วิกฤติซ้ำวิกฤติซ้อน การศึกษาที่ต้องเร่งปฏิรูป

06 ธ.ค. 2562 | 11:00 น.

คอลัมน์อยู่บนภู่ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3529 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 8-11 ธ.ค.62 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

 

วิกฤติซ้ำวิกฤติซ้อน

การศึกษาที่ต้องเร่งปฏิรูป

 

     องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี)เผยแพร่การจัดอันดับประเทศที่นักเรียนมีประสิทธิภาพด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ ตามโครงการประเมินนักศึกษาต่างชาติประจำปี 2561 (Programme for International Student Assessment - PISA)เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2562 ที่ผ่านมา

     โออีซีดีประเมินนักเรียนในช่วงอายุ 15 ปี จากประเทศที่เข้าร่วมประเมิน 79 ประเทศ พบว่าไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 66 ได้รับคะแนนประสิทธิภาพด้านการอ่าน 393 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 487 ส่วนประสิทธิภาพด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้คะแนน 419 และ 426 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 489

     ประเทศที่ได้การจัดอยู่ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สิงคโปร์ มาเก๊า ฮ่องกง และเอสโตเนีย ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ ที่เข้าร่วมการประเมิน มาเลเซีย (อันดับที่ 56) บรูไน (อันดับที่ 59) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 72) และฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 77)

     ตกเกณฑ์ ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะคะแนนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เป็นหัวใจสำคัญพื้นฐาน ซึ่งแสดงสัญญาณมานาน

     เข้าขั้นวิกฤติระบบการศึกษาของไทย ที่พัฒนาในรูปแบบเดิมๆมานาน ถ้าปล่อยกันไปแบบตามยถากรรมไปเรื่อยๆ ประเทศล่มสลายแน่นอน

 

     ความรับผิดชอบในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนาในส่วนนี้ ยกระดับการศึกษาไทยขึ้นมา ควรเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยไม่ทิ้งและฝากความหวังไว้กับภาครัฐตามลำพัง

     จริงอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการที่รับผิดชอบเป็นด้านหลัก ต้องถึงคราวปฏิรูป จึงจะมีส่วนสำคัญในการการแก้โจทย์การศึกษาที่ล้มเหลวของไทยได้

     ต้องยอมรับว่าต้นธารการศึกษาไทย ในการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการแบบเดิม ที่ยังมีระบบสายการบังคับบัญชาที่ยาวที่สุดทำให้ปัญหาหมักหมม

     “สายการบังคับบัญชาสูงและยาวที่สุด ทำให้ ผู้น้อย คนรุ่นใหม่ ไม่กล้าเสนอไอเดีย ทำให้มีความรู้สึกว่าทำตัวเด่นจะเป็นภัย ผู้บังคับบัญชามักยึดติดกับการเป็นเจ้าขุน มูลนายหลงเงาอดีต ไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง”

     ฉนั้นหลักสูตรจึงไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เข้าใจโลกในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการ การเท่าทัน การเปลี่ยนแปลง ความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ใหม่ๆและสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะนี้

     “ ผลตอบแทน ทั้งตัวเงินและผลตอบแทนรูปแบบอื่นๆ เช่น สวัสดิการ ไม่จูงใจให้สามารถดึงดูดคนเก่งมาทำงานด้านการศึกษา”

     ต้องไม่ลืมว่าในห้วงเวลานี้ สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มขั้น (aged society )เด็ก คือ ทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ที่ต้องเตรียมความพร้อมอย่างดีที่สุด

     “ทุกวันนี้เด็กส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึง โรงเรียนและครูที่มีคุณภาพสูงได้”

 

     จากกระทรวงศึกษาธิการ ไปสู่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมก็ควรเป็นอีกหนึ่งกระทรวงที่ต้องเร่งมือปรับปรุง สร้างรากฐาน พัฒนาบุคลากรให้กับประเทศ

     ต้องหันมาสนใจคะแนน PISA ของเด็กไทยที่ตกต่ำลง

     รวมทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็ควรต้องสนใจคะแนน PISAของเด็กไทยที่ตกต่ำลงและต้องช่วยหาทางแก้ไขโดยเร่งด่วน

     ลองหาทางให้เทคโนโลยีดิจิทัล เข้าไปสร้าง เข้าไปพัฒนาคนตั้งแต่ต้นมือ และควรจะเป็นภารกิจที่ต้องให้ความสำคัญลำดับต้นๆ มากไปกว่าการจัดการเฟคนิวส์ที่เป็นรูทีนอยู่แล้ว

     นอกจากการทำงานของ 3 กระทรวงในการกู้วิกฤติการศึกษาไทยแล้ว ภาคเอกชนก็จำเป็นต้องลงแรงแข็งขันในการเข้าช่วยเหลือฟื้นฟูวางรากฐานในส่วนนี้ เพื่อสร้างคุณภาพคนให้กับระบบผลิตและสังคมในระยะปานกลางและระยะยาว

     ท้ายสุดนักการเมืองต้องหันมาให้ความสำคัญและสนใจกับปัญหาการศึกษาไทย มากไปกว่าการตั้งกระทู้ถามในสภาฯหรือต่อว่าเชือดเฉือนข้าราชการในการตัดงบประมาณ โดยไม่สร้างสรรค์ ในคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณประจำปี

     หรือการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ ทำให้ได้นักการเมืองด้อยคุณภาพ ระบบคิดที่ไร้คุณภาพ ทำให้เป็นปัญหาย้อนทวน

     ต้องช่วยกันทำลายวงจรเลวร้ายนี้ให้พ้นระบบการศึกษาไท