ฟันธง!!! 4 เหตุผลกระทบราคาน้ำตาลโลก

26 พ.ย. 2562 | 04:15 น.

 

 

เปิดมุมมอง อภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์  ผู้จัดการทั่วไป บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม2562 จากประสบการณ์ที่อยู่ในวงการสินค้าโภคภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทองคำ เหล็ก น้ำตาล  หลังมารับไม้ต่อผู้บริหารอนท.คนใหม่พร้อมเปิดมุมมองอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นครั้งแรกในบทบาทใหม่ โดยเฉพาะการเข้ามานั่งบริหารในยุคที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกขาลง และราคาอ้อยตกต่ำ

 

-แนวโน้มราคาน้ำตาลปี2562/2563

ผู้จัดการทั่วไปบริษัท อนท.มองราคาน้ำตาลทรายดิบปี2562/2563 ว่า หากมองในแง่ราคาของตลาดโลกดีขึ้นแต่ยังไม่มาก   ราคามีแนวโน้มดีขึ้นมาเล็กน้อยเนื่องจากการผลิตน้ำตาลทั่วโลกมีน้อยกว่าการบริโภคน้ำตาลของโลกจากเดิมปี 2560/2561 และปี2561/2562  จะพบว่า 2 ปีรวมกันมีการผลิตมากกว่าการบริโภคถึง 13 ล้านตัน โดยปี2561/2562 ทั่วโลกบริโภคน้ำตาลจำนวน 180 ล้านตันและมีการผลิตในโลกรวมกันประมาณ 185-187  พอปริมาณผลิตล้นโลก จึงทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกลดลง

“ถ้ามองย้อนกลับไป 10 ปีย้อนหลัง จะพบว่าการบริโภคน้ำตาลจะเติบโตเฉลี่ยทุกปี 1% โดยเติบโตตามประชากรโลก บางประเทศบริโภคน้ำตาลน้อยลง เนื่องจากประชากรรักษาสุขภาพมากขึ้น  คนไทยบริโภคน้ำตาลต่อปีต่อคนประมาณ 37 กิโลต่อคนต่อปี  ถือว่าสูงเพราะเป็นการบริโภคต่อคนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยการบริโภคน้ำตาลของโลกที่มีประมาณ 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปี”

-ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำตาล

สำหรับปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำตาล หากมองเป็นภาพรวมจะพบว่ามี 4 ส่วนหลักที่สำคัญคือ 1. การบริโภคมีน้อยกว่าการผลิต  เมื่อมีสินค้ามากล้นตลาดราคาจะถูกลง ซึ่งมองกันว่าฤดูการผลิตปี 2562/2563 นี้ เกษตรกรจะเผชิญปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตต่อไร่ทั่วโลกลดลง เมื่อการผลิตน้อยลง แต่ยังมีการบริโภคก็จะทำให้ราคาน้ำตาลขยับตัวสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา   2.ในโลกมีกองทุนเก็งกำไรราคาน้ำตาลล่วงหน้า  ถ้ามีการถือเป็นขาซื้อจำนวนมากและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแสดงว่าแนวโน้มราคาน้ำตาลจะดี

“ดังนั้นปีหน้าราคาจะดีขึ้น  แต่ยังไม่ขยับมาก เนื่องจากยังมีสต็อกน้ำตาลโลกค้างอยู่ราว 80 ล้านตันที่ยังไม่ได้ขาย โดยอยู่ที่อินเดียจำนวน 14-15 ล้านตัน และอยู่ที่จีนราว 5 ล้านตัน ที่เหลือกระจายไปที่อื่นๆ”

อย่างไรก็ตามคาดว่าปี 2562/2563 ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์กเฉลี่ยอยู่ที่ 13.5 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากปัจจุบัน(ณ 19 พ.ย.62) ราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ 12.69 เซ็นต์ต่อปอนด์ เป็นสัญญาส่งมอบเดือนมีนาคม 2563 จะเห็นว่าราคาขยับขึ้นมาจากก่อนหน้านี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 11 เซ็นต์ต่อปอนด์

