ต้นทุนผลิตยางพาราไทย ได้เวลาต้อง “รื้อใหญ่”

19 พ.ย. 2562 | 09:40 น.

ต้นทุนผลิตยางพาราไทย ได้เวลาต้อง “รื้อใหญ่”

หนึ่งในประเด็นปัญหายางพาราไทยคือ ตัวเลขต้นทุนการผลิตยางพาราของประเทศไทยเป็นเท่าไร  การที่มีต้นทุนยางพาราที่สะท้อนการผลิตที่แท้จริงของเกษตรกร ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจว่า “ระดับการช่วยเหลือควรเป็นเท่าไร” รวมไปถึงการผลักดัน “การแข่งขันยางพาราไทยในตลาดโลก” อีกด้วย

 

ปัจจุบันมี 3 กลุ่มหลักๆ ที่คิดคำนวณต้นทุนยางพาราคือ หน่วยงานในสังกัดของรัฐฯ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย และวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ซึ่งแต่ละฝ่ายก็จะมีรายละเอียดต้นทุนทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน การมีต้นทุนยางพาราที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวแทนของต้นทุนยางพราประเทศไทยที่สามารถนำไปอ้างอิงถึงในหลายๆ โอกาสและวิเคราะห์เศรษฐกิจยางพาราไทยได้อย่างถูกต้อง

 

ปัจจุบันการคำนวณต้นทุนยางพาราไทยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือต้นทุนยางพาราต่อกิโลกรัม(กก.) กับต้นทุนยางพาราต่อไร่

 

กรณีต้นทุนต่อกิโลกรัม เช่น ตัวอย่างข้อมูลของ http://rubberplasmedia.com ได้นำเสนอว่าต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบของเกษตรกรลดลงจาก 16,017.84 บาทต่อไร่ ใน ปี 2557 เหลือ 13,647.09 บาทต่อไร่ในปี 2561 หรือลดลงร้อยละ 4.17 ต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนการผลิต ต่อหน่วยลดลงจาก 63.82 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2557 เหลือ 56.39 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2561 หรือลดลงร้อย 3.55 ต่อปี

 

ส่วนข้อมูลของหน่วยงานของรัฐฯ ปี 2559 ต้นทุนยางพาราทั้งประเทศอยู่ที่ 65.55 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนยางก้อนถ้วยทั้งประเทศเท่ากับ 59.82 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่โครงการวิจัยการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานยางพาราไทยกับมาเลเซียเพื่อแสวงหาแนวทางปฎิบัติที่ดีและสนองความต้องการในตลาดโลก (2561) มีการคำนวณต้นทุนเฉพาะภาคตะวันออกพบว่าต้นทุนยางพาราแต่ละประเภทอยู่ระหว่าง 39 – 61 บาทต่อกิโลกรัม

ต้นทุนผลิตยางพาราไทย ได้เวลาต้อง “รื้อใหญ่”

 

กรณีต้นทุนต่อไร่ การศึกษาส่วนใหญ่คำนวณต้นทุนยางพาราเป็นต้นทุนต่อไร่ โดยมีการแยกออกเป็นต้นทุนก่อนและหลังกรีด (วัดจาก 7 ปีเป็นเกณฑ์) ก่อนกรีดต้นทุนยางพาราอยู่ระหว่าง 2 หมื่นบาทถึงหลักแสนบาทต่อไร่ ในขณะที่หลังกรีดต้นทุนยางพาราอยู่ระหว่าง 5 หมื่นบาทถึงแสนบาทต่อไร่

ต้นทุนผลิตยางพาราไทย ได้เวลาต้อง “รื้อใหญ่”

 

ผมมีข้อเสนอแนะว่าประเทศไทยต้องปรับปรุงการคำนวณต้นทุนยางพาราโดยคำนึงถึง จำนวนต้นยางต่อไร่ที่เหมาะสม จำนวนต้นยางที่ปลูกต่อไร่ จะทำให้ต้นทุนแตกต่างกัน เช่น บางพื้นที่ที่คำนวณต้นทุน 82 ต้นต่อไร่ 76 ต้นต่อไร่ และ 70 ต้นต่อไร่ เป็นต้น ซึ่งจำนวนต้นที่แตกต่างมีผลต่อการคำนวณต้นทุนทั้งในส่วนของค่าจ้างแรงงานในการปลูก และต้นทุนค่าปุ๋ย เป็นต้น

 

ช่วงอายุของต้นยางพารา  ช่วงอายุของต้นยางพาราทั้งก่อนกรีดและหลังกรีด อายุต้นยางหลังกรีดบางคนกำหนด 6 ปี หรือ 7 ปี ส่วนหลังกรีดมีทั้ง 10ปี 12 ปี 22 ปี และ 25ปี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก็มีการคำนวณต้นทุนที่ไม่มีการระบุเกี่ยวกับช่วงอายุของยางพาราที่ใช้ในการคำนวณ ซึ่งการที่ไม่ระบุปีของต้นยางที่ชัดเจนอาจนำไปสู่การโต้แย้งเกี่ยวกับผลการคำนวณต้นทุนยาพาราที่คำนวณได้

 

ต้นทุนผลิตยางพาราไทย ได้เวลาต้อง “รื้อใหญ่”

เลือกต้นทุนบัญชีหรือเศรษฐศาสตร์ การคำนวณต้นทุนยางพาราใน 2 ประเภทคือ ต้นทุนทางบัญชี และต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งต้นทุนทั้ง 2 ประเภทนี้แตกต่างกันตรงต้นทุนเศรษฐศาสตร์จะรวมต้นทุนค่าเสียโอกาส ส่วนใหญ่คำนวณต้นทุนยางพาราโดยใช้ต้นทุนทางบัญชีในการคำนวณ ขาดรายละเอียดที่สำคัญ ได้แก่

1.ค่าปลูกซ่อมยางพารา ไม่มีการคำนวณกรณีที่ต้องมีการปลูกซ่อมแซมใหม่ 2.ไม่มีการแยกค่าปุ๋ย เช่น ค่าปุ๋ยรองก้นหลุม ค่าปุ๋ยเคมี ค่าปุ๋ยคอก การใช้ปุ๋ยผสมและแม่ปุ๋ยซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแตกต่างกัน  3.ค่ายาปราบศัตรูพืช มีทั้งแยกรายละเอียดและไม่แยกรายละเอียด 4.ต้นทุนค่าวัสดุ เช่น ไฟฉาย ถ่าน มีด ถ้วย ลวดสปริงรัดต้น แผ่นกวดน้ำยาง ที่ตวงน้ำยาง ที่ปาดยาง ถังรวมน้ำยาง หิดลับมีด พายปาดยาง  ตะแกรงกรองน้ำยาง รองเท้า และอุปกรณ์อื่นๆ เป็นต้นทุนที่ส่วนใหญ่จะใช้ร่วมกันเป็นค่าวัสดุรวม 5.ต้นทุนการผลิตที่เป็นต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าภาษีที่ดิน และค่าเสื่อมอุปกรณ์เกษตร เป็นต้นทุนที่ไม่ได้ถูกรวมในการคำนวณต้นทุนการผลิตยางพารา

ต้นทุนผลิตยางพาราไทย ได้เวลาต้อง “รื้อใหญ่”

 

 ถึงเวลาแล้วที่วันนี้ประเทศไทยต้อง “รื้อ” เพื่อสร้าง “ต้นแบบการคำนวณต้นทุนยางพาราใหม่ทั้งระบบ” เชิญหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และนักวิชาการเพื่อหาข้อสรุป “ต้นทุนยางพาราของไทย” ที่ยอมรับของทุกฝ่าย