‘ซีพี’ กับการพิจารณาคดี ในศาลปกครอง

08 ธ.ค. 2562 | 04:00 น.

 

คอลัมน์ รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,529 วันที่ 8-11 ธันวาคม 2562

 

ในช่วงที่ผ่านมาข่าวเกี่ยวกับเรื่องการที่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัยว่า การที่คณะกรรมการฯ มีมติไม่รับการยื่นประมูลของกลุ่มบริษัทซีพีฯ เนื่องจากเป็นการยื่นเอกสารเกินกำหนดระยะเวลาตามที่ได้ระบุไว้ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบแล้วนั้น

หลายฝ่ายได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า นี่จะเป็นการเปลี่ยนบรรทัดฐานในการพิจารณาความชอบด้วยคำสั่งทางปกครอง ที่ถือเรื่องกรอบระยะเวลาเป็นสำคัญ ตามที่เคยมีแนววินิจฉัยแบบนี้ มาโดยตลอดหรือไม่

ประเด็นแรก คงต้อง เข้าใจก่อนว่าการที่ศาลปกครองกลางได้มีคำวินิจฉัยว่ามติของคณะกรรมการฯ ที่ไม่รับการยื่นเอกสารของบริษัทของกลุ่มซีพีนั้น เป็นเพียงคำวินิจฉัยชั้นต้นในกระบวนการพิจารณาคดีทางปกครองเท่านั้น และการพิจารณาเรื่องนี้จะถึงที่สุดต่อเมื่อศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นของคดีนี้

แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศาลปกครองสูงสุดเพียงแต่มีคำสั่งทุเลาการบังคับมติของคณะกรรมการฯ ที่ไม่ให้รับการยื่นเอกสารในการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเท่านั้น หาได้มีคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ยืนยันว่า มติของคณะ กรรมการฯ นั้นเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบหรือไม่ชอบแต่อย่างใดไม่

 ดังนั้นส่วนนี้ จะพิจารณาว่าการที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ จะถือเป็นการกลับหลักเรื่องการยึดระยะเวลาในการยื่นเอกสารในการประมูลว่า ไม่เป็นสาระสำคัญนั้นคงไม่ได้

นอกจากนี้ต่อให้ต่อมาศาลปกครองสูงสุดจะได้มีคำวินิจฉัยว่ามติของคณะกรรมการฯ นั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ แม้จะมีการยื่นเกินกรอบกำหนดระยะเวลา ก็ต้องพิจารณาเหตุผลที่ศาลใช้ประกอบในการทำคำวินิจฉัยเสียก่อน เพราะหากจะพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นไว้ว่า ในกรณีนี้ยังมีข้อเท็จจริงจากคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายที่แตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งข้อเท็จจริงต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเหตุผลที่ทำให้มีการยื่นเอกสารเกินกำหนดนั้น จะมีผลโดยตรงต่อการเขียนคำวินิจฉัยของตุลาการศาลปกครองสูงสุดอยู่มาก

 

‘ซีพี’ กับการพิจารณาคดี  ในศาลปกครอง


 

 

ในทางปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมปกติ หรือของศาลปกครอง หากจะมีการกลับแนวคำพิพากษาที่เคยกำหนดไว้เป็นบรรทัดฐาน ทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองต่างก็มีกระบวนการจัดการเพื่อให้มีคำพิพากษาฎีกา หรือคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่ถูกต้องและละเอียดรอบคอบ โดยให้มีการพิจารณากันในรูปของคณะกรรมการฯ หรือที่เรียกกันว่าประชุมใหญ่

ในกรณีของศาลปกครองการมีประเด็นใดที่ประสงค์จะปรับหรือเปลี่ยนแนวทางในการวินิจฉัยคดีนั้นๆ ใหม่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ..2542 มาตรา 68 ก็เปิดโอกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด สามารถเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาได้ โดยในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง .. 2543 ในข้อ 29 (3) ได้กำหนดให้คดีที่อาจมีผลเป็นการกลับหรือแก้ไขแนวคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น จะเสนอให้มีการวินิจฉัยปัญหาหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นก็ได้

จากกฎหมายและระเบียบของศาลปกครองดังที่ได้กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายความว่าการที่ศาลปกครองสูงสุดที่จะเห็นต่างจากศาลปกครองชั้นต้น ต้องพิจารณากันในรูปการประชุมใหญ่เท่านั้น เช่นเดียวกันกับศาลยุติธรรมปกติ คือหากศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลล่าง เช่นไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณี ศาลที่สูงกว่าก็มีอำนาจออกคำพิพากษา กลับหรือแก้คำพิพากษาของศาลล่างได้เลย

เว้นแต่แนวทางในการตัดสินในเรื่องนั้นๆ ศาลฎีกาได้เคยมีแนวทางไว้ลักษณะหนึ่ง แต่ต่อมาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางในการตัดสินอันเนื่องมาจากเหตุผลหนึ่งเหตุผลใด ก็จะมีการนำเรื่องดังกล่าวเสนอให้กับที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา

 

กรณีนี้หากเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นกับกลุ่มบริษัทซีพีฯ เกี่ยวกับการประมูลที่สนามบินอู่ตะเภา โดยหากศาลปกครองสูงสุดต้องการจะมีคำวินิจฉัยแตกต่างไปจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น แต่ไม่ได้มีการกลับหรือเปลี่ยนแนวคำวินิจฉัย ศาลปกครองสูงสุดก็สามารถทำ ได้เลย โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณากรณีดังกล่าวในรูปแบบประชุมใหญ่แต่อย่างใด

แต่หากเรื่องนี้ศาลปกครองจะกลับแนวว่าเรื่องระยะเวลาการยื่นเอกสารไม่ถือเป็นสาระสำคัญดั่งเช่นคดีที่ผ่านๆ มา ก็คงต้องออกมาในรูปการประชุมใหญ่ของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะออกมาในรูปของการเปลี่ยนแนวในการวินิจฉัยจนต้องทำให้มีการประชุมใหญ่เพื่อกลับบรรทัดฐานในเรื่องนี้แต่อย่างใด

เพราะหัวใจสำคัญของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ข้อเท็จจริง ที่สุดท้ายแล้วศาลจะหยิบยกข้อเท็จจริงใดข้อเท็จจริงหนึ่งขึ้นมาเป็นเหตุผลในการเขียนคำวินิจฉัย

ดังนั้น เราก็คงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดกันต่อไป ว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนั้น สุดท้ายแล้วจะตกไปอยู่ในอุ้งมือของกลุ่มทุนกลุ่มใด