สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล(32)

17 พ.ย. 2562 | 05:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3523 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ย.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'

ประวัติศาสตร์การประมูล(32)

 

     ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของไทยที่มีความล่าช้าในการเซ็นสัญญายาวนานที่สุด

     กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่าคู่แข่งจึงชนะประมูล แต่กว่าจะมีการลงนามกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี

     สัญญาที่จะมีการลงนามกันนั้นเป็นอย่างไร มาติดตามร่างสัญญากันในเรื่องการส่งมอบพื้นที่มักกะสันและศรีราชา ที่จะเป็นตัวบอกว่า ส่งมอบล่าช้าหรือไม่...

     3) ความรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนของงานทางแยกต่างระดับ (Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสัน

     เมื่อมีการออกหนังสือรับรองการก่อสร้างงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานทางแยกต่างระดับ(Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสันแล้ว หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือความเสียหายเกิดขึ้นในงานดังกล่าว ภายในระยะเวลาสอง (2) ปีนับจากวันที่มีการออกหนังสือรับรองการก่อสร้างงานโยธาของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานทางแยกต่างระดับ(Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสันในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งสองส่วนนั้น ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของเอกชนคู่สัญญา ซึ่งรวมถึงกรณีที่เกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อย หรือทำไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา

     ในกรณีดังกล่าว เอกชนคู่สัญญาจะต้องทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้าตามที่ รฟท.กำหนดโดย รฟท.ไม่ต้องออกเงินใดๆ ในการนี้ทั้งสิ้นหากเอกชนคู่สัญญาไม่กระทำการดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ รฟท.กำหนดคู่สัญญาตกลงให้สิทธิ รฟท.ที่จะทำการนั้นเอง หรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยเอกชนคู่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการดังกล่าว

     ในกรณีเร่งด่วนจำเป็นต้องแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายโดยเร็ว และไม่อาจรอให้เอกชนคู่สัญญาแก้ไขในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งได้ รฟท.มีสิทธิเข้าจัดการแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเอง หรือจ้างผู้อื่นให้ซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องหรือเสียหาย โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการดังกล่าว

     การที่ รฟท.ทำการนั้นเอง หรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นแทนเอกชนคู่สัญญา ไม่ทำให้เอกชนคู่สัญญาหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาร่วมลงทุน

     (ค) งานอาคารที่พักอาศัยพนักงานและอาคารที่ทำการของ รฟท.ในบริเวณพื้นที่ศรีราชา

     1) การดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานอาคารที่พักอาศัยพนักงานและอาคารที่ทำการของ รฟท.ในบริเวณพื้นที่ศรีราชา

     ก) เอกชนคู่สัญญาจะต้องดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานอาคารที่พักอาศัยพนักงานและอาคารที่ทำการของ รฟท.ในบริเวณพื้นที่ศรีราชาให้แล้วเสร็จและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก ถูกต้องและเป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท.ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ มีสภาพปลอดภัยเพียงพอที่จะเริ่มการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ

     ข) รฟท.มีกรรมสิทธิ์ในวัสดุ อุปกรณ์ เศษเหล็ก หรือทรัพย์สินใดๆ ที่อยู่ในพื้นที่ศรีราชา โดยเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องรื้อย้ายทรัพย์สินดังกล่าวออกจากพื้นที่นั้นไปวางไว้ในพื้นที่ที่ รฟท.กำหนดไว้ซึ่งจะอยู่ห่างจากพื้นที่ศรีราชาไม่เกินกว่าระยะทางสิบ (10) กิโลเมตร

     ค) ในระหว่างระยะเวลาของงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานอาคารที่พักอาศัยพนักงานและอาคารที่ทำการ รฟท.ในบริเวณพื้นที่ศรีราชา ให้นำข้อ 15.1(3)(ก)และ(ข) มาใช้บังคับโดยอนุโลมเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของ รฟท.และเอกชนคู่สัญญาในการดำเนินการและการตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าว

     ง) ในการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานอาคารที่พักอาศัยพนักงานและอาคารที่ทำการของ รฟท.ในบริเวณพื้นที่ศรีราชา เอกชนคู่สัญญาระมัดระวังมิให้การดำเนินงานข้างต้น ส่งผลกระทบต่อโครงการอื่นหรือการให้บริการสาธารณะของหน่วยงานรัฐ

     2) การเริ่มต้นการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานอาคารที่พักอาศัยพนักงานและอาคารที่ทำการของ รฟท.ในบริเวณพื้นที่ศรีราชา

     ก) ในวันเริ่มต้นระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนแรกตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)1)รฟท.จะส่งมอบสิทธิครอบครองในพื้นที่บริเวณพื้นที่ศรีราชา ซึ่งปรากฏรายละเอียดของพื้นที่ดังกล่าวตามเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 5 (ข้อกำหนดของ รฟท.ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ)ภาคผนวกหมายเลข 3-1 (พื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯส่วนแรก) ให้แก่เอกชนคู่สัญญาเพื่อดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานอาคารที่พักอาศัยพนักงานและอาคารที่ทำการของ รฟท.ในบริเวณพื้นที่ศรีราชาตามที่กำหนดไว้ในข้อนี้เท่านั้น โดยจะต้องดำเนินงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยมีสภาพสมบูรณ์สามารถใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงปลอดภัย ภายในสาม (3)ปีนับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนแรกตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1) (ข)1)

     ข) เมื่อ รฟท.พิจารณางานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานอาคารที่พักอาศัยพนักงานและอาคารที่ทำการของ รฟท.ในบริเวณพื้นที่ศรีราชาแล้วเห็นว่างานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานดังกล่าวแล้วเสร็จ ถูกต้องและเป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท.ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ มีสภาพปลอดภัยเพียงพอที่จะเริ่มใช้งาน รฟท.จะออกหนังสือรับรองการก่อสร้างงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานนั้น

     ค) คู่สัญญาตกลงให้นำข้อ 15.1(3)(ค) มาใช้บังคับโดยอนุโลมเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของ รฟท. ในบริเวณพื้นที่ศรีราชา     

     ง) กรณีเอกชนคู่สัญญาดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานอาคารที่พักอาศัยพนักงานและอาคารที่ทำการของ รฟท. ในบริเวณพื้นที่ศรีราชาไม่แล้วเสร็จ ภายในสาม (3)ปีนับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนแรกตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)1) เอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชำระค่าปรับให้แก่ รฟท. เป็นจำนวนเงิน หนึ่งหมื่นสามพัน (13,000)บาทต่อวัน โดยเริ่มนับถัดจากวันดังกล่าว จนถึงวันที่เอกชนคู่สัญญาได้รับหนังสือรับรองการก่อสร้างงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานอาคารที่พักอาศัยพนักงานและอาคารที่ทำการของ รฟท. ในบริเวณพื้นที่ศรีราชา

     โดยหากเอกชนคู่สัญญาไม่ชำระค่าปรับดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ รฟท. กำหนด รฟท. มีสิทธิบังคับชำระค่าปรับจากหลักประกันสัญญาตามข้อ 10.1

     ผมขอบอกว่าเรื่องการส่งมอบที่ดินของรฟท.ในสัญญาเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับโครงการรถไฟไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินอย่างมาก ผิดพลาดไปหมายถึง “ค่าปรับ-การรื้อ-ขยายสัญญา” ออกไปได้ทีเดียวละครับ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (31)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (30)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (29)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (28)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (27)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (26)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (25)