52ปีของอาเซียน ฤาจะสูญเสียไปกับ มายาคติและกับดักนโยบายการค้าเสรี (จบ)

06 พ.ย. 2562 | 06:45 น.

 

บทความโดย : ดร.ไพทัน ตระการศักดิกุล หัวหน้าคณะวิจัย, กัญชญา จุฑามณี, ตระการ ไตรพิเชียรสุข, คณึงลักษณ์ สุขขีนัง, ชญานนท์ เจริญชัยพงศ์, พิชญ์ คุ้มแคว้น คณะผู้ช่วยวิจัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,520 วันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2562

 

ข้อเสนอแนะ 1. การรวมกลุ่ม ASEAN ก็เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจร่วมที่เข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองกับกลุ่มการค้าอื่น และมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้มีความเข้มแข็ง ข้อตกลงและแนวนโยบายเศรษฐกิจทั้งกับประเทศภายในกลุ่มและกลุ่มประเทศภายนอกกลุ่ม จึงไม่จำเป็นต้องเป็นนโยบายการค้าปลอดภาษี Free Trade Agreement แต่ควรเป็น Fair Trade Agreement คือ นโยบายภาษีการค้าที่ไม่ทำลาย และคำนึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศภาคีสมาชิก (โดยอาจจะเป็น Free Trade Agreement เป็นรายอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันสูง) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ASEAN ไม่ควรใช้ Free Trade Agreement โดยปราศจากการไตร่ตรอง มิฉะนั้นผลประโยชน์จะตกอยู่กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในระดับประเทศ และประเทศที่มีความเข้มแข็งกว่าในระดับภูมิภาค

โดย SMEs ที่เป็นหน่วยธุรกิจ ส่วนใหญ่และหัวใจหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจ มักจะได้รับผลกระทบทางลบมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ Free Trade Agreement ก็สามารถเป็น Fair Trade Agreement ได้ในกรณีที่คู่สัญญามีระบบเศรษฐกิจ หรือหน่วยธุรกิจของแต่ละประเทศ มีความเข้มแข็ง และความฉลาดรอบรู้สูงใกล้เคียงกัน

2. เหล่าผู้นำประเทศภาคีสมาชิกอาเซียนควรตระหนักว่า การหลอมรวม ASEAN ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน กลุ่มประเทศภาคีสมาชิกในกลุ่ม ASEAN ควรร่วมกันสร้างเสริมมีองค์ความรู้ (ทั้งในทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และการเมือง) ที่มีมาตรฐานสูง เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับสากล และระดับ (ชั้นนำของ) โลกในปริมาณที่มากพอในแต่ละหัวข้ออย่างสมดุล ทั้งในระดับนโยบาย-เป้าหมาย, หลักการ-แนวทาง  และแผนการ-วิธีการ อันเป็นพื้นฐานให้เกิดความทัดเทียมและ ความเชื่อถือซึ่งกันและกัน ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสวงหาข้อตกลงร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และฉลาดรอบรู้ในระบบเศรษฐกิจร่วมกันอย่างเหมาะสมเป็นธรรม

 

52ปีของอาเซียน ฤาจะสูญเสียไปกับ  มายาคติและกับดักนโยบายการค้าเสรี (จบ)
 

 

อันนำไปสู่การดำเนินการโดยสมัครใจอย่างเต็มกำลังตามผลการประชุม ASEAN ทั้งในระดับสุดยอด, รัฐมนตรี และระดับผู้เชี่ยวชาญอาวุโส และพึงตระหนักว่า การหลอมรวมในมิติต่างๆ ที่ขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องเพียงพอมารองรับ จะเป็นการหลอมรวม ที่ไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์เท่าที่ ควรและอาจก่อให้เกิดโทษอย่างคาดไม่ถึง หรือแม้กระทั่งเป็นการหลอมรวมที่หลงผิด

