ความแตกต่างระหว่าง ‘ล่อซื้อ’ กับ ‘ล่อให้กระทำผิด’

16 พ.ย. 2562 | 04:30 น.

 

คอลัมน์ รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,523 วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2562

 

ในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่วันนี้ เรื่องที่ตกเป็นข่าวใหญ่ซึ่งเกี่ยวพันกับเทศกาลนี้คงจะไม่พ้นกรณีที่หนูน้อยอายุ 15 ปีถูกข้อหาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ และมีการเรียกร้องให้จ่ายค่าปรับเป็นจำนวนถึง 50,000 บาท ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดหรือไม่ โดยสื่อมวลชนทั้งในกระแสหลักและกระแสรอง รวมถึงในโลกโซเชียลต่างให้ความเห็นในประเด็นนี้กันในหลายมุมมอง

 

ผู้เขียนจึงต้องการหยิบยกกรณีที่เกิดขึ้นนี้มาแสดงให้เห็นอย่างง่ายๆ ว่าอะไรคือจุดแบ่งระหว่างการที่เจ้าพนักงานของรัฐใช้เป็นวิธีในการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีการับรองให้สามารถกระทำได้ กับการที่ถือว่าเป็นการก่อให้ผู้อื่นเป็นผู้กระทำความผิด โดย 2​ เรื่องนี้ จะเป็นการแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างคำว่า ล่อซื้อ”​ และการล่อให้กระทำผิด

 

ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะนำมาพิจารณาให้เห็นถึงความแตกต่างของ 2 ประเด็นนี้คือ การกระทำของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด เป็นการกระทำที่เคยมีอยู่ก่อนหน้าการกระทำความผิดในครั้งนี้หรือไม่ ถ้าผู้กระทำมีการกระทำในลักษณะนี้อยู่แล้ว เพียงแต่หากต้องการฟ้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่ของรัฐจำเป็นต้องหาพยานหลักฐานมาเพื่อให้ประกอบในการพิจารณาในชั้นศาล

 

ดังนั้น กรณีที่มีการสั่งซื้อหรือสั่งให้กระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการล่อซื้อเพื่อให้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดที่ผู้กระทำเคยทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ตัวอย่างเช่น จำเลยเป็นผู้ประกอบการขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และลงโปรแกรมที่มีลักษณะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อคอมพิวเตอร์จากร้านของตัวเองเสมอ

 

ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการล่อซื้อโดยการปลอมเป็นลูกค้าเพื่อสั่งซื้อคอมพิวเตอร์และจำเลยได้ลงโปรแกรมที่มีลักษณะเป็นการละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาด้วย พยานหลักฐานที่ได้จากการล่อซื้อดังกล่าว ถือเป็นพยานที่รับฟังได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ศาลฎีกาวางแนวรับรองการดำเนินการในเรื่องการล่อซื้อไว้แล้วในหลายคดี ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาฎีกาที่ 4301/2543 หรือ 59/2552

 

แต่หากข้อเท็จจริงฟังได้ความว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย ไม่เคยมีการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวมาก่อน แต่เป็นเพราะการที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยตัดสินใจที่จะทำ และเป็นการกระทำผิดครั้งแรก ซึ่งในกรณีนี้ถูกเรียกว่า ล่อให้กระทำผิดถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้กระทำไม่เคยกระทำการในลักษณะดังกล่าวมาก่อน เช่น เด็กอายุ 15 คนนี้ไม่เคยทำกระทงในลักษณะหรือรูปแบบที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์มาก่อน แต่เป็นเพราะมีผู้มาสั่งจ้างให้ทำ ผู้สั่งจ้างอาจถูกพิจารณาว่าเป็นผู้ที่ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดได้

 

ความแตกต่างระหว่าง ‘ล่อซื้อ’ กับ ‘ล่อให้กระทำผิด’
 

 

และในกรณีที่หากผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังเช่น ตัวอย่างในเรื่องการสั่งซื้อคอมพิวเตอร์ที่กล่าวข้างต้น ถ้าโดยปกติผู้ต้องหาหรือจำเลย ประกอบการขายคอมพิวเตอร์โดยไม่รับลงโปรแกรมใดๆ ให้ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้วิธีการที่ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยยอมที่จะทำให้เป็นกรณีพิเศษ ถือว่าพฤติกรรมในการกระทำผิดนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้อื่นขอให้กระทำ พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการล่อให้ผู้อื่นกระทำผิด จะนำพยานหลักฐานที่ได้มาใช้ในการพิสูจน์ความผิดไม่ได้ เพราะเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

นอกจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้แล้ว ในอดีตเคยมีหลายคดีที่มีการร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับปั๊มนํ้ามันกระทำการในลักษณะเป็นการกรรโชกทรัพย์ หากท่านยังจำได้ เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เคยมีปัญหาเรื่องที่ปั๊มนํ้ามันในต่างจังหวัดบางแห่งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ โดยตกลงว่าเมื่อมีคนมาเติมนํ้ามันให้เอายาบ้ายัดใส่ไว้ในถังนํ้ามันโดยแปะไว้ด้านบน แล้วจะมีด่านตรวจตั้งห่างจากปั๊มนํ้ามันประมาณ 3-4 กิโลเมตร

 

เมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจจะแจ้งกับเจ้าของรถว่า ได้รับแจ้งว่าผู้ขับขี่มียาเสพติดในครอบครองจึงจำเป็นต้องขอตรวจค้นรถยนต์ แล้วก็ตรวจมาเจอว่ามีการซุกซ่อนไว้ในถังนํ้ามัน และมีการเรียกร้องเงินว่าถ้าหากไม่ต้องการให้มีการดำเนินคดี ต้องจ่ายเงินให้จำนวนหลายหมื่นบาท โดยเงินดังกล่าวได้มีการนำมาแบ่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับทางปั๊มนํ้ามัน ซึ่งเรื่องนี้เคยเป็นข่าวใหญ่อยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกรรโชกทรัพย์

 

ในเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาในลักษณะแบบนี้ได้ โดยหากมีการร่วมมือกันทำ โดยมีคนทำตัวเป็นคนสั่งจ้างหรือสั่งซื้อให้มีการทำหรือผลิตสินค้าที่มีลักษณะเป็นการละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา แล้วได้มีการไปแจ้งให้จับ ต่อมามีการยื่นข้อเสนอให้จ่ายเงินเพื่อไม่ต้องถูกดำเนินคดี การ กระทำในลักษณะแบบนี้ก็เข้าข่ายเป็นการกรรโชกทรัพย์ได้เช่นกัน

 

ส่วนกรณีการทำกระทงของเด็กอายุ 15 ปีที่เกิดขึ้นนี้ ก็ต้องหาข้อ เท็จจริงให้ได้ว่า การสั่งผลิต การแจ้งเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่มีความรู้จักเกี่ยวพันกันหรือไม่ เพราะหากไม่มีก็ไม่เข้าองค์ประกอบตามที่ได้กล่าวไป

 

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างหนึ่งว่าเครื่องมือในการคุ้มครองในทางกฎหมาย ในทางปฏิบัติในหลายกรณีก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหากินหรือแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบ ดังนั้นประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่รู้กฎหมาย หากเจอปัญหาทางกฎหมายก็ควรจะปรึกษากับผู้ที่มีความรู้ในเรื่องกฎหมายเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ

 

ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ให้บริการในการให้คำปรึกษาทางกฎหมายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด จะมีสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า สคช. อยู่ในทุกจังหวัด ดังนั้น หากท่านใดมีประเด็นปัญหาทางกฎหมายก็สามารถไปติดต่อขอความช่วยเหลือจากสำนักงานนี้ที่อยู่ใกล้บ้านท่านได้ เพื่อที่ท่านจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่ออันเนื่องมาจากความไม่รู้กฎหมาย