ฟ้องขอให้ชำระ ค่าบริการ e-Auction อยู่ในอำนาจของศาลใด?

14 ธ.ค. 2562 | 08:00 น.

คอลัมน์ อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,531 วันที่ 15-18 ธันวาคม 2562

 

เมื่อพูดถึงการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Auction เราก็มักจะนึกถึงการดำเนินโครงการใหญ่ๆ ของรัฐที่มีมูลค่าสูงตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป ซึ่งส่วนราชการจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนต่างๆ ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ .. 2549 กำหนดไว้ เพื่อให้การจัดหาพัสดุเป็นไปโดยเปิดเผย โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ การประมูลด้วยวิธีการ e-Auction ดังกล่าว ผู้เข้าร่วมการประมูลจะสามารถเห็นความเคลื่อนไหวของราคาตลอดเวลาและสามารถเข้าร่วมประมูลได้จากทุกที่ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐไม่อาจจัดประมูลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เองได้ ระเบียบดังกล่าวจึงมีข้อกำหนดให้คัดเลือกผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์จากทะเบียนที่มีอยู่ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้จัดการประมูล และกำหนดให้มีการทำสัญญา 3 ฝ่าย โดยกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลจะต้องเป็นผู้ชำระค่าบริการ e-Auction

มีปัญหาน่าสนใจต่อมาว่า... หากผู้มีสิทธิเสนอราคาได้ทำสัญญาการซื้อและการจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์กับส่วนราชการที่จะจัดหาพัสดุ และผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (สัญญา 3 ฝ่าย) โดยมีข้อตกลงว่า

ผู้ชนะการประกวดราคาจะชำระค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูลแก่ผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ปรากฏว่าผู้มีสิทธิเสนอราคาซึ่งต่อมาเป็นผู้ชนะการประกวดราคาไม่ยอมชำระค่าบริการตามสัญญา ผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองหรือไม่? และสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาประเภทใด?

กรณีข้างต้นศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาที่ . 375/2562 อธิบายและให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจในประเด็นเกี่ยวกับการทำสัญญา 3 ฝ่าย รวมถึงขั้นตอนและวิธีการในการจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

โดยคดีนี้มีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างบ้านพักข้าราชการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ราคากลาง 3,184,000 บาท ซึ่งบริษัทรวมช่างได้เข้าร่วมประกวดราคาในครั้งนี้

ต่อมา บริษัทรวมช่างในฐานะผู้มีสิทธิเสนอราคาได้ตกลงเข้าทำหนังสือแสดงเงื่อนไขการซื้อและการจ้างโดยการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างสำนักงานคลังจังหวัดในฐานะผู้รับบริการ และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งข้อ 2.3 ของหนังสือดังกล่าวกำหนดว่า ผู้มีสิทธิเสนอราคาที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้รับบริการ (สำนักงานคลังจังหวัด) ให้เป็นผู้ชนะการเสนอราคาต้องชำระค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูลให้กับผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (ผู้ฟ้องคดี) เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท

ในการเปิดตลาดเสนอราคาผลปรากฏว่า บริษัทรวมช่างได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ผู้ฟ้องคดีจึงส่งใบแจ้งค่าใช้บริการ e-Auction แต่บริษัทรวมช่างเพิกเฉยไม่ชำระ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้อง เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้บริษัทรวมช่าง (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชำระเงินจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

 

ฟ้องขอให้ชำระ  ค่าบริการ e-Auction  อยู่ในอำนาจของศาลใด?


 

 

ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า สัญญาก่อสร้างบ้านพักข้าราชการมิใช่สัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ สัญญา 3 ฝ่ายที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทรวมช่าง สำนัก งานคลังจังหวัด และผู้ฟ้องคดี ถือเป็นสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างบ้านพักข้าราชการได้ผ่านขั้นตอนและวิธีการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ มาแล้ว กระทั่งล่วงพ้นมาถึงขั้นตอนที่ผู้ถูกฟ้องคดีเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาและผ่านการคัดเลือกเป็นผู้มีคุณสมบัติในการจ้าง

นอกจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดียังได้ตกลงทำสัญญา 3 ฝ่าย อันเป็นไปตามขั้นตอนที่ระเบียบข้างต้นกำหนดไว้ และผู้ฟ้องคดีได้แจ้งสรุปผลให้คณะกรรมการดำเนินการประมูลทราบว่าผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้เสนอราคาตํ่าสุดเพื่อให้สำนักงานคลังจังหวัดพิจารณาขั้นตอนการทำสัญญาจ้างต่อไป

อันแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนที่สำคัญหลักๆ คือ ขั้นตอนที่ 1 ส่วนที่เป็นการกระทำทางปกครอง ตั้งแต่การดำเนินการของสำนักงานคลังจังหวัดที่มีความประสงค์จะก่อสร้างบ้านพักข้าราชการที่มีราคากลางเกินกว่า 2,000,000 บาท จึงต้องดำเนิน การด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงกระบวนการจัดทำ TOR (Terms of Reference) การจัดหาผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ การคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติ การทำสัญญา 3 ฝ่าย และการประกาศผลการประมูล

ดังนั้น ไม่ว่าวัตถุประสงค์ในการทำสัญญาที่จะมีขึ้นต่อไป จะเป็นสัญญาทางแพ่งทั่วไปหรือสัญญาทางปกครอง ต่างล้วนต้องผ่านกระบวนการตามขั้นตอนที่ 1 นี้ก่อน และขั้นตอนที่ 2 คือ ส่วนที่เป็นการดำเนินการบริหารสัญญา ซึ่งย่อมเป็นไปตามสภาพและการใช้หลักกฎหมายตามลักษณะของสัญญาว่าจะเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง

 

เมื่อข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นในขั้นตอนที่ 1 หลังจากผู้ถูกฟ้องคดีได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้มีสิทธิเสนอราคา จึงได้ทำสัญญา 3 ฝ่าย โดยมีข้อสัญญาว่าจะปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และตกลงชำระค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูลแก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่สัญญาที่กระทำการแทนรัฐ สำนักงานคลังจังหวัดเป็นหน่วยงานทางปกครองซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง กับผู้ถูกฟ้องคดีเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีผู้ฟ้องคดีเป็นหน่วยงานให้บริการเป็นตลาดกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้เสนอราคาทุกรายได้แข่งขันกันเสนอราคาอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม อันถือว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะ

สัญญา 3 ฝ่ายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง .. 2542 โดยรัฐมีอำนาจเหนือกว่าเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อประโยชน์แก่ราชการเป็นสำคัญ จึงเป็นข้อพิพาทที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามนัยมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูลให้แก่ผู้ฟ้องคดี พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

คำพิพากษาในคดีดังกล่าว ศาลได้พิจารณาเกี่ยวกับลักษณะของสัญญา 3 ฝ่าย ตามหนังสือแสดงเงื่อนไขการซื้อและการจ้างโดยวิธีการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีตามที่พิพาท โดยถือว่าผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์เป็นคู่สัญญาที่กระทำการแทนรัฐในการจัดประมูลซึ่งเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ อันมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองที่อยู่ในส่วนขั้นตอนก่อนทำสัญญาจ้างก่อสร้าง เมื่อผู้ชนะการประกวดราคาไม่ชำระค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูลแก่ผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ คู่สัญญาจึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้