สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (40)

15 ธ.ค. 2562 | 09:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3531 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 15-18 ธ.ค.62 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'

ประวัติศาสตร์การประมูล (40)

 

     ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของไทยที่มีความล่าช้าในการเซ็นสัญญายาวนานที่สุด

     กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่าคู่แข่งจึงชนะประมูล แต่กว่าจะมีการลงนามกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี

     สัญญาที่จะลงนามกันนั้นเป็นอย่างไร มาติดตามร่างสัญญากันในข้อ 21.5 ข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงก่อนและภายหลังการสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการฯ

     (1) เพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะของโครงการฯ คู่สัญญาตกลงให้เอกชนคู่สัญญาจัดหาทรัพย์สินทางปัญญาตามข้อ 21.1 ให้ครอบคลุมถึงภายหลังจากที่สิ้นสุดระยะเวลาของโครงการฯ โดยมีเงื่อนไขและรายละเอียดดังต่อไปนี้

     (ก) กรณีทรัพย์สินทางปัญญาใดที่เอกชนคู่สัญญาจัดหาตามข้อ 21.1 มีเอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ทรงสิทธิแต่เพียงผู้เดียว เอกชนคู่สัญญาตกลงให้ รฟท.หรือบุคคลที่ รฟท.กำหนด มีสิทธิใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้นเพื่อการดำเนินโครงการฯ ต่อจากเอกชนคู่สัญญาภายหลังจากที่ระยะเวลาของโครงการฯ สิ้นสุดลงเป็นระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่ง (1) ปีหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลงโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และในกรณีที่ รฟท.ร้องขอเพื่อให้ รฟท.หรือบุคคลที่ รฟท.กำหนด ได้รับสิทธิใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้นในการดำเนินโครงการฯ ต่อไปภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาหนึ่ง (1) ปีข้างต้น เอกชนคู่สัญญาตกลงที่จะเจรจากับ รฟท.หรือบุคคลที่ รฟท.กำหนด

     (ข) กรณีทรัพย์สินทางปัญญาใดที่เอกชนคู่สัญญาจัดหาตามข้อ 21.1 เอกชนคู่สัญญาไม่ได้เป็นผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้ รฟท.หรือบุคคลที่ รฟท.กำหนด มีสิทธิใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้นจากบุคคลที่เป็นผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้นโดยชอบด้วยกฎหมายไทย เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการฯ ต่อจากเอกชนคู่สัญญาภายหลังจากที่ระยะเวลาของโครงการฯ สิ้นสุดลงเป็นระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่ง (1) ปีหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลง โดยเอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น

     (2) ภายในระยะเวลาหกสิบ (60) วันก่อนวันที่สิ้นสุดระยะเวลาของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญาจะส่งมอบทรัพย์สินทางปัญญาที่เอกชนคู่สัญญาจัดหาตามข้อ 21.1 ให้แก่ รฟท.หรือบุคคลที่ รฟท.กำหนด รวมทั้งการจัดฝึกอบรมให้แก่พนักงาน หรือลูกจ้างของ รฟท.หรือบุคคลที่ รฟท.กำหนดเพื่อให้สามารถใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการดำเนินโครงการฯ ต่อไปได้

 

     (3) กรณีที่มีการเลิกสัญญาร่วมลงทุนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 30.2 ให้เอกชนคู่สัญญาส่งมอบทรัพย์สินทางปัญญาที่เอกชนคู่สัญญาจัดหาตามข้อ 21.1 ให้แก่ รฟท.หรือบุคคลที่ รฟท.กำหนด รวมทั้งการจัดฝึกอบรมให้แก่พนักงาน หรือลูกจ้างของ รฟท.หรือบุคคลที่ รฟท.กำหนด หรือให้สามารถใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการดำเนินโครงการฯ ต่อไปได้ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด แต่อย่างช้าไม่เกินสามสิบ (30) วัน นับจากวันที่มีการใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนโดยคู่สัญญาฝ่ายที่มีสิทธิใช้นั้น

     22. การถ่ายทอดเทคโนโลยี เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่จัดให้มีการถ่ายทอดความรู้และความชำนาญในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่ใช้ในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟให้แก่ รฟท.และบุคคลอื่นตามที่ รฟท.กำหนด โดยเอกชนคู่สัญญาเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวทั้งหมด ทั้งนี้ รายละเอียดของการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของ รฟท.ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟตามเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 4 (ข้อกำหนดของ รฟท.ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ)

     23. คำรับรองและคำรับประกัน 23.1 คำรับรองและคำรับประกันของเอกชนคู่สัญญา เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาร่วมลงทุน ตลอดระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุน เอกชนคู่สัญญาให้คำรับรองและคำรับประกันดังต่อไปนี้

