มาตรการเสริม แจกเงิน

13 พ.ย. 2562 | 11:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3522 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-16 พ.ย.2562 


มาตรการเสริม
แจกเงิน



     แม้จะมีนักศึกษาราชภัฏเดินมาชูป้ายให้กำลังใจพร้อมกับข้อความ “WE LOVE ชิมช้อปใช้” กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระหว่างการเดินทางประชุมครม.สัญจรที่จ.กาญจนบุรีและครม.ได้เห็นชอบ “ชิมช้อปใช้” เฟส 3 แต่รอบนี้จะไม่มี “เป๋าตัง 1” ไม่มีเงินสดให้พันบาท โดยเน้นที่ประชาชนใช้เงินของตัวเอง แต่จะได้รับส่วนเงินคืนโดยใช้จ่ายวงเงินไม่เกิน 3 หมื่นบาท จะได้คืนไม่เกิน 4,500 บาท หรือ 15% เกินกว่า 3 หมื่นบาทจะได้ชดเชย 4,000 บาท หรือ 20% ของส่วนที่เกินพร้อมกับยืดมาตรการทั้ง 3 ระยะไปสิ้นสุดเดือนมกราคม 2563

     มาตรการชิมช้อปใช้1 ยอดผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิทะลุเป้า 10 ล้านราย ตามมาด้วย “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” ที่ลงทะเบียนไปครบ 3 ล้านราย และแนวโน้มการใช้จ่ายของประชาชนเป็นไปตามคาด โดยมีผู้ใช้สิทธิของเฟสแรกจำนวน 9 ล้านราย กว่า 9 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ช็อปในวิสาหกิจชุมชน และเฟส 2 มียอดใช้จ่ายไปเบื้องต้นประมาณกว่า 200 ล้านบาท ใช้ไปในส่วนของการชิมในร้านอาหารและเครื่องดื่ม

     รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง หวังให้โครงการนี้กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ผลักดันให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งผลให้อัตราจีดีพีเพิ่มขึ้นจากมาตรการนี้ 0.2-0.3% มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบการใช้จ่ายสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาท แต่ทั้งหมดแล้วอยู่ภายใต้มาตรการแจกเงิน ที่ควรเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อบรรเทาหรือแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น ในยามที่เศรษฐกิจแผ่วลงไปถึงระดับรากหญ้า การอัดฉีดเงินเป็นมาตรการหนึ่งที่ทำได้แต่ต้องหามาตรการอื่นเสริมในการดูแลเศรษฐกิจด้วย

     ไม่เฉพาะชิมช้อปใช้เท่านั้น แต่รัฐบาลยังเดินหน้าใช้เงินหรือแจกเงินในโครงการประกันรายได้ปาล์ม ยาง ข้าว และล่าสุดมันสำปะหลัง โดยโครงการประกันรายได้ข้าวตั้งวงเงิน 21,495 ล้านบาท ยางพาราวงเงิน 24,000 ล้านบาท ปาล์มนํ้ามันวงเงิน 13,378 ล้านบาท มันสำปะหลังวงเงิน 9,442 ล้านบาท รวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมข้าวโพดที่ยังไม่มีการตั้งวงเงินที่น่าจะอยู่ในราวหลักพันล้านเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นมาตรการในการแจกเงิน แก้ปัญหาเฉพาะหน้า บรรเทาพิษเศรษฐกิจจากราคาพืชผลตกตํ่าเช่นเดียวกันและเป็นมาตรการที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางการผลิต

     เราเห็นว่าได้เวลาที่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำต้องหันมาให้ความสำคัญกับแผนดูแลเศรษฐกิจ หลังจากช่วงรอยต่อของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่ต้องเผชิญผลพวงสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกผันผวน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามลงไปอย่างมากและจากการวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจปีหน้า ยังอยู่ในอาการน่าวิตก จึงจำเป็นต้องหามาตรการเสริมอื่น นอกจากการแจกเงินในการรับมือ ที่สำคัญต้องไม่ลืมการเสริมความเข้มแข็งให้โครงสร้างเศรษฐกิจในระยาปานกลาง-ยาวไปพร้อมกันด้วย