สร้างรั้วบน  ‘พื้นที่รอยต่อ’ ระหว่างที่ดินเอกชนกับถนนสาธารณะ!

03 พ.ย. 2562 | 02:25 น.

คอลัมน์ อุทาหรณ์ จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,519 วันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2562

 

คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครองฉบับนี้... เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการสร้างรั้วบนพื้นที่รอยต่อของถนน กรณีที่เจ้าของที่ดินได้ยินยอมให้เทศบาลก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กบนที่ดินของตนเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์เป็นเส้นทางลัด แต่ต่อมาเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวได้สร้างรั้วเหล็กบริเวณพื้นที่รอยต่อของถนนปิดกั้นหน้าที่ดินของผู้อื่น ทำให้ไม่สามารถใช้ถนนผ่านเข้า-ออกที่ดินได้ดังเดิม โดยอ้างว่าพื้นที่รอยต่อดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของตนที่ได้ให้เทศบาลสร้างถนน จนกลายเป็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลปกครองในที่สุด...

โดยเจ้าของที่ดินที่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถใช้ถนนในการสัญจรได้ยื่นฟ้องนายกเทศมนตรีที่ไม่ทำการรื้อถอนรั้วดังกล่าวออกเพื่อให้ตนกลับมาใช้ถนนได้เหมือนเดิม

คดีนี้... มีประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ การที่หน่วยงานของรัฐปล่อยให้เจ้าของที่ดินสร้างรั้วปิดกั้นการสัญจรดังกล่าวบริเวณพื้นที่รอยต่อที่พิพาท เป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือไม่?

มาดูเรื่องราวของคดีกันก่อนครับ คดีนี้นายศักดิ์ ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ทำหนังสืออนุญาตหรือยินยอมให้เทศบาลก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กในที่ดินของตนเอง เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์เป็นเส้นทางลัดในการดับเพลิง หรือนำคนป่วยส่งโรงพยาบาล ซึ่งเทศบาลได้ก่อสร้างถนนใช้งบประมาณของราชการ ขนาดถนนกว้าง 3 เมตร ยาว 197 เมตร โดยเว้นช่องว่างระหว่างถนนกับที่ดินบริเวณข้างเคียงทั้งฝั่งซ้ายและขวาของถนน มีระยะห่างประมาณ 30 เซนติเมตร

ต่อมานายศักดิ์ได้สร้างรั้วเหล็กในที่ดินส่วนที่เป็นช่องว่างระหว่างถนนกับที่ดินของนางศรี โดยอ้างว่าสร้างในที่ดินของตนเอง ซึ่งรั้วเหล็กได้ปิดกั้นทางเข้าถนนบริเวณหน้าที่ดินของนางศรี นางศรีได้ร้องเรียนต่อนายกเทศมนตรี แต่ไม่ได้มีการดำเนินการใด เพราะเห็นว่านายศักดิ์ได้สร้างรั้วในที่ดินของตนเอง นางศรีจึงยื่นฟ้องนายกเทศมนตรีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้รื้อถอนรั้วเหล็กออกจากที่ดินบริเวณดังกล่าว

 

 

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าถนนคอนกรีต เสริมเหล็กได้ก่อสร้างในที่ดินที่นายศักดิ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และได้อนุญาตให้นายกเทศมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ก่อสร้างถนน โดยใช้งบประมาณของราชการ เพื่อประโยชน์ใช้เป็นเส้นทางลัดดับเพลิง และเมื่อมีคนเจ็บป่วยจะได้นำคนป่วยส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที จึงเป็นที่ดินที่เจ้าของแสดงเจตนาอุทิศที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยที่ไม่ต้องจดทะเบียนการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ประกอบกับเมื่อพิจารณาบันทึกแสดงเจตนาอุทิศที่ดินของนายศักดิ์ มีข้อความยินยอมให้เทศบาลก่อสร้างถนนผ่านที่ดินของตน เพื่อประโยชน์ใช้เป็นเส้นทางดับเพลิงและเมื่อมีคนเจ็บป่วยจะได้นำคนป่วยส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาอุทิศที่ดินให้นายกเทศมนตรีทำการสร้างถนนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจรที่ต้องอพยพประชาชน เมื่อมีภัยพิบัติฉุกเฉินและนำอุปกรณ์กู้ภัยหรือระงับภัยพิบัติเข้าออกได้สะดวก อันเป็นการแสดงเจตนาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากถนนเป็นทางเข้าออกได้

ถนนดังกล่าวจึงต้องเปิดหรือยินยอมให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยใน บริเวณพื้นที่ที่ติดกับถนนทั้ง 2 ฝั่งเข้าไปใช้ หรือเป็นทางสัญจรได้ โดยหากนายศักดิ์ ไม่มีเจตนาจะอุทิศให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้ประโยชน์แล้ว นายกเทศมนตรีย่อมไม่สามารถนำงบประมาณของทางราชการมาสร้างถนนเพียงเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ และเชื่อว่ากรณีที่นายกเทศมนตรีได้เว้นช่องว่างระหว่างถนนกับที่ดินของนางศรี ก็เพื่อมิให้มีปัญหาเกิดการรุกลํ้าที่ดินข้างเคียงในระหว่างการก่อสร้างมิใช่มีเจตนาให้ที่ดินในระหว่างช่องว่างดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของนายศักดิ์

 

นอกจากนี้ รั้วเหล็กดังกล่าวได้ตั้งอยู่บนที่ดินฝั่งตรงข้ามถนนติดกับที่ดินของนางศรี มิได้กั้นแสดงอาณาเขตที่ดินหรือเพื่อป้องกันภัยอันเป็นไปตามทางปฏิบัติของเจ้าของที่ดินทั่วไป จึงต้องรับฟังว่าที่ดินบริเวณรอยต่อระหว่างขอบถนนถึงที่ดินของนางศรี ประมาณ 30 เซนติเมตร มีการอุทิศให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ที่ดินส่วนที่พิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน นายศักดิ์จึงไม่มีสิทธิยึดถือและก่อสร้างรั้วเหล็กกั้นหรือกระทำการใดอันเป็นการจำกัดสิทธิในการใช้ทางสาธารณะ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

เมื่อนายกเทศมนตรีซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาที่สาธารณสมบัติ ของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว แต่ไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อให้นายศักดิ์รื้อถอนรั้วเหล็ก จึงเป็น การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ . 410/2562)

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัด ฐาน กรณีเจ้าของที่ดินซึ่งได้ยินยอมหรืออนุญาตให้ทางราชการทำถนนเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยใช้งบประมาณของทางราชการ ย่อมถือเป็นการอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะหรือที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งรวมถึงช่องว่างที่เว้นไว้ระหว่างถนนกับที่ดินข้างเคียง โดยไม่จำต้องมีการจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ และไม่อาจก่อสร้างรั้วปิดกั้นหน้าที่ดินของผู้อื่นเพื่อมิให้เข้ามา ใช้ประโยชน์ในถนนที่เป็นทางสาธารณะดังกล่าวได้

การที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการรื้อถอนรั้วจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร...ครับ

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)