หัวจง หัวเว่ย

04 ธ.ค. 2562 | 04:30 น.

 


บทความเศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,528 วันที่ 5-7 ธันวาคม 2562

ขณะนี้ผมอยู่ที่ประเทศจีนครับ เดินทางมาบรรยายสาธารณะ หัวข้อ “ประชาคมอาเซียนท่ามกลางสงครามการค้า” และบรรยายพิเศษให้กับนักศึกษานานาชาติ หัวข้อ “ประชาคมอาเซียน” ณ จุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ณ ASEAN Research Center มหาวิทยาลัย Huazhong University of Science and Technology (HUST) นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย

เมื่อเอ่ยถึงนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย หลายๆ ท่านอาจจะนึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหน ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านลองหลับตานึกภาพแผนที่ประเทศจีนนะครับ ทีนี้ลองพับครึ่งแผนที่ประเทศจีน แล้วกางออก ประเทศจีนจะแบ่งเป็นด้านซ้ายทิศตะวันตก กับด้านขวาทิศตะวันออก โดยทางซ้ายนี่จริงๆ คือดินแดนที่ไม่ใช่ของชาวฮั่นที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่จะเป็นดินแดนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งกินพื้นที่ประมาณ 1 ใน 6 ของแผนที่จีน อยู่ทางซ้ายบน และเขตปกครองตนเองทิเบตทางซ้ายล่าง

ส่วนทางขวาของแผนที่ ที่เป็นดินแดนของชาวฮั่น จะมีแม่น้ำ 3 สาย บนสุดคือแม่น้ำฮวงโห (หวางเหอ หรือ แม่น้ำเหลือง ตรงกลางจะเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง (ฉางเจียง) และข้างล่างจะเป็นแม่น้ำจูเจียง (Pearl River) ที่ตรงกลางของแม่น้ำแยงซีจะมีทะเลสาบใหญ่ ด้านบนของทะเลสาบคือ มณฑลหูเป่ย (หู = ทะเลสาบ, เป่ย = ทิศเหนือ) และตรงกลางของหูเป่ยคือ นครอู่ฮั่น ซึ่งอยู่ตรงกลางของแผนที่ และอยู่ตรงกลางของแม่น้ำที่ยาวที่สุดและอยู่ตรงกลางของประเทศจีนพอดี

นั่นจึงทำให้อู่ฮั่นเป็นจุดศูนย์กลางการคมนาคมของจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณทั้งการคมนาคมทางบก และระบบแม่น้ำและคลองขุดต่างๆ ของจีนที่ขุดเชื่อมโยงไปทั่วประเทศ และปัจจุบันก็กลายเป็นจุดศูนย์กลางของทั้งระบบถนนทางหลวงที่เชื่อมโยงทุกมณฑลของจีน รวมทั้งเป็นจุดศูนย์กลางของระบบรถไฟความเร็วสูงของจีนอีกด้วย จนบางครั้งหลายๆ คนก็นิยมเปรียบเทียบว่า อู่ฮั่น คือ ชิคาโกของประเทศจีน เพราะมีความเป็นจุดศูนย์กลางทางการขนส่งเหมือนกับนครชิคาโก ของสหรัฐอเมริกา ใกล้ๆ กับอู่ฮั่น ก็คือ เขื่อนสามโตรก (Three Gorges Dam) เขื่อนที่ให้กำเนิดไฟฟ้าที่กำลังการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดในโลกที่กั้นขวางแม่น้ำแยงซี

และปัจจุบันนครอู่ฮั่นยังเป็นที่ตั้งของ Optics Valley หรือจุดศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคที่ทันสมัยที่สุดของประเทศจีน ลองนึกภาพเปรียบเทียบกับ Silicon Valley ของสหรัฐฯ และเมื่อ Silicon Valley เกิดขึ้นได้เพราะส่วนหนึ่งมาจากการมีทรัพยากรบุคคลคุณภาพสูงที่พัฒนาโดย มหาวิทยาลัย Stanford ในประเทศจีน Optics Valley ก็มีมหาวิทยาลัยหัวจง (Huazhong University of Science and Technology: HUST) เป็นกำลังหลักในการผลิตคนเช่นกัน


มหาวิทยาลัยหัวจงก่อตั้งในปี 1953 และได้รับการวางตำแหน่งให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ตามโครงการ 985 (คำสั่งประธานาธิบดี ในเดือนพฤษภาคม ปี 1985) ที่ต้องการสร้างมหาวิทยาลัยจีนให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยปัจจุบันหัวจงถือเป็น 1 ใน 5 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศจีน มหาวิทยาลัยหัวจงมีพื้นที่ราว 2,900 ไร่ และมีห้องทดลองที่ทันสมัยที่สุดอยู่ใน Optical Valley มีอาจารย์มากกว่า 5,500 ท่าน และมีนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก รวมกันมากกว่า 52,000 คน โดยเกือบทั้งหมดพักอาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยตามแนวคิด Residential University ดังนั้น มหาวิทยาลัยแห่งนี้คือเมืองขนาดย่อมๆ เมืองหนึ่ง โดยหัวจงมีนักศึกษานานาชาติ รวมทั้งนักศึกษาไทยจำนวนมากที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลจีนให้มาเรียนหนังสือที่นี่

