เมื่อ "ทรัมป์" ตบหน้า ไทย-อาเซียน

01 พ.ย. 2562 | 07:39 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3519 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-6 พ.ย.2562 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

เมื่อ "ทรัมป์"
ตบหน้า
ไทย-อาเซียน

 

     ทําเนียบขาวออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม2562 ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มอบหมายให้นายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ และนายวิลเบอร์ รอสส์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ นำคณะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลวอชิงตัน เยือนกรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายนเพื่อเข้าร่วมการประชุมสหรัฐฯ-อาเซียน และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) 

     โดยปกติการประชุมทั้ง 2 รายการนี้เป็นวงการประชุมสำคัญระหว่างสหรัฐฯ-อาเซียน ที่จะผนึกกำลังเดินไปข้างหน้าและเป็นวงที่สหรัฐยื่นมาเกาะเกี่ยวกับอาเซียนเพื่อถ่วงดุลกับจีนไม่ให้มีอิทธิพลต่อภูมิภาคสูงเกินไป 

     ปกติประธานาธิบดีสหรัฐฯมักจะให้ความสำคัญสูงสุด เดินทางเข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง หรือถ้าติดขัดภารกิจสำคัญจริงๆ ที่ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศหรือเข้าร่วมประชุมได้ สหรัฐฯ จะส่งรองประธานาธิบดีเข้าร่วมประชุมแทน

     แต่คราวนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีโดยตรง ในการไม่เข้าร่วมประชุมและยังไม่แม้กระทั่งส่งรองประธานาธิบดีมาแทนด้วยซํ้า แต่กลับส่งเบอร์ 3 เบอร์ 4 มาประชุมแทน แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญ ให้เกียรติ สนใจ ใส่ใจกับอาเซียน รวมทั้งไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพแต่อย่างใด

     ทั้งที่การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งนี้มีโอกาสที่จะได้หารือความคืบหน้าด้านการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การค้าดิจิทัล หรือประเด็นที่ยังคั่งค้างอื่นในการประสานประโยชน์ 2 ฝ่ายในด้านการค้าและเศรษฐกิจ กระทั่งประเด็นยากๆที่ต้องตัดสินใจในระดับผู้นำ

     “ทรัมป์กลับขว้างทิ้งโอกาสนั้นไป หรืออาเซียนในสายตาของทรัมป์ เป็นแค่ประเทศลูกไล่จะกวักมือเรียกมาเมื่อไหร่ก็ได้กระนั้นหรือ”

     ทรัมป์คงลืมหรือแกล้งลืมหรืออาจมองข้ามไม่ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ Free and Open Indo-Pacific ที่เป็นยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯต่ออาเซียนและแปซิฟิก

     ในความทรงจำที่คลับคล้ายคลับคลา การประชุมระหว่างประเทศระดับผู้นำหรือซัมมิทแบบนี้ ย้อนไปคราวการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกที่โอซากา ญี่ปุ่นครั้งต้นๆของเวทีผู้นำ ประธานาธิบดีบิลคลินตัน ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ ส่งรองประธานาธิบดี อัล กอร์มาแทน ข้างเวทีนั้นเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นที่ประชุมถึงกับกุมขมับว่าจะให้ อัล กอร์ เข้าประชุมผู้นำหรือไม่  แต่ในที่สุด อัล กอร์ ก็ได้ทำหน้าที่แทนคลินตันในทุกวาระ เป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่เล่าให้ฟัง ว่าทำไมต้องถกกัน กะอีแค่ให้ผู้แทนมาร่วมประชุม แต่พิธีการก็เป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนการประชุม

     คราวนี้ไทยในฐานะเจ้าภาพและประธานอาเซียนก็จำต้องร่วมกับเลขาธิการอาเซียนพิจารณาดีไซน์การประชุมอาเซียน-สหรัฐฯครั้งนี้ออกมาอย่างไร อาจไม่จำเป็นที่ต้องใช้เวทีระดับผู้นำอาเซียน ในการหารือกับสหรัฐฯก็ได้ อาจให้ไปหารือกับระดับรัฐมนตรีก็ได้ 

     จริงอยู่ที่โรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาความมั่นคงเป็นผู้ที่มีบทบาทและป้อนข้อมูลสำคัญมีผลต่อการตัดสินใจหลายเรื่องสำคัญของทรัมป์และสหรัฐฯ

     จริงอยู่ที่วิลเบอร์ รอสส์ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ จะเชี่ยวกรากในด้านการค้าเป็นขุนพลสำคัญของทรัมป์ได้ปรับความวางใจมาก
กว่าสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ 

     แม้จะใกล้ชิดแต่ยังเป็นวงแถวที่มีระยะห่างจากประธานาธิบดีอยู่ดี เป็นเบอร์ 3-4 หรือกระทั่งเบอร์ 5 อยู่ดี หากจับมายืนต่อแถวเรียงกัน

     เมื่อทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญ อาเซียนจำต้องทบทวนบทบาท ท่าทีและยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ เมื่อไม่ให้ความสำคัญ อาเซียนยิ่งต้องผนึกกำลังอย่างแข็งแกร่ง 

     อาเซียนจำต้องสร้างและให้นํ้าหนักการประชุมผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจาอื่นให้โดดเด่นขึ้นมา กระทั่งอาเซียนกับเอเชียตะวันออก ที่ต้องประกาศความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและมีความก้าวหน้า 

     ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่าสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ พร้อมฉีกกระชากทุกอย่าง ไม่สนใจใคร หากทำแล้วตนเองไม่ได้ประโยชน์

     อาเซียนจึงต้องไม่แตกแถวไปยืนเดี่ยวกับสหรัฐฯ เพราะนั่นจะทำให้ถูกกลืนหายไป แต่ต้องรวมตัวที่แน่นเหนียวเพื่อให้เสียงพูดดังขึ้นและทรัมป์ต้องเงี่ยหูมาฟัง

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานอาเซียน จำต้องแสดงให้เห็น

     เลิกหน่อมแน้ม เป็นลูกไล่อเมริกาตะพึดตะพือ !!!