บทเรียนที่ 'พรรคอนาคตใหม่' ควรศึกษา

14 พ.ย. 2562 | 11:00 น.

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐิจ ฉบับ 3522 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-16 พ.ย.2562 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

 

บทเรียนที่

'พรรคอนาคตใหม่'

ควรศึกษา

 

     เมื่อพรรคอนาคตใหม่ก่อกำเนิดขึ้น เราจะได้ยินคำกล่าวปราศรัยและการให้สัมภาษณ์ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค หลายครั้งต่างวาระโอกาสว่า “พวกเขาต้องการสร้างประชาธิปไตย สานฝันต่อภารกิจและอุดมการณ์ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 โดยคณะราษฎรให้สำเร็จ”

     จากนั้นพวกเขาก็ชักธงชูคำขวัญ “ฝ่ายประชาธิปไตย และอนาคตคนรุ่นใหม่” เป็นธงผืนใหญ่ขึ้นนำหน้า เพื่อปลุกพลังคนรุ่นใหม่และประชาชนที่ไม่ชอบรัฐบาลทหาร ให้ออกมาช่วยพวกเขาเพื่อล้มอำนาจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับคณะ อย่างเอาเป็นเอาตายหมายเผด็จศึกโดยชั่วข้ามคืน อย่างที่มิได้ประเมินกำลังตนเอง

     กล่าวสำหรับความคิดและอุดมการณ์ ที่มุ่งมั่นที่จะสร้างประชาธิปไตย สร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่า และคิดการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง เพื่อก้าวสู่อนาคตประเทศที่เจริญรุ่งเรือง ก้าวไกลทันโลกและทันยุคสมัย เพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ในชาตินั้น เป็นสิ่งที่น่ายกย่องชื่นชมและสนับสนุน ในอดีตที่ผ่านมาก็มีผู้มีความคิดเช่นนี้มากมาย ที่รวมตัวกันในรูปพรรคการเมือง หรือขบวนการปฏิวัติสังคม และหลากหลายรูปแบบ ได้รับความสำเร็จบ้างหรือล้มเหลวก็มากมาย ทั้งหมดล้วนเป็นบทเรียนแก่คนรุ่นหลังที่คิดจะก้าวเดินตาม

     นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้คิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จนได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทย และได้รับยกย่องให้เป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย และได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่ทั้งนายธนาธรและนายปิยบุตร คิดจะสานภารกิจนั้น ท่านได้กล่าวและให้บทเรียนกับคนไทยและนักการเมืองรุ่นหลังไว้เป็นอุทาหรณ์ ที่น่ารับฟังและควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำคัญ 2 เหตุการณ์ ที่ขอยกมาเป็นบทเรียนฝากพรรคอนาคตใหม่ ดังนี้

     1.นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2489 เป็นคำคมและวาทะสำคัญว่า “ในทางการเมือง การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิป ไตย ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ
มุ่งหวังผลส่วนรวมจริง ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว หรือมีความอิจฉาริษยา อันเป็นมูลฐานเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว (egoism) ความสามัคคีธรรมหรือระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง จึงจะเป็นไปได้”

     ดังนั้นการคิดที่จะปลุกระดมมวลชน ให้ลุกขึ้นมาปกป้องการกระทำผิดของตน ภายใต้คำขวัญทางการเมือง “อยู่-ไม่-เป็น” ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีการถือครองหุ้นสื่อ ของนายธนาธร ในลักษณะที่ไม่แตกต่างอะไรกับทักษิณ ที่ไร้แผ่นดินอยู่ก็ดี หรือการใช้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย โดยมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตัว จึงต้องพึงสำเหนียกไว้ให้ดี กระแสอาจตีกลับรุนแรงกว่าที่คิด จุดจบพรรคอาจซํ้ารอยอดีต

     2. นายปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารเอเชียวีค ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2523 ก่อนถึงอสัญกรรมไม่ถึง 3 ปีไว้ดังนี้

     “ในปี ค.ศ.1925 (พ.ศ.2468) เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปี เท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียวขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้ว และได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วย ให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี ในปี ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ”

     บทเรียนสำคัญของ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ที่เป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมากมาย ทั้งที่ประสบความสำเร็จและความล้มเหลวที่ได้สรุปเป็นบทเรียนแก่ชนรุ่นหลังเช่นนี้

     น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง ควรที่คนหนุ่มๆ อายุยังน้อยอย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จะได้เก็บรับมาเป็บบทเรียนศึกษาสำหรับตนและพรรคอนาคตใหม่ การมีความรู้แต่เพียงในทางตำราหรือตามทฤษฎี แต่ขาดประสบการณ์ในทางปฏิบัติ ไร้ความเข้าใจสภาพการณ์ที่แท้จริงของสังคมไทย และยังอ่อนด้อยประสบการณ์ ขาดความจัดเจนในทางการเมืองแล้ว ย่อมไม่อาจทำการใหญ่ เปลี่ยนแปลงสังคมไทยชนิดพลิกฟ้าควํ่าแผ่นดินได้ ย่อมยากที่จะประสบความสำเร็จ ยิ่งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ต่างไม่เข้าใจว่า พวกคุณพรรคอนาคตใหม่ จะพาประเทศไทยก้าวเดินไปทางใดแน่ ยิ่งเพิ่มความยากและต้องชนกับกำแพงประชาชนอีกด้วย

     ประเทศไทยเคยมีพรรคการเมือง ที่คิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ หลงใหลอยู่กับตัวเลขคะแนนเสียงที่ได้รับจากการเลือกตั้ง รวมถึงคะแนนที่ซื้อเสียงโกงเลือกตั้ง โกงตัวเลขคะแนน จนทำให้หลงและเหลิงแก่อำนาจ คิดว่าประชาชนยกประเทศให้ตน จึงลุแก่การใช้อำนาจ คิดการใหญ่ถึงขนาดจะสถาปนารัฐไทยใหม่ ตีตนเสมอเจ้า ใช้อำนาจโดยทุจริตชนิดไม่ฟังเสียงใคร เป็นรัฐบาลโคตรโกงและโกงกันทั้งโคตร ครอบงำองค์กรอิสระ แทรกแซงศาล ทำรัฐสภาให้เป็นเพียงตรายาง ที่สุดอำนาจก็ล้มครืนพังทลายลง จนไร้แผ่นดินอยู่ กลายเป็นโมฆะบุรุษ ตราบปัจจุบัน

     อดีตมีไว้ให้ศึกษา บทเรียนมีไว้ให้จดจำและระมัดระวัง ไม่ให้ทำผิดซํ้าซากซํ้ารอยเดิม ไม่มีความสำเร็จใดๆ ที่จะได้มาแบบฟลุ้คๆ ง่ายๆแค่ชนะเลือกตั้งได้มา 80 เสียง หาใช่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนแต่อย่างใด และหาใช่ชัยชนะที่เด็ดขาดแท้จริง

     พรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคคองเกรสของอินเดีย หรือพรรคประชาธิปัตย์ ใช้เวลาในการสร้างพรรคสร้างศรัทธาสร้างความเชื่อมั่นต่ออุดมการณ์พรรค เชื่อมั่นต่อแนวคิด นโยบาย และการนำของผู้นำพรรคมายาวนานเพียงใด พรรคการเมืองเหล่านั้นจึงจะประสบผลสำเร็จ

     การมุ่งหวังชัยชนะเพียงข้ามคืน เป็นตี๋กร่างในทางการเมือง จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย จึงขอฝากไว้เป็นบทเรียนยังไม่สายหากคิดดีกับบ้านเมือง