เมื่อเมียนมาปลุกเศรษฐกิจ ไทยต้องรีบชิงโอกาส!

07 ธ.ค. 2562 | 03:00 น.

 

ปี 2562 เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลเมียนมาออกมาเร่งเครื่องหลายด้านทั้งโครงการลงทุนต่างๆ การแก้กฏหมายอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลายฝ่ายต่างตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะภายในปี2563 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในเมียนมา ทำให้รัฐบาลออกมาหาเสียงเอาใจประชาชนอย่างคึกคัก   และเมื่อสำรวจเสียงจากนักธุรกิจไทยที่ครํ่าหวอดอยู่ในวงการธุรกิจ ในประเทศเมียนมามานาน อย่าง กริช  อึ้งวิฑูรสถิตย์  ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ก็ออกมาฉายภาพให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเมียนมาในขณะนี้อย่างน่าสนใจ

 

ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา มองว่าปี 2562 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตประมาณ 7ถือว่ายังเติบโตได้ตามเป้า ซึ่งที่ผ่านมาจะเติบโตตั้งแต่ 6-10แล้วแต่สถานการณ์แต่ละปี และมองว่าขณะนี้การค้าขายในเมียนมาเริ่มมีทิศทางดีขึ้น สอดคล้องกับที่เป็นปีที่เมียนมาเปลี่ยนแปลงกฎหมายมากที่สุด ไล่ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายการถือครองอสังหาฯ-คอนโดมิเนียมของคนต่างชาติในเมียนมา , การเปลี่ยนแปลงกฎหมายการลงทุนในเมียนมา

 

อีกทั้งภายในเดือนธันวาคมนี้เมียนมาจะเปลี่ยนธนบัตร จากธนบัตรชุดเดิมมาเป็นธนบัตรที่มีรูปของนายพลอองซาน(บิดาของนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา)โดยเหตุผลที่เปลี่ยนเพราะต้องการให้เงินใต้ดินที่มีมากกว่าจีดีพีของประเทศเมียนมาเข้าสู่ระบบก็จะทำให้กระแสเงินสะพัดมากยิ่งขึ้น และการจับจ่ายในเมียนมาก็จะมากขึ้นด้วย

 

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 มีการเปลี่ยนกฎระเบียบภาษีการซื้อขายทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์ด้วย เช่น รถยนต์และอสังหาริมทรัพย์แบบภาษีก้าวหน้า เดิมถ้าซื้ออสังหาริมทรัพย์จะต้องมีเงินที่สามารถดีแคร์ได้ ก็จะเสียภาษีถูกลง และเสียค่าแสตมป์ 4แต่ถ้าใช้เงินที่ไม่มีที่มาที่ไปจะต้องเสียภาษี 30%  บวกอีก 4% ค่าแสตมป์ ก็มาจัดระเบียบภาษีก้าวหน้าขึ้นมาใช้โดยวันที่ 1 ตุลาคม 2562ได้เปลี่ยนมาเป็นอัตราก้าวหน้าคือตั้งแต่ 1-100 ล้านจ๊าต (100 ล้านจ๊าตเท่ากับ 2 ล้านบาท)จะเสียภาษี 3%  ตั้งแต่ 101-300 ล้านจ๊าต เสียภาษี 5%  ตั้งแต่ 301-1,000 ล้านจ๊าต จะเสียภาษี 10 ตั้งแต่ 1001-3,000 ล้านจ๊าต จะเสียภาษี 15%  และตั้งแต่ 3,001 ล้านจ๊าตขึ้นไปจะเสียภาษี 30%

 

“ยกตัวอย่างจะซื้อที่ดิน 1,000 ล้านจ๊าต  เท่ากับ 30 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้ารวมแล้วไม่ถึง 8% ถือว่าดีต่อตลาดในเมียนมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและปลุกการค้าขายในเมียนมาได้ดีขึ้นมาก นับตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา”

 

-จับตาโครงการน่าสนใจ

 

นอกจากนี้รัฐบาลเมียนมายังได้กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการประกาศลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ 80 โครงการ เฉพาะที่ลงทุนในย่างกุ้ง ที่จะเกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมือง ที่น่าจับตาคือจะเป็นโครงการที่รัฐบาลเมียนมาเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนโดยการสัมปทาน

เมื่อเมียนมาปลุกเศรษฐกิจ ไทยต้องรีบชิงโอกาส!