3.รัฐบาลอินเดียอุดหนุนผู้ส่งออกน้ำตาลที่ 145 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน  จึงเป็นแรงจูงใจให้อินเดียส่งออกโดยไม่ขาดทุนที่ระดับราคาประมาณ 13.5 เซ็นต์ต่อปอนด์  โดยปี 2561/2562 อินเดียสนับสนุนส่งออกที่ 5 ล้านตัน และปี 2562/2563  สนับสนุนการส่งออกอีก 6 ล้านตัน  โดยปี 2561/2562 อินเดียผลิตน้ำตาลได้ 33 ล้านตัน คาดว่าปี 2562/2563 จะลดลงเหลือ 27 ล้านตัน

4.อุตสาหกรรมเดินทางมาถึงที่ต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาขาย  เนื่องจากอินเดียไปสนับสนุนการซื้ออ้อยที่ราคาแพง โรงงานผลิตได้เยอะแต่โรงงานส่งออกไม่ได้ เพราะราคาตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้รัฐบาลอินเดียออกมาอุดหนุนผู้ส่งออกน้ำตาล จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำตาลโลกพัง  ขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์ว่าผลจากการฟ้อง WTO ที่บราซิลจับมือกับกัวเตมาลา ออสเตรเลีย ร่วมกันฟ้องWTO อินเดียที่มีรัฐบาลอุดหนุนส่งออก  ที่ต้องใช้เวลาตัดสิน 1-2 ปี และแนวโน้มอาจจะชนะคดีมีสูง เมื่อถึงเวลานั้นราคาน้ำตาลจะกลับมาดี

ฟันธง!!!  4 เหตุผลกระทบราคาน้ำตาลโลก

อภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ 

-โฟกัสอุตฯอ้อยและน้ำตาลในประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมองเป็น 2 ส่วน คือ  1.  มองในแง่ชาวไร่อ้อยก่อน เพราะเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาล ปริมาณอ้อย ที่ปี2562/2563 ภาครัฐออกมาประกาศปริมาณอ้อยที่ 111 ล้านตันอ้อย  แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยมองว่าน่าจะอยู่ที่ปริมาณ 100-105 ล้านตันอ้อย เพราะปี 2563 จะเกิดภาวะภัยแล้ง  ผลตอบแทนการผลิตอ้อยจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือผลผลิตต่อไร่ต้องดี  และราคาอ้อยต้องดีต้องมีราคา 1,000 บาทต่อตันอ้อยขึ้นไป(ปัจจุบันราคา 700-800 บาทต่อตันอ้อย)  โดยผลผลิตจะต้องดีขึ้นโดยที่ต้นทุนต่อไร่ไม่สูงขึ้นเพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยถูก

ฟันธง!!!  4 เหตุผลกระทบราคาน้ำตาลโลก

“ยกตัวอย่างกรณีจีน สามารถปลูกข้าวได้ 2 ตันต่อไร่  ของไทยยังทำได้ไม่ถึงตันต่อไร่  ถ้าเราสามารถทำผลผลิตต่อไร่ได้ดี ต่อให้ราคาในตลาดโลกตกต่ำอย่างไร  ชาวไร่ก็รอด    ถ้าราคาอ้อยอยู่ที่ 1,000 บาทต่อตันอ้อย ผลิตได้ 10 ตันต่อไร่ ก็ได้ที่ 10,000 บาทต่อไร่  แต่ถ้าผลิตได้ที่ 20 ตันต่อไร่ ก็จะได้ที่ 20,000 บาทต่อไร่  ถ้าทำได้แบบนี้ ก็จะสามารถยืนได้โดยไม่ต้องสนใจราคาน้ำตาลในตลาดโลก  เหล่านี้คือสิ่งที่อยากเห็นรัฐบาลทำ  คือเห็นด้วยที่แก้ปัญหาที่ราคา แต่ควรลงไปดูที่ต้นเหตุก่อนคือผลผลิตต่อไร่ต้องสูงและต้นทุนต่อหน่วยต้องต่ำ ทั้งหมดนี้ต้องทำไปพร้อมกัน”

