่อเนื่องจนเกษตรกรถอดใจ จากนั้นจีนจะปฏิบัติการต่อด้วยการเทกโอเวอร์ทั้งระบบเรียกว่ากินรวบตั้งแต่หัวจรดหาง!

น่าเป็นห่วงเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน เพราะเกมนี้กำลังจะซ้ำรอยยางพาราหรือไม่ น่าจับตา!  ยางพาราที่ราคาเคยขึ้นไปถึง 180 บาทต่อกิโลกรัม ตอนนั้นราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เริ่มปรับตัวสูงขึ้นจาก 50 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงปลายปี 2551 และขึ้นไปสูงสุดประมาณ 180 บาท ต่อกิโลกรัมในปี 2554 หลังจากนั้น ราคาก็ได้ปรับตัวลดลงเรื่อยมา (กราฟิกประกอบ) 

เปิดแผนจีน“กินรวบ” ทุเรียนไทย  หวั่นซ้ำรอยยางพารา!!!

เนื่องจากประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ1 ของโลก มีการขยายพื้นที่การปลูกยาง จากเดิมที่ปลูกทางภาคใต้ และภาคตะวันออก เป็นหลัก (รวมกันประมาณ 15 ล้านไร่) ก็ไปปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ (ประมาณ 5 ล้านไร่) และภาคกลางกับเหนือในบางส่วน  ต้องใช้เวลาในการปลูกประมาณ 6-7 ปี จึงจะกรีดยางได้ รวมถึงการขยายพื้นที่ปลูกยางในประเทศลาว กัมพูชา เมียนมา และอีกหลายๆ ประเทศ ส่งผลให้เกิดภาวะยางล้นตลาดโลก ราคาจึงอยู่ในแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2554 จนถึงปัจจุบันที่ราคาร่วงลงมาอยู่ที่ประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม (ยางแผ่นรมควัน)

-พ่อค้าจีนคุมทั้งปริมาณและราคา

ในช่วงที่ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง  ตั้งข้อสังเกตว่าพ่อค้าชาวจีน เดินสาย เข้ามาในอุตสาหกรรมยางพาราของไทย ไม่ว่าจะเข้ามาเป็นเจ้าของโรงงานผลิตยางแท่งหรือยางแผ่นรมควัน พ่อค้ายาง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในปลายน้ำ      พอจะอนุมานได้ว่า มีการสร้างราคาให้สูงขึ้น จนมีสินค้าล้นตลาด และราคาก็ปรับลดลง พร้อมๆกับมีสินค้าที่ให้ซื้ออย่างมากมาย   เป็นการเข้ามาเพื่อรักษาอำนาจในการควบคุมปริมาณและราคาในการซื้อขายยางพารา เนื่องจากจีนเป็นผู้นำเข้ายางพารามากกว่า 40 % ของความต้องการของทั้งโลก

 

ในยุคบูมราคายางดี มีการส่งออกไปผลิตยางรถยนต์ในจีน หรือทุนจีนพากันเดินสายเข้ามาตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ในประเทศไทย  เห็นได้ชัดเจนเมื่อ 2-3 ปีก่อน กลุ่มทุนจีนเดินสายเข้ามายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ แต่สถานภาพตอนนี้กลับตรงกันข้าม ราคายางร่วง เศรษฐกิจโลกไม่ดี การใช้ยางลดลง  ยิ่งในยามนี้ยอดส่งออกรถยนต์ร่วง  เกษตรกรผู้ปลูกยางเลี้ยงชีพบางรายต้องถอดใจ!

-ต้นยางตายคาที่ยิ่งตอกย้ำ

เวลานี้ในภาคอีสานมีต้นยางตายคาพื้นที่ไว้ดูต่างหน้าเกิดขึ้นแล้ว เพราะลงทุนปลูกยางไปจำนวนมาก สูญเงินเกษตรกรไปก็ไม่รู้เท่าไหร่  ปัญหานี้ทั้งภาครัฐหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ร่วมกับชาวบ้านวิเคราะห์ให้ดีก่อนว่ายางเหมาะสมกับสภาพอากาศแบบไหน ควรจะปลูกยางในจังหวัดใดบ้าง  เห็นราคายางดีเร่งส่งเสริมสนับสนุนโดยไม่วิเคราะห์ให้ดีก่อน  วันนี้ราคายางร่วงดิ่งลง และแว่วว่า ทุนจีนบางรายก็จ้องเทกโอเวอร์หรือสนใจร่วมทุนกับบริษัทผลิตยางในประเทศไทยแล้ว

วกกลับมาที่ “ทุเรียน” เมื่อเห็นตัวอย่างจากยางพาราในประเทศไทย ก็อดไม่ได้ที่จะหันมามองทุเรียนในบ้านเรา เมื่อ 5-6 ปีก่อนราคาขายปลีกทุเรียน กิโลกรัมละ 50 บาท แต่ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา มีราคาขายปลีกมากกว่า 100 บาท เหมือนประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่?   ต้องตั้งคำถามไว้ก่อน!