3. การแก้ไขและพัฒนาเศรษฐกิจไทยไม่ควรจำกัดอยู่ เฉพาะในกรอบภูมิปัญญาของนักวิชาการ/นักวิจัยไทยเท่านั้น แต่ควรจะได้ปรับใช้ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ จากกรอบภูมิปัญญาของนักวิชาการ/นักวิจัยอาเซียนด้วย เช่น การจัดการเมือง และระบบการเงินการธนาคาร ของ สิงคโปร์, การแก้ไขปัญหาความยากจนของมาเลเซีย, การจัดการกับภัยธรรมชาติ ของเวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นต้น และเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักข้อตกลงการค้าเสรีเทียม และสร้างข้อตกลงการค้าที่เป็น(รูป)ธรรม ประเทศไทยควรเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดให้มีการทำวิจัยร่วมกันระหว่างประเทศภาคีสมาชิกอาเซียนในกลุ่ม CLMVT ได้แก่ ข้อตกลงกฎหมายทางการค้าและระเบียบพิธีการทางศุลกากรที่เหมาะสมเป็นธรรมกับ SMEs ในทุกกลุ่มพิกัดศุลกากรที่มียอดการค้าระหว่างกันสูงในกลุ่มประเทศ CLMVT ทั้ง On-line และ Off-line เป็นต้น

4. รัฐบาลทุกประเทศภาคีสมาชิกอาเซียน ควรจัดตั้งเวที สานเสวนา ระหว่างตัวแทนภาครัฐ-ภาคเอกชน, นักวิชาการ, ตัวแทนประชาชน ผู้มีส่วนได้-เสีย โดยเผยแพร่ผ่านสื่อหลายแขนง ในหัวข้อ/ประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยรัฐมีบทบาทในการประสาน-สร้างสรรค์-สรุป ข้อคิดเห็น-หลักการของนักวิชาการและข้อมูล เหตุการณ์ เหตุผล และความจำเป็นของผู้ประกอบการ และประชาชนผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย เพื่อนำไปเป็นเกณฑ์-เงื่อนไข ประกอบการพิจารณาตกลง ในนโยบาย หลักการในการประชุมอาเซียนระดับรัฐมนตรี และในการดำเนินการในการประชุมอาเซียนระดับผู้เชี่ยวชาญอาวุโส

 

5. ควรปลูกฝังค่านิยมในการทำวิจัยให้แก่ประชาชน ตั้งแต่ระดับประถม-มัธยม โดยเริ่มจากสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น ทำอย่างไรจึงจะพัฒนา ครอบครัว-โรงเรียน-ชุมชนรอบตัว ให้ดีขึ้นโดยระดับประถม ให้เน้นการปลูกฝังจิต สำนึกให้รักครอบครัว และชุมชน เป็นหลัก ในระดับมัธยม ให้มีขั้นตอน ในการตั้งปัญหา, การพิจารณาให้มองเห็น อุปสรรค-จุดด้อย/โอกาส-จุดแข็ง เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการแก้ไขที่เหมาะสม และให้นำเสนอหน้าห้องและประกวดในระดับอำเภอและระดับจังหวัด เป็นต้น

และในระดับอุดมศึกษาให้เพิ่มแรงจูงใจในการทำวิจัยให้แก่ นักศึกษาในการทำวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ในระดับจังหวัด ภาค และประเทศสำหรับนักวิชาการ-อาจารย์ในทุกระดับจนถึงระดับอุดมศึกษา ควรสนับสนุนให้สร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับโลก ที่ได้รับการรับรองจาก ISI1 หรือแนวหน้าของโลก (อยู่ใน Q1-Q2 หรืออันดับที่ 1-84 และ 85-168 ในทำเนียบวารสารของ ISI) โดยจัดให้มีค่าตอบ แทน (หากงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์) มากกว่าค่าจ้างทำวิจัยของบริษัทรับจ้างทำวิจัย และของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เป็นต้น

 

International Scientific indexing ที่มีการกำหนดค่า impact factor ให้แก่วารสารที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก จำนวนทั้งสิ้น 332 วารสาร