เศรษฐกิจจีนถดถอย ยิ่งดีกับธุรกิจไทย

30 ต.ค. 2562 | 04:40 น.

 

เศรษฐกิจจีนมีอัตราการเติบโตที่ตกตํ่าเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทำให้เป็นกังวลในวงกว้าง แต่ธุรกิจไทยไม่ควรตกใจ ผู้เขียนมองว่า “เศรษฐกิจจีนที่ถดถอยเป็นโอกาสให้กับธุรกิจไทยมากกว่าในกรณีที่เศรษฐกิจจีนเติบโตแบบเร่งขึ้น” ซึ่งฟังดูขัดความรู้สึกมาก ขออธิบายว่าปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนถดถอยทั้งภายในภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้า ปัญหาฮ่องกง ตลอดจนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนเอง กลับเปิดช่องให้ธุรกิจไทยเข้าไปมีส่วนร่วมได้มากกว่าในกรณีที่จีนเติบโตแบบติดปีก ที่สำคัญเราต้องศึกษาช่องทางเพื่อวิ่งรุกเข้าหาโอกาสนี้ให้ได้

เศรษฐกิจ 2 ขั้วของจีน-ทุกวันนี้เศรษฐกิจจีนประกอบด้วยภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่กำลังถดถอยอย่างรุนแรงและภาคธุรกิจบริการรวมถึงอุตสาหกรรมแบบใหม่ที่ยังเติบโตในอัตราที่สูงอยู่ ทำให้การประเมินตัวเลขเศรษฐกิจแบบรวมๆ ไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับธุรกิจไทยมากนัก จะขอยกตัวอย่างตัวเลขบางชุดเพื่อให้เห็นภาพของความเป็น 2 ขั้วนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

ภาคอุตสาหกรรมของจีน (นับบริษัทที่มียอดขายเกินกว่า 20 ล้านหยวนต่อปี) มีกำไรรวมตกลง 1.7% ปีต่อปี แต่ภาคธุรกิจบริการกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น 9.5% ปีต่อปี โดยภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนเพียง 40% ของจีดีพี จึงทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของจีนอยู่ในภาวะถดถอย ตัวเลขอีกชุดหนึ่งที่ขอนำเสนอคือยอดค้าปลีกในช่วง 9 เดือนแรก มีอัตราเพิ่ม 8.2% ปีต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ยอดขายสินค้าออนไลน์มีอัตราเพิ่มขึ้น 20.5% ปีต่อปี โดยยอดขายออนไลน์คิดเป็น 19.5% ของการค้าปลีก และถ้าเจาะลงไปในแต่ละภูมิภาคพบว่าการซื้อขายออนไลน์กระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออก (บริเวณเซี่ยงไฮ้และมณฑลโดยรอบ) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง  83% ภูมิภาคอื่นของจีนจึงมีสัดส่วนการซื้อขายออนไลน์ไม่เกิน 10% เท่านั้น เศรษฐกิจจีนถดถอย  ยิ่งดีกับธุรกิจไทย

 

ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่ากำลังทำธุรกิจกับจีนในส่วนไหน หากมุ่งไปที่ภาคอุตสาห กรรมแบบดั้งเดิมของจีนที่ไม่มีมูลค่าเพิ่มมากนัก ก็จะประสบปัญหาอย่างหนักแบบไม่มีวันฟื้นตัว  รัฐบาลจีนเองก็กำลังเร่งกดดันให้อุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมีมูลค่าเพิ่มตํ่าปิดตัวลงด้วย

ภาคบริการและการบริโภคภายในของจีนมีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจไทยมากกว่า-ทำไมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจจีนเติบโตแบบติดปีก ธุรกิจไทยที่ไปประสบความสำเร็จในจีนอย่างจริงจังมีจำนวนนับมือได้ไม่เกินสิบ และที่ส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มมากขึ้นยังคงกระจุกตัวในสินค้าต้นนํ้า ขาดการสร้างแบรนด์ ส่วนหนึ่งคงเป็นเหตุผลของธุรกิจไทยเอง 

แต่อีกด้านหนึ่งเป็นเพราะในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเศรษฐกิจเติบโตด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ด้านอสังหาริมทรัพย์ ความเกี่ยวเนื่องของเศรษฐกิจจีนต่อธุรกิจไทยมีไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีหรือเงินทุน การไปลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจจีนในช่วงนั้น มักมองไปที่แถบแอฟริกาเพื่อการแลกกับทรัพยากรธรรมชาติ หรืออเมริกาและยุโรป เพื่อแสวงหาเทคโนโลยี

กลับมามองในปัจจุบัน ภาคการบริโภคการบริการของจีนเพิ่มสัดส่วนขึ้นมาอย่างเด่นชัด ผู้เล่นมีความหลากหลายมากขึ้น (ไม่ได้จับกลุ่มเฉพาะรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่) มีการเน้นคุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้ามากขึ้น ทำให้ธุรกิจไทยมีโอกาสได้มากกว่า

สินค้าไทยตอบโจทย์การลดระดับการใช้จ่ายของผู้บริโภคจีน -
อันที่จริง ผู้บริโภคจีนในเมืองใหญ่ๆ กำลังมีแนวโน้มลดระดับการบริโภค เพราะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก ผู้บริโภคเหล่านี้กำลังต้องการสินค้าที่ราคาไม่สูง แต่มีคุณภาพยอมรับได้ คือมีความคุ้มค่ามากขึ้น ทำให้สินค้าและบริการของไทยหลายๆ ส่วนสามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ และอย่าลืมว่ารายได้ครัวเรือนของจีนยังมีการเติบโตสูงขึ้นอยู่ดี ถึงแม้เศรษฐกิจตกตํ่า 

 

สงครามการค้าและแรงกดดันภายนอกต่อจีน เอื้อโอกาสให้ไทย - ในบทความที่แล้วผู้เขียนประเมินไว้ว่าสงครามการค้า ตลอดจนปัจจัยภายในของจีนเอง จะทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัวใน 5 ปี นอกจากประเด็นนี้แล้ว ผู้เขียนเห็นว่าธุรกิจและสินค้าไทยจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคจีน เนื่องจากประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีในอันดับต้นๆ กับประเทศจีน

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าโอกาสจะเดินมาหาเราเอง ธุรกิจไทยที่ต้องการจับตลาดจีนจะต้องส่งทีมงานไปฝังตัวที่จีน ถึงแม้ว่าไม่มีธุรกิจโดยตรงในจีนก็ตาม เพราะการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดจีนไม่มีทางทำได้ดีจากข้างนอกประเทศจีน

 

คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์

หมายเหตุ : ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัว และไม่เกี่ยวกับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดแต่อย่างใด

เกี่ยวกับผู้เขียน :  มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุน และการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี  ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง  จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3518 วันที่ 31 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2562

เศรษฐกิจจีนถดถอย  ยิ่งดีกับธุรกิจไทย