ใน 80 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้จะมีโครงการที่น่าจับตา เช่น  การสร้างถนนวงแหวนรอบนอก 3 วง ที่รวมถึงการสร้างรถไฟรอบเมือง ที่จะมีสถานีรถไฟเกิดขึ้นใหม่ 38 สถานี ที่วิ่งรอบเมืองย่างกุ้งเป็นครั้งแรก  และจะมีวงแหวนรอบนอกอีก 2 วง ที่เป็นวงแหวนขนาดใหญ่สร้างเป็นถนน 2 ชั้น บางช่วงจะมีถนนถึง 16เลน 

 

รวมถึงมีการสร้างเมืองใหม่ย่างกุ้งที่เขต DASLA ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดเทพทันใจในเมืองย่างกุ้ง จะพัฒนาเป็นเมืองใหม่บนเนื้อที่กว่า 50,000 ไร่ ที่เมียนมาจะสร้างเป็นเมืองใหม่คล้ายเมืองฝู่ตง ที่เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเมืองใหม่นี้จะประกอบด้วยหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมถึงเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจ มีที่ทำการนครย่างกุ้ง 

 

“จะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำย่างกุ้งความยาว 2.94 กิโลเมตร ที่ขณะนี้เริ่มลงมือก่อสร้างแล้ว โดยให้สัมปทานแก่บริษัทเกาหลีและจีน”

 

นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเก่าที่มีอยู่เดิม 19 แห่งทั่วย่างกุ้งให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา จะเกิดการสร้างงานในอนาคต ซึ่งขณะนี้ยังมีแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมากในเมียนมาและมีค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกกว่าประเทศอื่นในตลาด CLMVT โดยมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 90 บาทต่อวันต่อคน

 

-เมียนมาเติบโตเกิดผลดีต่อไทย

 

สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาครั้งนี้ ไทยควรเข้าไปจับโอกาสสร้างฐานการค้าการลงทุนในเมียนมา   และคาดว่าอีกไม่เกิน 5 ปีนับจากนี้ไปเศรษฐกิจของเมียนมาจะเติบโตต่อปีเป็นตัวเลข 2 หลักอีกครั้ง หลังจากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเมียนมาเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียว  และมองว่าจังหวะนี้ไทยน่าจะได้เปรียบที่สุดในการเข้าไปทำการค้าการลงทุน โดยมีความได้เปรียบ 6 ด้าน ดังนี้ 1.ประเทศไทยมีพื้นที่ติดชายแดนเมียนมา โดยตลอดแนวตะเข็บชายแดนมีความยาวกว่า 1,800 กิโลเมตร 2. ไทยและเมียนมามีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันมาก 3.เมียนมามีการเรียนรู้ภาษาไทยค่อนข้างดี 4. สินค้าไทยเป็นที่นิยมของชาวเมียนมา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภคทั้งหมด 5.อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งหมดในไทยเริ่มขาดแคลน หากมีการเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากก็ควรออกไปลงทุนในเมียนมา 6.โอกาสของอุตสาหกรรมอสังหาฯทั้งต้นน้ำ-ปลายน้ำของไทยมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากค่าแรง ค่าวิศวกรของไทยยังมีค่าจ้างต่ำกว่าจีน สิงคโปร์ ดังนั้นโอกาสที่จะจ้างไทยทำงานด้านอสังหายังมีสูง  ไทยควรรีบฉวยโอกาสนี้เข้าไปทำการค้าการลงทุนเชิงรุกมากขึ้น

คอลัมน์      พื้นที่นี้....Exclusive

โดย:งามตา สืบเชื้อวงค์