ปลดแอกชาวบ้าน โรงไฟฟ้าชุมชนแก้จน

15 พ.ย. 2562 | 11:30 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3523 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ย.2562 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

ปลดแอกชาวบ้าน

โรงไฟฟ้าชุมชนแก้จน

 

     สถานการณ์ราคาพืชผลการเกษตรตกตํ่าอย่างหนัก จนรัฐต้องตั้งงบประมาณเข้าไปช่วยอุ้มไม่น้อยกว่า 6 หมื่นล้านบาท ในเบื้องต้น และไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน และ มันสำปะหลัง

     แน่นอนถมไม่มีวันเต็ม หากพิจารณาจากสถานการณ์ที่เปรียบเหมือนคนไข้อาการโคม่า แต่กลับให้ได้เพียงยาแก้ปวดหัวชั่วคราวเท่านั้น

     เมื่อรากหญ้าขาดนํ้าหล่อเลี้ยง ขาดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ เศรษฐกิจจึงฝืดเคืองไปทั่ว ธรรมชาติของผู้คนจึงต้องหาคนผิด หาแพะ ชี้นิ้วไปทั่ว แน่นอนจะเป็นใครไม่ได้นอกจากรัฐบาล ที่มิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบในระดับหนึ่ง

     สถานการณ์ที่สะท้อนความฝืดอีกประการ เห็นจากเมื่อมีการรายงานฐานะการเงินของกองทุนประกันสังคม สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ที่มี 2 ล้านล้านบาท ต่อครม.ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางและมาตรการในการบริหารจัดการเงินกองทุนประกันสังคม ให้เกิดประโยชน์และตอบสนองแก่ความต้องการของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น เช่น การกู้ยืมเพื่อการลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่น

     “คนคิดไปต่างๆ นานา สารพัดสารพันในทันใด ครั้นจะห้ามไม่ให้คิดก็ไม่ได้ คิดกันอย่างไรไปไม่ได้นอกจากฝืดเสียเต็มประดาจนต้องงัดเงินประกันสังคมมาให้กู้ยืมกันแล้ว แต่ถ้าจะเดินเรื่องนี้จริงก็ต้องรอบคอบ พวกหน่วยงานทั้งหลายไม่ใช่คิดเอาใจนายกฯกันอย่างเดียว”

     อันที่จริงการแก้ปัญหาเงินหมุนระดับรากหญ้า มีแนวที่ทำได้เร็วอยู่ประการหนึ่ง คือการปลดล็อกโรงไฟฟ้าชุมชน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชุมชนจากหญ้าเนเปียร์

     สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานกำลังเดินเรื่องนี้ โดยจะต้องปรับแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า(พีดีพี) ที่ผ่านมารัฐซื้อไฟฟ้าจากรายใหญ่ไปเยอะและตามแผนก็จะซื้ออีกแยะ ลองทบทวนแผนและหันมาทำโรงไฟฟ้าชุมชนให้ชาวบ้านเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าว ปลูกปาล์ม กระทั่งปลูกยางที่ราคาดิ่งเหวมาปลูกหญ้าเนเปียร์ดูบ้าง แต่ต้องมั่นใจว่ารายได้มากกว่าพืชเหล่านั้น

     หลายชุมชนพร้อมเดินหน้าเพราะเห็นช่องทางสร้างรายได้ต่อลมหายใจที่อ่อนล้า ผลจากที่ชาวบ้านในชุมชนเขาศึกษาบอกว่า การตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายหญ้าเนเปียร์เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการปลูกพืชอย่างอื่น ซึ่งหากหญ้าเนเปียร์ขั้นตํ่าขายได้ตันละ 300 บาท ใน 1 ปี ตัดได้ 4 รอบ เฉลี่ยรวม 45-50 ตันต่อปีต่อไร่ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ราว 1.35-1.50 หมื่นบาทต่อไร่ ซึ่ง 1 เมกะวัตต์ จะใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 600 ไร่ เท่ากับว่าเกษตรกรจะมีรายได้ราว 8.1-9 ล้านบาทต่อปี

     ยังไม่รวมกับรายได้จากการปันผลจากโรงไฟฟ้า และยังมีเงินส่วนหนึ่งส่งเข้ากองทุน 25-50 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนได้อีกก้อนหนึ่ง เช่น การพัฒนาแหล่งนํ้า หรือนำไปช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าให้กับชุมชน ตั้งสถานที่รับเลี้ยงเด็ก การพัฒนาสายพันธุ์หญ้าเนเปียร์ให้ดียิ่งขึ้น

     แน่นอนการลงทุนโรงไฟฟ้าในแต่ละเมกฯ ต้องใช้เงินนับร้อยล้านบาท ลำพังชาวบ้านท่าจะไม่ไหว รัฐต้องคิดหาโมเดลให้เอกชนเข้ามาร่วมกับ 3 การไฟฟ้า โดยตกลงกับชุมชนและกลุ่มเกษตรกรในสัดส่วนการถือหุ้นที่เหมาะสม หรือนำเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน กองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาลงขันตามความเหมาะสม

     การตัดสินใจพลิกฟื้นโรงไฟฟ้าชุมชนไบโอแก๊ส จากการหมักพืชหมักหญ้าหรือจากทะลายปาล์ม อาจเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรที่พร้อมปรับเปลี่ยนแนวคิด ไม่ยึดติดการเพาะปลูกเดิมๆ และพร้อมแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ แต่ที่สำคัญรัฐต้องมีหลักประกันชัดเจน ไม่เข้าๆ ออกในแง่นโยบาย

     “เดี๋ยวเดินหน้า เดี๋ยวหยุด ทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าจะลุยก็ต้องจริงจัง ชาวบ้านเดิมพันสูงต้องมีหลักประกันชัดเจน”

     ในเวลาและสถานการณ์ที่อนาคตยังไกลๆ บางทีโรงไฟฟ้าชุมชนไบโอแก๊ส หญ้าเนเปียร์ อาจเป็นทางเลือกให้กับชาวบ้านแก้หนี้ แก้จนได้บ้าง