สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล(30)

08 พ.ย. 2562 | 11:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3521 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ย.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'

ประวัติศาสตร์การประมูล(30)

 

          ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 224,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของไทยที่มีความล่าช้าในการเซ็นสัญญายาวนานที่สุด

          กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพี และพันธมิตร เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่าคู่แข่งจึงชนะประมูล แต่กว่าจะมีการลงนามกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี

          สัญญาที่จะมีการลงนามกันนั้นเป็นอย่างไร มาติดตามร่างสัญญากันในตอนที่ 30 ซึ่งเป็นเรื่องสัญญาที่แอร์พอร์ตลิงค์ และเกี่ยวพันกับการโอนที่และการย้ายพวงรางรถไฟ อันนี้จะเป็นตัวบอกว่า ส่งมอบไม่ได้รื้อย้ายไม่ทัน “ค่าโง่” ในอนาคตจะอยู่ตรงนี้

          11) เอกชนคู่สัญญาต้องดำเนินการให้ผู้เช่าช่วงและผู้ใช้ประโยชน์พื้นที่สนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯทุกราย(ถ้ามี) ปฏิบัติตามหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน 1) ถึง10) ข้างต้นนี้เช่นเดียวกับเอกชนคู่สัญญาทุกประการ

          12) เอกชนคู่สัญญาจะต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีระบบสาธารณูปโภคและค่าสาธารณูปโภค ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ทั้งหมด เช่น ค่านํ้าประปา ค่าไฟฟ้าและค่าสิ่งแวดล้อม (อาทิ ค่าบำบัดนํ้าเสีย) จนกว่าเอกชนคู่สัญญาจะส่งคืนพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ให้แก่ รฟท. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

          13) เอกชนคู่สัญญาต้องจัดให้มีมาตรการความปลอดภัยซึ่งมีประสิทธิภาพที่ดีภายในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ตลอดระยะเวลาของโครงการฯ อันได้แก่ ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบเตือนภัย ระบบหนีภัย ระบบบรรเทาภัย แผนงานดำเนินการและระบบต่างๆ อื่นใดไม่น้อยกว่าที่กฎหมายไทยและหน่วยงานของรัฐกำหนดไว้ และต้องเพียงพอเหมาะสม กับสภาพพื้นที่และจำนวนผู้ใช้บริการโดยถือเอาความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ

          อนึ่ง อุปกรณ์สำหรับระบบต่างๆ ดังกล่าวต้องเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี และต้องจัดให้มีเส้นทางสัญจร โดยปราศจากสิ่งกีดขวางสำหรับอพยพคนเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอื่นใดและมีบันไดหนีไฟทั้งภายในและภายนอกสิ่งปลูกสร้างอย่างเพียงพอ

          14) กรณีที่เอกชนคู่สัญญามีความประสงค์ขอให้ รฟท. นำสัญญาร่วมลงทุนนี้ไปจดทะเบียนการเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ณ สำนักงานที่ดินที่เกี่ยวข้องให้แก่เอกชนคู่สัญญา เอกชนคู่สัญญาจะต้องแจ้งให้ รฟท.ทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่าสี่สิบห้า (45) วัน โดยเอกชนคู่สัญญาเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียม
ค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งหมดในการจดทะเบียนการเช่าแต่ฝ่ายเดียว

          ทั้งนี้ในกรณีที่มีการจดทะเบียนการเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ หากมีการเลิกสัญญาร่วมลงทุนก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในกรณีดังกล่าว เอกชนคู่สัญญาตกลงที่จะไปจดทะเบียนสิ้นสุดการเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในทันทีที่ รฟท.กำหนด โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมดในการจดทะเบียนสิ้นสุดการเช่าแต่ฝ่ายเดียว และ

          15) เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการเชื่อมต่อข้อมูลทั้งในส่วนฮาร์ดแวร์ (Hardware) ซอฟต์แวร์ (Software) และ Source Code (ถ้ามี) ด้วยค่าใช้จ่ายของเอกชนคู่สัญญาเองในการเชื่อมต่อเทคโนโลยีในการรับส่งข้อมูลในระบบไร้สายหรืออินเตอร์เน็ต หรือระบบอื่นๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตให้แก่ รฟท.เพื่อประโยชน์ในการรับส่งข้อมูลการใช้ประโยชน์

          การเช่าหรือเช่าช่วง การดัดแปลงพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ระหว่างเอกชนคู่สัญญากับ รฟท.ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในห้า (5)วัน นับแต่วันที่เริ่มต้นระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ พร้อมทั้งจะต้องมีการพัฒนา อัพเกรด บำรุงรักษาระบบ หรือเปลี่ยนแปลงระบบให้แก่ รฟท.อย่างต่อเนื่องตลอดไปจนสุดระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯเพื่อประสิทธิภาพที่ดีและเพื่อรองรับการเชื่อมต่อข้อมูล

          (5) งานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ (ก) งานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสัน

          1) การดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสัน

          ก) เอกชนคู่สัญญาจะต้องดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสันให้แล้วเสร็จและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก ถูกต้องและเป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท.ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ มีสภาพปลอดภัยเพียงพอที่จะเริ่มการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของ
โครงการฯ และไม่กระทบต่อสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ของ รฟท.ในพื้นที่ดังกล่าว

          ทั้งนี้ เอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนของงานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสัน ไม่เกินสามร้อยล้าน (300,000,000) บาทถ้วน

          ข) รฟท. มีกรรมสิทธิ์ในวัสดุ อุปกรณ์ เศษเหล็ก หรือทรัพย์สินใดๆ ที่อยู่ในพื้นที่มักกะสันที่เป็นที่ตั้งของสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)2) โดยเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องรื้อย้ายทรัพย์สินดังกล่าวออกจากพื้นที่นั้นไปวางไว้ในพื้นที่ที่ รฟท. กำหนดไว้ซึ่งจะอยู่ห่างจากพื้นที่มักกะสันไม่เกินกว่าระยะทางสิบ (10)กิโลเมตร

          ค) ในระหว่างระยะเวลาการดำเนินการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนของงานสะพานเลื่อนย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสันให้นำข้อ 15.1(3)(ก)และ(ข) มาใช้บังคับโดยอนุโลมเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของ รฟท. และเอกชนคู่สัญญาในการดำเนินการและการตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าว

          ง) ในการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสันเอกชนคู่สัญญาจะระมัดระวังมิให้การดำเนินงานข้างต้น ส่งผลกระทบต่อโครงการอื่นหรือการให้บริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ

          2) การเริ่มต้นการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯในส่วนงานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสัน

          ก) ในวันเริ่มต้นระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนแรกตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)1) รฟท. จะส่งมอบสิทธิครอบครองในพื้นที่มักกะสันที่เป็นที่ตั้งของสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)2)ให้แก่เอกชนคู่สัญญาเพื่อดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสันตามที่กำหนดไว้ในข้อนี้เท่านั้น โดยจะต้องดำเนินงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยมีสภาพสมบูรณ์สามารถใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงปลอดภัย ภายในห้า (5)ปี นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนแรกตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)1)

          ข) เมื่อ รฟท. พิจารณางานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสันแล้วเห็นว่างานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสันแล้วเสร็จ ถูกต้องและเป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท. ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ มีสภาพปลอดภัยเพียงพอที่จะเริ่มใช้งานและโครงการอื่นที่เกี่ยวข้อง รฟท. จะออกหนังสือรับรองการก่อสร้างงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสัน ซึ่งจะกำหนดวันที่เริ่มต้นการเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนที่เหลือตามข้อ 16.1(1)(ข)2) ภายในสามสิบ (30)วัน นับจากวันที่ รฟท. ออกหนังสือดังกล่าว

          ค) คู่สัญญาตกลงให้นำข้อ 15.1(3)(ค) มาใช้บังคับโดยอนุโลมเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของ รฟท. และเอกชนคู่สัญญา ในการตรวจสอบความแล้วเสร็จของการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสัน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (29)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (28)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (27)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (26)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (25)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (24)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (23)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (22)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (21)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (20)