บทเรียนเหมืองทองอัครา

02 พ.ย. 2562 | 13:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3519 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-6 พ.ย.2562


บทเรียนเหมืองทองอัครา

 

     การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือแนวทางการต่อสู้คดีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)

     ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการฟ้องร้องรัฐบาลไทย ใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 โดยไม่เป็นธรรม

     โดยนายสุริยะได้เสนอทางออก 4 ข้อให้ที่ประชุมครม.รับทราบ ประกอบด้วย 1.จ่ายเงินให้กับ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แล้วให้เลิกกิจการไป 2.ดำเนินการตามข้อเสนอของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะช่วยให้อาจไม่ต้องจ่ายเงิน 3. รอผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ แล้วปฏิบัติตาม และ 4. หาช่องจ่ายเงินค่าปรับบางส่วนแล้วให้บริษัทกลับมาดำเนินกิจการต่อ แม้ว่าที่ประชุมครม.ยังไม่สรุปว่าจะหาทางออกในเรื่องนี้อย่างไร แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ระบุอย่างชัดเจนกลางที่ประชุมครม.ว่า “ผมรับผิดชอบเอง เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น”

 

     หากย้อนกลับไปจะพบว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ของรัฐบาล มีจุดประสงค์หลักคือการคุ้มครองประชาชนจากผลกระทบด้านสุขอนามัยที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2550 หลังมีกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาร้องเรียนต่อรัฐบาลในขณะนั้นว่าได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ แต่ในระหว่างที่ภาครัฐอยู่ระหว่างตรวจสอบ ในปี 2551 กลับมีการอนุมัติสัมปทาน “เหมืองทองคำชาตรีเหนือ” ให้กับ บมจ.อัครา จนถึงปี 2571 เพิ่มเติม ต่อมาปรากฏว่ามีชาวบ้านมีปัญหาทางสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยมีการตรวจสอบพบสารแมงกานีสและสารไซยาไนต์ในร่างกายเกินมาตรฐาน

     อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช. ที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองตามมาในวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ ระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 นับเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้ฝั่งคิงส์เกต หยิบยกมาใช้ในการต่อสู้คดีระหว่างประเทศ เพราะมาตรา 44 เป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักกฎหมายสากล จนอาจทำให้รัฐบาลไทยต้องจ่ายชดเชยค่าเสียหายจำนวนมาก แต่รัฐบาลเองก็ยังมีโอกาสชนะคดีถ้าพิสูจน์ได้ว่าการขุดเหมืองแร่ทองคำส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และร่างกายของประชาชนในพื้นที่ เพราะตามกรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า รัฐบาลอาจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยกับสมาชิกภาคีได้ ถ้าหากมีความจำเป็น เพื่อปกป้องชีวิต สุขอนามัยของมนุษย์ สัตว์ และพืช