2.มองในแง่โรงงานน้ำตาล  ในช่วง 2 ปีมานี้แม้ราคาน้ำตาลร่วงลง  แต่ผู้ผลิตน้ำตาลยังรอด เนื่องจากมีสายป่านยาว ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่มีการลงทุนด้านเอทานอล ผลิตโรงไฟฟ้า เข้ามาเสริมรายได้อีกทาง  วัดได้จากผลประกอบการของโรงงานน้ำตาลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ขณะนี้ยังไม่เห็นมีรายใดขาดทุน เช่น บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน),บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน),บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน)

ส่วนโรงงานที่ไม่มีการผลิตเอทานอล โรงไฟฟ้ายังต้องจับตามองว่าสถานะตอนนี้เป็นอย่างไร  แต่ถ้ามองโดยภาพรวมแล้วโรงงานน้ำตาลยังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ วัดได้จากที่มีโรงงานน้ำตาลเกิดขึ้นใหม่ต่อเนื่อง โดยปี2562/2563 จะมีโรงงานน้ำตาลที่หีบอ้อยทั้งสิ้น 57 โรงงาน จากที่ปี 2561/2562 มีโรงงานน้ำตาลที่หีบอ้อยเพียง 55 โรงงาน  และภายในปี 2563/2564 จะมีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 3-4 แห่ง ที่จังหวัดชัยภูมิ,นครราชสีมา,ขอนแก่น และกาฬสินธ์

ฟันธง!!!  4 เหตุผลกระทบราคาน้ำตาลโลก

ฟันธง!!!  4 เหตุผลกระทบราคาน้ำตาลโลก

ปัจจุบันสถานะโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย ปี2561/2562  ไทยผลิตน้ำตาลในประเทศได้ประมาณ 14 ล้านตัน ในจำนวนนี้บริโภคภายในประเทศ 2.5 ล้านตัน ส่งออก 10-11 ล้านตัน ที่เหลือเป็นสต็อกคงค้าง

 

-เปรียบเทียบน้ำตาลกับสินค้าอื่น

หากมองเปรียบเทียบสินค้าน้ำตาลกับสินค้าโภคภัณฑ์ตัวอื่น อภิชาติ แสดงความเห็นว่า คำว่าสินค้าโภคภัณฑ์จะไม่หนีคำว่า “ผลิต”กับ “บริโภค”เมื่อไหร่ที่ผลิตจนล้นตลาดราคาก็จะร่วงลงมา และเมื่อใดที่ผลิตได้น้อยกว่าการบริโภคราคาก็จะสูงขึ้น   ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล ทองคำ ยาง เหล็ก ผลิตมากก็ล้นตลาด ทำราคาร่วง ซึ่งจะอยู่กับวงจรผลิต, บริโภค, เก็งกำไร วนอยู่แบบนี้ 80%  และถ้ามาดูเฉพาะราคาน้ำตาล เปรียบเทียบกับสินค้าตัวอื่นถือว่ายังโชคดีกว่าราคายางพารา ที่ราคาผันผวนรุนแรง  เมื่อ 10 ปีก่อนราคายางแผ่นลมควันเบอร์ 3 ราคา 30-40 บาทต่อกิโลกรัม สามารถขึ้นไปถึง 180 บาทต่อกิโลกรัมได้ในยุคหนึ่ง และมีการส่งเสริมปลูกยางในภาคอีสานจำนวนมากมาย  แต่ตอนนี้ราคาลงมาอยู่ที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นอ้อยและน้ำตาลยังมีความเสี่ยงน้อยกว่ายางพารา

คอลัมน์      พื้นที่นี้....Exclusive

โดย:งามตา สืบเชื้อวงค์