เปิดเอกสารสหรัฐฯ “ตัด GSP ไทย”

31 ต.ค. 2562 | 11:22 น.

เปิดเอกสารสหรัฐฯ “ตัด GSP ไทย”

เมื่อเดือนตุลาคม 2562 รัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านทางสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (the Office of United States Trade Representative : USTR) ได้ยกเลิก GSP กับ 16 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทยและเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงได้ลงนามระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference : GSP) กับสินค้าไทยจำนวน 573 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้เหตุผลว่า “ไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานตามหลักสากล” มีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563

 

 

หากดูเอกสารของสหรัฐฯ ในปี 2561 ที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิก GSP นั้น  มีเอกสารที่ยกเลิก GSP ของไทย 2 ฉบับ คือ “2018 GSP Annual Review Docket Number USTR-2018-0012” จัดทำโดยสภาผู้ผลิตเนื้อหมูสหรัฐฯ (The National Pork Producers Council : NPPC) และรายงานของสหพันธ์แรงงานสหรัฐฯ และสภาองค์กรอุตสาหกรรม (The American Federation of Labor & Congress of Industrial Organization : AFL-CIO)  NPCC เป็นองค์กรเอกชนที่มีสมาชิกอยู่ใน 42 รัฐ และมีผู้ประกอบการหมู 6 หมื่นราย มีการพูดถึงว่า ประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่ 2 ที่ได้รับผลประโยชน์จาก GSP สหรัฐฯ (ตามหลังอินเดียจากรายงาน “CRS chart based on data from the International Trade Commission Trade Dataweb”) แต่ไทยได้ประโยชน์อันดับที่หนึ่งจากสินค้าเกษตรภายใต้ GSP มูลค่า 832 ล้านดอลลาร์

เปิดเอกสารสหรัฐฯ “ตัด GSP ไทย”

 

โดยปี 2560 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยภายใต้ GSP  มูลค่า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงประเด็น “แร็กโตพามิน (Ractopamine)” ซึ่งเป็นสาร “เร่งเนื้อแดง” และรายงานของ NPCC บอกว่าเป็นสารที่องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA)  ยอมรับตั้งแต่ปี 2542 ว่าไม่มีผลต่อสุขภาพของคน ที่เป็นไปตามผลการศึกษา 300 ฉบับและมีการทดสอบในหมู 600 ล้านตัน มี 25 ประเทศให้การยอมรับ และ 75 ประเทศอนุญาตให้มีการนำเข้า ที่สำคัญ “UN Codex” ยอมรับมีความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2555 และการที่ประเทศไทยห้ามนำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงถือว่า “ฝ่าฝืนระเบียบ WTO”

 

จากเหตุผลดังกล่าวข้างตัน NPCC จึงขอให้  USTR ยกเลิกการให้ GSP ประเทศไทย สำหรับเอกสารของ “AFL-CIO” ทำขึ้นเพื่อให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิก GSP ด้วยเหตุผลด้าน “สิทธิด้านแรงงาน” เป็นหลัก โดยอ้างว่าแรงงานไทยร้อยละ 75 หรือจำนวน 38.3 ล้านคนที่ไม่ได้รับสิทธิด้านแรงงาน

 

ประเด็นที่เอกสารนี้ให้ความสำคัญมี 3 ประเด็นคือ 1.เสรีภาพในการตั้งสมาคมหรือกลุ่มแรงงานและอำนาจการต่อรอง 2.สิทธิในการประท้วงและแสดงความคิดเห็น และ 3.มีการเลือกปฎิบัติกับแรงงานต่างด้าว โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันกับ “UN International Convenant on Economic, Social and Cultural Rights (ICESCR)” ซึ่งให้สิทธิแรงงานในการตั้งสหภาพการค้า (Trade Union) และประเทศไทยยังได้สัตยาบัน “UN International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)”  ซึ่งกระตุ้นให้ทุกคนมีเสรีภาพตั้งสมาคมและการตั้งสหภาพการค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบุคคล เอกสารระบุว่า ประเทศไทยล้มเหลวในการปกป้องสิทธิแรงงาน และกฎหมายแรงงานไทยไม่ได้มาตรฐานสากล และในทางปฎิบัติ แรงงานส่วนใหญ่ถูกห้ามในการตั้งสมาคมแรงงานและสิทธิในการตั้งองค์กรและอำนาจในการเจรจาต่อรอง

เปิดเอกสารสหรัฐฯ “ตัด GSP ไทย”

 

 

ขณะเดียวกันประเทศไทยล้มเหลวในการให้สัตยาบันด้านมาตรฐานแรงงานกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization : ILO)  กับ 2 เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิแรงงาน จากเหตุผลข้างต้นทำให้ อัตราการจัดตั้งสหภาพแรงงาน (Unionization Rate : UR) ที่คิดจากจำนวนแรงงานที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานต่อแรงงานทั้งหมด ประเทศไทยอยู่ที่ 1.6% ต่ำที่สุดในอาเซียน ประเทศที่มีค่า UR สูดสุดคือไอร์แลนด์ 91.8% ตามด้วยสวีเดน 67%

 

ประเด็นของ “เสรีภาพของการตั้งสมาคมแรงงานและอำนาจในการต่อรอง” ตามรายงานชิ้นนี้กล่าวถึงแรงงานในภาครัฐ เอกชน แรงงานภาคเกษตร แรงงานของครู อาจารย์ของมหาวิทยาลัยเอกชน และแรงงานที่รับช่วงงานต่อ (subcontracted workers) และประเด็นของ “สิทธิในการประท้วงและแสดงความคิดเห็น” มีการพูดถึงกรณีของบริษัทในประเทศไทยหลายบริษัท และนี้คือที่มาของการยกเลิก GSP ของสินค้าไทยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562