คำพิพากษา 'คดีอู่ตะเภา' บรรทัดฐานประมูลงานรัฐ

09 พ.ย. 2562 | 11:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3521 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ย.2562

 

คำพิพากษา 'คดีอู่ตะเภา'

บรรทัดฐานประมูลงานรัฐ

 

     คดีกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้งฯ บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี พร้อมพันธมิตร ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท มีมติไม่รับซองข้อเสนอของกลุ่มซีพีบางรายการ อันประกอบด้วย กล่องที่ 6 และ กล่องที่ 9 เพราะยื่นเกินเวลาที่กำหนด หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้อง นับเป็นคดีสำคัญที่หลายฝ่ายต่างจับตามอง และจะถือเป็นบรรทัดฐานเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

     เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุด ได้มีกำหนดไต่สวนนัดแรก โดยให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายแถลงเหตุผลด้วยวาจาเพิ่มเติม หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือชี้แจงต่อศาลไปแล้ว ซึ่งในส่วนของผู้ฟ้อง คือกลุ่มซีพี โดยน.ส.ปะราลี เตชะจงจินตนา ตัวแทนผู้ฟ้อง ชี้แจงเน้นยํ้าถึงสาเหตุที่ต้องยื่นฟ้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองก่อนหน้า ยืนยันทางกลุ่มซีพียื่นเอกสารการประมูลอย่างครบถ้วนเพราะมีการชำระค่าธรรมเนียมตรวจรับจากคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว

     ทนายกลุ่มซีพี ยํ้าต่อศาลปกครองสูงสุดว่า หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองก่อนหน้า ก็ไม่ได้เครื่องบ่งชี้ว่าจะทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม เพราะทางกลุ่ม ไม่สามารถล่วงรู้ข้อเสนอของอีก 2 กลุ่มได้ ในทางตรงกันข้ามจะทำให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด สมกับเจตนารมณ์ในการเปิดประมูลครั้งนี้

     ขณะที่ พล.ร.ต.เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก ยืนยันถึงสาเหตุที่ต้องตัดสิทธิ์กลุ่มซีพี เพราะยื่นเอกสารบางส่วนเกินเวลาที่กำหนด พร้อมแสดงความกังวลว่าหากศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีนี้ เท่ากับเป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และอาจทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่าต่อไปใครจะมายื่นซองเวลาไหนก็ได้หากให้ผลตอบแทนกับรัฐสูง รวมทั้งอาจเกิดค่านิยมใหม่ ว่าแม้ทำผิดกฎ แต่มีเงินจ้างทนายเก่ง และให้ประโยชน์รัฐมาก ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้งาน เพราะเงินชดเชยความผิดได้

     จากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลางพบว่าในปีงบประมาณ 2561 มีการตั้งงบประมาณสำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง ภาครัฐทั้งหมด 1,001,867.90 ล้านบาท ขณะที่จำนวนโครงการที่จัดซื้อจัดจ้างมีมากถึง 3,524,827 โครงการ นั่นหมายความว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแต่ละปี เกี่ยวข้องกับภาคเอกชนจำนวนมาก ผลการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการยื่นเอกสารเกินเวลาที่กำหนด เพราะคำพิพากษาที่ออกมาจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการประมูลงานที่หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดในอนาคต