ถึงคิวพระรอง!  เร่งประมูลมิกซ์ยูสหมื่นล้าน สถานีกลางบางซื่อ

04 พ.ย. 2562 | 10:42 น.


คอลัมน์ : ตื้น-ลึก-หนา-บาง
โดย     : เรดไลอ้อน

หลังประวัติศาสตร์หน้าใหม่ บันทึกไว้เรียบร้อยกับการลงนามกดปุ่มสตาร์ตเครื่อง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อู่ตะเภา –สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกลุ่มพันธมิตรเจ้าสัวซีพีอย่างเป็นทางการ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เท่ากับพระเอกของโครงการอีอีซี เดินหน้าเรียบร้อยโรงเรียน “บิ๊กตู่” และยังถือเป็นการคิกออฟโครงการ อีอีซี อย่างเป็นทางการ

ถึงคิวพระรอง!  เร่งประมูลมิกซ์ยูสหมื่นล้าน สถานีกลางบางซื่อ

ทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ แม้ว่าเบื้องหลังของความสำเร็จสเต็ปแรกจะเต็มไปด้วยขวากหนามมากมายก็ตาม  แต่ในที่สุดโครงการ 2.2 แสนล้านบาทหัวใจหลักของอีอีซีได้เริ่มเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ตามความตั้งใจของรัฐบาล ที่ผลักดันกันมาข้ามปี หลังจากนี้ รฟท.ก็ต้องหันมาให้ความสำคัญของโครงการที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงที่จะตามมาติด ๆ ก็คือ โครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อมูลค่าร่วมหมื่นล้านบาท

โดยรฟท.ได้งัดที่ดินแปลง A สถานีกลางบางซื่อ จำนวน 32 ไร่ เพื่อเปิดทางให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมทุนภายใต้ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ  (พีพีพี)  มูลค่า 11,721 ล้านบาท ซึ่งได้เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลรอบแรกไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 

รอบแรกบิ๊กทุนเมิน

แต่ผลปรากฏว่าไร้เงาเอกชนมายื่นซอง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีทุนใหญ่เข้ามาซื้อซองประมูล  ได้แก่ กลุ่มบมจ. เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.ช.การช่าง และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)  และบจ.Urban Renaissance Agency รัฐวิสาหกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจากญี่ปุ่น 

ถึงคิวพระรอง!  เร่งประมูลมิกซ์ยูสหมื่นล้าน สถานีกลางบางซื่อ

เหตุที่บิ๊กทุนรายใหญ่ไม่มีรายใดยื่นซองประมูล เพราะคงมองแล้วไม่คุ้มทุนผู้โดยสารช่วงแรกน้อยเพราะมีเพียงรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่จะให้บริการเท่านั้น  อีกเงื่อนไขอื่นๆ ดูไม่เอื้อกับการลงทุน  แต่ถ้าหากยิ่งล่าช้าก็จะเป็นปัญหากับการเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่จะเปิดให้บริการราวเดือนมกราคม 2564 
 
ก่อนหน้านั้นรฟท.จะมีการทำมาร์เก็ตซาวดิ้งหลายครั้งนับไม่ถ้วน และแต่ละครั้งก็มีทุนใหญ่ ทั้งนักลงทุนในประเทศ กลุ่มเซ็นทรัล เดอะมอลล์  กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่  บริษัทข้ามชาติสถาบันการเงินให้ความสนใจเข้ารับฟังกันแน่นขนัด แต่สุดท้ายประมูลครั้งแรกกลับไม่มี นักลงทุนรายใดยื่นซองเข้าประมูล  สะท้อนให้เห็นชัดว่า เงื่อนไขต่าง ๆ ยังไม่เอื้อแก่การลงทุน 

 

 

 

ปรับเงื่อนไขเอื้อลงทุน 

คณะกรรมการคัดเลือกจึงต้องกลับมาตั้งหลักขบคิดกันใหม่ ปรับเงื่อนไขให้เอื้อแก่การลงทุน ประเมินแล้วหลัก ๆ มีอยู่หลายประการ ที่เป็นเหตุให้ภาคเอกชนยังไม่สนใจลงทุน และต้องการให้ปรับเงื่อนไขใหม่ อาทิ

ถึงคิวพระรอง!  เร่งประมูลมิกซ์ยูสหมื่นล้าน สถานีกลางบางซื่อ

1.    อายุสัมปทาน อาจจะขยายไปถึง 60 ปี จากเดิม 33 ปี
2.    การเชื่อมถนนเพื่อเพิ่มจราจรให้เชื่อมกับทางด่วน
3.    อาจซอยพื้นที่ให้เล็กลง แบ่งพื้นที่เปิดประมูลแปลงย่อยเพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนา
4.    ปัญหาส่งมอบพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาคล้ายกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เอกชน “ยื้อ”ไม่ยอมเซ็นสัญญาเพราะความไม่ชัดเจนของไทมิ่งในการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการก่อสร้างและอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทขึ้นภายหลังนำไปสู่การเสีย “ค่าโง่” ซ้ำซาก 

เร่งเปิดรองรับสายสีแดง 

ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ รฟท.ต้องไปทำการบ้านให้หนักกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการเคลียร์พื้นที่และอพยพผู้บุกรุก ทั้งท่อน้ำมัน ผู้บุกรุก และอื่น ๆ ทั้งหมดจะมีการหารือเพื่อให้เกิดแรงจูงใจให้เอกชนสนใจในการเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง ซึ่งการแบ่งเฟสแรกที่มีขนาดเล็กลงเพื่อเร่งให้เกิดการลงทุน

ถึงคิวพระรอง!  เร่งประมูลมิกซ์ยูสหมื่นล้าน สถานีกลางบางซื่อ

เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักเดินทาง อาทิ ช็อปปิ้งมอลล์ ร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ให้พร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการถไฟสายสีแดง(ช่วงบางซื่อ-รังสิตและช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) ที่ขณะนี้ได้เตรียมเปิดบริการในปี 2564 ซึ่งขณะนี้ ขบวนรถชุดแรกจากโรงงานฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่นได้ส่งตรงถึงโรงซ่อมบำรุงบางซื่อแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 

ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งผลักดันโครงการนี้ให้เกิดโดยเร็ว เพื่อให้ทันกับการเปิดบริการรถไฟสายสีแดง และอนาคตเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมความเป็นศูนย์กลางของระบบขนส่งทางรางแห่งใหม่ของประเทศ