     (1) สถานภาพ (ก) เอกชนคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ก่อตั้งและจดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายไทย มีสำนักงานจดทะเบียนอยู่ในประเทศไทย มีความสามารถในการทำนิติกรรมและประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคต เอกชนคู่สัญญามีอำนาจในการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ ของตน และได้รับอนุญาตต่างๆ ที่จำเป็นเกี่ยวกับการดำเนินการและกิจการของตนโดยชอบด้วยกฎหมายไทย และไม่มีคำสั่งหรือการยื่นฟ้องร้องเพื่อให้มีการชำระบัญชีหรือเลิกบริษัทแต่อย่างใด

     (ข) เอกชนคู่สัญญาไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการฯ ตามที่กำหนดไว้ในเอกสารการคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ หรือไม่มีสิทธิได้รับเลือกเป็นคู่สัญญาในโครงการฯ ตามกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง และเอกชนคู่สัญญามีความรู้ ความสามารถประสบการณ์และมีคุณสมบัติในการดำเนินโครงการฯ ตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมลงทุนทุกประการ

     (ค) เอกสารทางทะเบียนของเอกชนคู่สัญญา และเอกสารอื่นๆ ที่เอกชนคู่สัญญาได้ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์นั้นถูกต้องและเป็นปัจจุบันตาม ณ เวลานั้นๆ ตามที่มีการจดทะเบียน

     (2) อำนาจ การเข้าทำสัญญาหลักที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ และการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว เป็นสิ่งที่อยู่ในอำนาจที่เอกชนคู่สัญญาสามารถกระทำได้ และไม่เป็นการขัดกฎหมายไทย หรือขัดต่อวัตถุประสงค์และข้อกำหนดในข้อบังคับของเอกชนคู่สัญญา และก่อนลงนามในสัญญาดังกล่าว เอกชนคู่สัญญาได้ดำเนินการตามที่จำเป็น เพื่อให้ได้รับการอนุญาตในการเข้าทำและปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว

     (3) การอนุญาต เอกชนคู่สัญญาได้รับการอนุมัติ การอนุญาต และอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐ เจ้าหนี้และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จำเป็น หรือที่ตนมีหน้าที่หรือมีภาระผูกพันที่จะต้องขออนุญาต อนุมัติหรือคำยินยอมสำหรับการลงนาม และการปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ ของสัญญาร่วมลงทุน

 

     (4) สถานะทางการเงิน (ก) งบการเงินของเอกชนคู่สัญญาที่ส่งให้แก่ รฟท.แสดงให้เห็นถึงฐานะทางการเงินของเอกชนคู่สัญญาอย่างถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญ ณ เวลาที่จัดเตรียมขึ้น และจัดเตรียมขึ้นตามกฎหมายไทยหรือมาตรฐานการบัญชีที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในประเทศไทย (Thailand GenerallyAccepted Accounting Principles: Thailand GAAP) ในเวลานั้น

     (ข) เอกชนคู่สัญญา ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่อยู่ระหว่างเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ ประกาศพักชำระหนี้ ถูกพิทักษ์ทรัพย์ หรืออยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการล้มละลาย กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หรือกระบวนการที่คล้ายคลึงกัน

     (5) ความผูกพันของสัญญา ยกเว้นข้อจำกัดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สัญญาร่วมลงทุนรวมถึงเอกสารอื่นใดที่จะได้จัดทำขึ้นตามสัญญาดังกล่าว เมื่อได้มีการลงนามโดยเอกชนคู่สัญญาแล้ว เป็นข้อผูกพันเอกชนคู่สัญญา ตามกฎหมายไทยและสามารถที่จะใช้บังคับเอกชนคู่สัญญาได้ตามข้อกำหนดที่ได้ระบุไว้ ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

     (6) ความขัดแย้งกับหนี้อื่น การลงนามสัญญาร่วมลงทุน หรือการปฏิบัติตามข้อผูกพันใดๆ ตามสัญญาดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

     (ก) เป็นการฝ่าฝืน หรือขัดต่อข้อกำหนด เงื่อนไข คำรับรองและคำรับประกัน เอกสาร ตราสาร สัญญา ข้อตกลง กฎหมายไทย หรือระเบียบข้อบังคับใดที่ผูกพันเอกชนคู่สัญญา หรือ

     (ข) เป็นการฝ่าฝืนข้อจำกัดใดๆ ในเรื่องอำนาจอื่นใดของเอกชนคู่สัญญา

     (7) การฟ้องร้อง ตราบเท่าที่เอกชนคู่สัญญาทราบหรือควรจะทราบโดยสุจริต ณ วันที่มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุน ไม่มีกระบวนการฟ้องร้อง ดำเนินคดี กระบวนการทางกฎหมายไทยใดๆ หรือกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ หรือการพิจารณาของหน่วยงานทางปกครองซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาล หรือ หน่วยงานใดๆ ต่อเอกชนคู่สัญญา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสามารถทางการเงินของเอกชนคู่สัญญาในการปฏิบัติตามสัญญาหลักที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ

     รัดกุม รอบคอบ มีช่องโหว่ มั้ยครับ!

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (39)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (38)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (37)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (36)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (35)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (34)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (33)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (32)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (31)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (30)