นอกเหนือจากการวิจัยและบทความวิชาการระดับนานาชาติแล้ว ความโด่งดังของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยนี้คือ Meng Wanzhou ลูกสาวของ Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ Smart Phone รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ในนาม Huawei โดย Meng Wanzhou ทำหน้าที่เป็น CFO ของ Huawei และปัจจุบันห้องปฏิบัติการที่ใหญ่ที่สุดของหัวเว่ยเองก็ตั้งอยู่ทั้งที่ Optic Valley นครอู่ฮั่น และอีกที่หนึ่งคือที่นครเสินเจิ้น

และหากไปดูรายชื่อของผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปจนถึงตัว CFO ของหัวเว่ย เราจะพบว่า 1 ใน 3 ของผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนแห่งนี้ล้วนจบการศึกษาจากหัวจงด้วยกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับ 1 ใน 4 ของผู้บริหารของบริษัท TenCent อีกหนึ่งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้เช่นกัน ดังนั้นในโลกยุค 4.0 ที่มีจีนเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยี หัวจง จึงเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เราต้องจับตา

หัวจง หัวเว่ย


ในมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เขียวครึ้มแห่งนี้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ทุกๆ กลางวันนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่กว่า 70,000 คน จะต้องรับประทานอาหารในห้วงเวลาเดียวกัน นั่นทำให้โรงอาหารขนาดใหญ่ทั้ง 34 แห่ง (ไม่นับร้านเล็กๆ อีกจำนวนมาก) ของมหาวิทยาลัยแน่นขนัด ทำอย่างไรจึงจะสามารถให้บริการได้เร็วที่สุด


สิ่งที่ถือเป็นนวัตกรรมของโรงอาหารคือ การวางไลน์ของการเข้าคิวที่ทำให้ทุกคนสามารถเดินผ่านหน้าร้านอาหารได้ทุกร้าน โดยแต่ละคนจะถือถาดและเลื่อนถาดไปเรื่อยตามราง และหยิบอาหารจากแต่ละร้านที่ตนเองอยากรับประทานวางลงในถาด ราคาอาหารเริ่มต้นจานละ 2 หยวน หรือในราว 9 บาท โดยแต่ละร้านจะทำอาหารลงในจาน ชาม และแก้วที่ติดชิปคอมพิวเตอร์ (NFC/RFID) โดยภาชนะแต่ละสีก็จะมีชิปคอมพิวเตอร์ที่โปรแกรมราคาอาหารที่ต่างกันไว้ เมื่อเดินถึงปลายแถว นิสิตก็เพียงวางถาดอาหารที่มีอาหารและเครื่องดื่มวางอยู่ ลงบน Smart Table โต๊ะอัจฉริยะที่มีหน้าจอแสดงผลได้ทันทีว่าค่าอาหารทั้งหมดของถาดที่วางเท่ากับเท่าไหร่

พร้อมกันนั้นนิสิตก็วางบัตรนิสิตลงที่โต๊ะแห่งนี้ด้วย โรงอาหารก็สามารถที่จะหักเงินออกจากบัญชีเงินฝากของนิสิตที่ผูกไว้กับบัตรนิสิตได้เลยทันที นิสิตก็เพียงแต่หยิบบัตรเก็บ พร้อมยกถาดอาหารไปหาที่นั่งรับประทานอาหารได้ต่อทันที แน่นอนบัตรนิสิตยังเป็นทั้งบัตรเดบิต/เครดิต บัตรขึ้นรถโดยสารในมหาวิทยาลัย บัตรห้องสมุด บัตรประกันสุขภาพ บัตรเข้าอาคาร บัตรเข้าที่จอดรถ บัตรเข้าพิพิธภัณฑ์ บัตรเข้าคอนเสิร์ตฮอลล์ บัตรเข้าศูนย์กีฬาและยืมอุปกรณ์กีฬา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในบัตรใบเดียว นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของการนำนวัตกรรมมาใช้งานจริงๆ ในมหาวิทยาลัยครับ

จงจำไว้ว่า นวัตกรรม ไม่ได้หมายถึงอาคารเรียนที่ทันสมัย หรือห้องแล็บที่มีอุปกรณ์ราคาแพง แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หากแต่นวัตกรรมหมายถึงการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว หรือคิดขึ้นมาใหม่ ที่มีราคาไม่แพง มีต้นทุนไม่สูง มาประยุกต์ให้ใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นต่างหาก

หัวจง หัวเว่ย