จากราคาหน้าสวนที่พุ่งสูงตั้งแต่ 80-100 บาทต่อกิโลกรัมแบบนี้  มีหรือชาวสวนจะนั่งตบยุง  ต่างพากันตบเท้าปลูกทุเรียนมากขึ้นอย่างเด่นชัดในทั่วทุกภาคของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการโค่นสวนยางพารา หรือหาแหล่งเพาะปลูกใหม่ๆ ,มาปลุกทุเรียน ซึ่งทุเรียนจะให้ผลผลิตหลังจากปลูกไปแล้ว 3-5 ปี  ตอนนี้ไปพื้นที่ไหนก็มีการปลูกทุเรียน ไปภาคอีสานก็มีทุเรียนรับประทาน ไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ นนทบุรี ระยอง จันทบุรี เท่านั้น

-จีนคุมเบ็ดเสร็จทั้งระบบ

ทุกวันนี้ที่เห็นเปลี่ยนแปลงไปมากในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่นับวันพ่อค้าชาวจีนเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีการซื้อทุเรียนในราคาที่แพงขึ้นอย่างเด่นชัด รวมถึงการเข้ามาเป็นพ่อค้าคนกลางในการรับซื้อทุเรียน (ล้งทุเรียน) และจีนก็เป็นผู้บริโภคทุเรียนของไทยรายใหญ่อีกด้วย ไทยส่งออกไปจีนทุกวันนี้มีสัดส่วนมากกว่า50%

เปิดแผนจีน“กินรวบ” ทุเรียนไทย  หวั่นซ้ำรอยยางพารา!!!

เปิดแผนจีน“กินรวบ” ทุเรียนไทย  หวั่นซ้ำรอยยางพารา!!!

 “วันนี้ล้งทุเรียนในประเทศไทยกว่า 50% ก็เป็นของจีน พอผลผลิตล้น ก็ต้องขายเข้าล้งจีน โดยที่จีนมีอำนาจเหนือตลาด กำหนดราคาเองเบ็ดเสร็จ   จีนให้คนปลูกทุเรียน และจีนอยู่ในบทบาทคนคุมราคา คุมการขาย  มีคำถามว่าล้งผลไม้ควรเป็นอาชีพสงวนหรือไม่” นี่คือเสียงจากเกษตรกรรายหนึ่งที่เป็นทั้งเจ้าของสวนทุเรียนและเป็นผู้ค้าทุเรียน

-10 เดือนแรกส่งออกทุเรียนพุ่ง

 ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ช่วง 10 เดือนแรกปี 2562 ไทยส่งออกทุเรียนสดมูลค่า 43,645 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.42% เมื่อเทียบกับปีก่อนช่วงเดียวกัน ในจำนวนนี้ส่งออกไปจีน มีมูลค่าสูงสุดถึง 25,092.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.55%

 ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุเนื้อที่ปลูกทุเรียนทั่วประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปลูกทดแทนยางพาราที่ราคาตกตํ่าจากในปี 2560 มีเนื้อที่ปลูกทุเรียนให้ผลผลิตทั่วประเทศ 6.21 แสนไร่ให้ผลผลิต 6.49 แสนตัน ในปี 2562 คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.24 แสนไร่ และมีผลผลิตกว่า 9.77 แสนตัน

 หากมองในแง่นโยบายพืชเกษตรต้องโทษการทำงานของรัฐบาล เพราะไปสนับสนุนโดยไม่วิเคราะห์ให้ดีก่อน พอข้าวราคาถูกผลผลิตเยอะก็เปลี่ยนนาข้าวไปเป็นปลูกอ้อย พอราคายางดีก็เอานาข้าวไปปลูกยาง  วันนี้ที่อีสานบางพื้นที่ที่ปลูกยางพารา มีผลผลิตต่อไร่ไม่ดี บางพื้นที่ยืนต้นตาย  การปลูกยางชอบอากาศร้อนชื้น ไม่เหมาะกับภาคอีสาน ยกเว้นว่าพื้นที่นั้นติดแม่น้ำโขง ติดภูเขา มีความชื้น พอคนแห่ปลูกในหลายพื้นที่ก็ไม่เหมาะ รัฐสนับสนุนได้แต่ต้องวิเคราะห์ว่าพื้นที่ไหนควรปลูก และไม่ควรปลูก ถ้าแล้งจัดก็ยืนต้นตายหมด

  คงต้องตั้งคำถามทิ้งไว้ว่า อนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้า ราคาทุเรียนไทยจะเป็นอย่างไร ?  และการเข้ามาควบคุมระบบการซื้อขายทุเรียนของพ่อค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่จะเกิดอะไรขึ้นกับเกษตรกรคนไทย?  เมื่อราคาถูกจีนควบคุมเบ็ดเสร็จ!  เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ยังต้องรอคำตอบ

คาดการณ์ว่าทุเรียนไทยอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าจะซ้ำรอยยางพาราคือราคาหน้าสวนจาก 60-80 บาทต่อกิโลกรัม จะเหลือไม่เกิน 40 บาทต่อกิโลกรัม คนบริโภคซื้อทุเรียนราคาถูก แต่คนปลูกตาย ใครรับผิดชอบ.....ตอบทีนักการเมืองไทย!!!

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007

..................