กองทุนใหม่แทน LTF ต้องลดเหลื่อมล้ำภาษี

23 พ.ย. 2562 | 11:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3525 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-27 พ.ย.2562

 

กองทุนใหม่แทน LTF

ต้องลดเหลื่อมล้ำภาษี

 

     กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายว่า การจัดตั้งกองทุนใหม่ทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTFจะมีความชัดเจนในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเบื้องต้นกองทุนใหม่ที่จะตั้งขึ้น จะมีลักษณะคล้ายกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แต่จะมีระยะเวลาการออมที่ยาวขึ้นกว่าการลงทุนใน LTF เดิม แต่ไม่นานเท่ากับ RMF ที่ต้องออมจนถึงวัยเกษียณ ส่วนจำนวนวงเงินในการนำมาหักลดหย่อนภาษีนั้น อาจจะไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี หรือไม่เกิน 30% ของรายได้ โดยจะต้องรวมการออมกับ RMF ด้วย

     การจัดตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมาทดแทน LTF มีสาเหตุสำคัญมาจาก การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ไม่ตรงจุดกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดการออมในกลุ่มคนระดับกลาง แต่จากผลการวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กลับพบว่าการกำหนดผู้เสียภาษีให้นำเงินที่ซื้อหน่วยลงทุน LTF ไปหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาทนั้น ทำให้ค่าลดหย่อน LTF เฉลี่ยจะสูงกว่ายอดการขอลดหย่อนซื้อหน่วยลงทุนใน RMF ประมาณ 2 เท่า

 

     ขณะที่ผู้เสียภาษีในกลุ่มที่มีเงินได้สุทธิสูงกว่า 20 ล้านบาท 10-20 ล้านบาท และ 4-6 ล้านบาท เป็นกลุ่มผู้มีเงินได้ที่ขอลดหย่อนในรายการดังกล่าวสูงสุด 3 อันดับแรก โดยมียอดขอลดหย่อนเฉลี่ย 172,845 151,237 และ 144,340 บาทต่อรายตามลำดับ ส่วนผู้เสียภาษีในกลุ่มที่มีเงินได้สุทธิต่ำกว่า 1.5 แสนบาท เป็นกลุ่มผู้มีเงินได้ที่ขอลดหย่อนในรายการดังกล่าวเฉลี่ยต่ำกว่า 100 บาทต่อราย

     อันที่จริงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีทางตรง ที่รัฐบาลเก็บจากฐานเงินได้สุทธิจากบุคคลทั่วไป ตามความสามารถในการเสียภาษีของแต่ละบุคคล กล่าวคือใครมีรายได้มากก็จ่ายภาษีมาก ใครมีรายได้น้อยก็จ่ายภาษีน้อย แต่ในการคำนวณภาษีนั้นรัฐบาลได้เพิ่มรายการหักลดหย่อนขึ้นอีกหลายประเภท ส่งผลให้มูลค่าการลดหย่อนรวมในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 1.62 ล้านบาท ส่งผลโดยตรงต่อการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล

 

 

     นอกจากนี้การลดหย่อนภาษีของประเทศไทยมีรายการลดหย่อนบางรายการที่ผู้ที่มีเงินได้สูงจะได้รับประโยชน์สูงกว่าผู้ที่มีเงินได้น้อย เนื่องจากผู้มีรายได้สูงหรือผู้ที่มีรายได้เหลือใช้เท่านั้นที่สามารถขอลดหย่อนรายการลดหย่อนดังกล่าวได้ เช่น การลดหย่อนเพื่อซื้อ LTF หากผู้มีเงินได้พึงประเมินสูงสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่มากจนทำให้ตนเองสามารถเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลงจนเท่ากับหรือต่ำกว่าคนที่มีเงินได้พึงประเมินน้อยกว่าแล้ว ย่อมทำให้คนที่มีรายได้สูงจ่ายภาษีน้อยกว่าคนที่มีรายได้น้อยกว่า ดังนั้นกองทุนใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาทดแทน LTF จะต้องไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางภาษี เหมือนกับกองทุน LTF