จุดจบของ ‘Halloween Brexit’

03 พ.ย. 2562 | 02:20 น.

 

คอลัมน์ รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,519 วันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2562

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องการแยกตัวของ UK จาก EU มีผลให้มีการฟ้องร้องการดำเนินการของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ในการใช้สิทธิปิดประชุมสภาผู้แทนฯ (Prorogation) หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเพื่อให้สภาผู้แทนฯหยุดการทำงานเป็นการชั่วคราว ไปจนกว่าจะมีการกล่าวเปิดประชุมสภาฯ อย่างเป็นทางการจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในวันที่ 14 ตุลาคม 2562 เสียก่อน

หลังจากการตัดสินใจดังกล่าวประชาชนในประเทศได้ออกมาเรียกร้องถามหาประชาธิปไตย อย่างที่ได้เคยเขียนไว้ในบทความครั้งก่อน สิ่งที่หน้าสนใจในเรื่องนี้คือ การฟ้องคดีเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคดีที่มีการฟ้องร้องทั้งในประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์ โดยศาลฎีกาของสกอตแลนด์พิพากษาว่าการกระทำของนายบอริส จอห์นสัน นั้นขัดต่อกฎหมาย ในขณะที่ผู้พิพากษา High Court ในลอนดอน ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นพิพากษาว่าศาลไม่สามารถที่จะเข้าไปตัดสินเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองได้

เมื่อคดีดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาอังกฤษ Baroness Hale of Richmond ในฐานะประธานศาลฎีกา (ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในประวัติศาสตร์อังกฤษ) ได้เปิดให้มีการพิจารณาในศาล 3 วัน และอนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดตลอดการพิจารณา โดยในคำพิพากษาฎีกาของอังกฤษ ได้พิพากษากลับคำพิพากษาของ High Court

 

จุดจบของ  ‘Halloween Brexit’

Baroness Hale of Richmond

 

มีประเด็นที่น่าสนใจในคดีนี้คือ การที่ทนายของฝ่ายรัฐบาลได้ยกข้อต่อสู้ว่าภายใต้การปกครองที่มีการแบ่งแยกอำนาจเด็ดขาดจากกัน ที่ประกอบไปด้วยอำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการนั้น ศาลไม่มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจของอำนาจตุลาการมาก้าวก่ายเรื่องการเมืองซึ่งในคำพิพากษาส่วนนี้ศาลได้อธิบายเหตุผลที่ทำให้ศาลมีสิทธิที่จะเข้ามามีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้ได้อย่างชัดเจน โดยศาลได้ให้เหตุผลเป็นลำดับ

ประเด็นแรกศาลพิจารณาเรื่องการที่นายกฯ บอริส จอห์นสัน ใช้สิทธิหยุดการทำงานของสภาผู้แทนฯ ว่า ในประวัติศาสตร์การกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ในการดำเนินการในครั้งที่ผ่านๆ มานั้น เป็นการหยุดการทำงานของสภาผู้แทนฯ ในระยะสั้นๆ ประกอบกับมีการให้เหตุผลของการสั่งหยุดการทำงานของสภาผู้แทนฯ ซึ่งต่างจากกรณีที่นายกฯจอห์นสันทำ เพราะนี่เป็นการสั่งหยุดการทำงานนาน ถึง 5 สัปดาห์

ทั้งที่ประเทศอยู่ในช่วงที่สภาผู้แทนฯ จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการแยกตัวออกจาก EU โดยเฉพาะหน้าที่หลักในการพิจารณาผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากรอให้มีการเปิดสภาฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 ตุลาคม 2562 สภาผู้แทนฯจะเหลือระยะเวลาในการทำงานเรื่องสำคัญนี้เพียง 17 วันเท่านั้น โดยคำสั่งนี้รัฐบาลก็ไม่ได้มีการให้เหตุผลว่าทำไมถึงต้องใช้ระยะเวลาในการหยุดการประชุมสภาฯนานถึงขนาดนั้น


 

 

ประเด็นที่สำคัญศาลได้ยกประเด็น ข้อต่อสู้ของฝ่ายรัฐบาลมาเป็นเหตุผลในคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า เนื่องจากการปกครองมีการแบ่งแยกอำนาจเด็ดขาดจากกันตามที่ทนายฝ่ายรัฐบาลกล่าวอ้าง ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายบริหาร มีอำนาจสั่งหยุดการประชุมสภาผู้แทนฯ เป็นการชั่วคราว ถือเป็นการที่ฝ่ายรัฐบาลก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แม้ว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับให้ทำได้ตั้งแต่ในอดีต แต่การใช้อำนาจนี้แค่ไหน

เพียงไรจึงจะเหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่ศาลมีอำนาจที่จะเข้ามาพิจารณาได้ตามหลักในรัฐธรรมนูญ

 

จุดจบของ  ‘Halloween Brexit’

 

ซึ่งคดีนี้สุดท้ายศาลฎีกาของทั้งอังกฤษและสกอตแลนด์พิพากษาว่า คำสั่งหยุดการประชุมของสภาผู้แทนฯ ชั่วคราวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสั่งให้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ ตามปกติต่อไป

เรื่องนี้อาจจะทำให้ผิดแผนที่นายกฯ จอห์นสันวางไว้ เพราะจริงๆ แล้วนายกฯจอห์นสัน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่ม ของคนที่ต้องการให้ UK แยกตัวจาก EU (Brexiteers) ต้องการทำทุกวิถีทางที่จะให้มีการแยกตัวในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 แต่เมื่อไม่เป็นไปตามแผนนายกฯจอห์นสัน จึงรีบทำการเจรจากับ EU ต่อ และสุดท้ายก็ได้ข้อตกลงที่ฝ่ายรัฐบาล UK และประเทศสมาชิกใน EU รับได้

 

จุดจบของ  ‘Halloween Brexit’

 

แต่หากพิจารณาข้อตกลงแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นไปได้ยาก ที่เมื่อนายกฯจอห์นสัน นำข้อตกลงที่ได้มานี้เข้าสู่สภาผู้แทนฯ แล้วจะได้รับเสียงข้างมากที่จะเห็นชอบกับข้อตกลงนี้ เพราะในข้อตกลงยังมีการอนุญาตให้เรื่องการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีศุลกากรของ EU มีผลบังคับใช้ในพื้นที่ไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่า UK ไม่ได้เป็นอิสระและแยกตัวอย่างเด็ดขาดจาก EU แต่อย่างใด

กรณีนี้ก็ได้ผลเป็นไปอย่างที่คาด เมื่อนายกฯ บอริส จอห์นสัน นำข้อตกลงดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ เพื่อให้ความเห็นชอบ ปรากฏว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนฯ ไม่เห็นด้วยถึง 322 เสียง ในขณะที่มีผู้เห็นด้วยเพียง 306 เสียง และถึงแม้นายกฯ จอห์นสัน จะพยายามเสนอเรื่องนี้เข้าสู่สภาฯอีก แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรใช้สิทธิยับยั้งการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภาฯ ในทำนองเดียวกันกับที่เคยทำกับนายกฯเมย์ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา

 

ด้วยเหตุนี้นายกฯ จอห์นสัน อยู่ในภาวะบังคับให้ต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการแยกตัวออกไป แต่กลายเป็นว่าคำร้องขอแยกตัวที่ส่งให้กับทาง EU นั้น นายกฯ จอห์นสันไม่ยอมลงนาม

อย่างไรก็ตาม ทาง EU ได้พิจารณาคำร้องดังกล่าว และไม่ถือว่าการไม่ลงนามนั้นเป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด และได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขยายระยะเวลาการแยกตัวของ UK จาก EU ออกไปเป็นไม่เกินวันที่ 31 มกราคม 2563 ดังนั้น มหากาพย์เรื่องนี้จึงต้องขยายต่อออกไปอีกอย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน

 

เมื่อ EU มีมติให้ขยายระยะเวลาออกไป รัฐบาลจึงมีการเสนอให้มีการจัดการเลือกตั้งระดับประเทศ เพื่อหารัฐบาลที่ประชาชนไว้วางใจให้มาทำหน้าที่ในการดำเนินการแยก UK ออกจาก EU โดยมีการเสนอให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง นั่นหมายความว่ากฎหมายว่าด้วยเรื่องการแยกตัว (Withdrawal Agreement Bill: WAB) ควรต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนฯ ในสัปดาห์หน้า

ด้วยเหตุนี้ผู้แทนฯ ในสภาผู้แทนฯ จึงไม่เห็นด้วยกับการกำหนดวันเลือกตั้งในวันดังกล่าว เพราะไม่เปิดโอกาสให้มีระยะเวลาเพียงพอที่จะใช้พิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการแยกตัวดังกล่าวอย่างที่ควรจะเป็น และสิ่งที่เริ่มมีกลับมาพูดกันอีกครั้งหนึ่งคือ รัฐควรจัดให้ประชาชนออกมาลงประชามติในเรื่อง Brexit อีกครั้งหรือไม่ ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าบทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยตอนนี้ Halloween Brexit ก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นแล้วอย่างแน่นอน

 

จุดจบของ  ‘Halloween Brexit’