กุญแจพิเศษในมือกลุ่มซีพี 'รัฐต้องแก้ปัญหาให้เอกชน'

26 ต.ค. 2562 | 13:00 น.

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3517 หน้า 20 ระหว่างวันที่27-30 ต.ค.2562 โดย...พรานบุญ

 

กุญแจพิเศษในมือกลุ่มซีพี

'รัฐต้องแก้ปัญหาให้เอกชน'

 

          24 ตุลาคม 2562 นับเป็นประวัติศาสตร์การรถไฟไทย ประวัติศาสตร์การเมืองไทย และประวัติศาสตร์การประมูลกิจการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทย เมื่อมีการเปิดทำเนียบทำพิธีลงนามในสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท

          งานนี้ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงมาเป็นประธานสักขีพยานการลงนามอันอื้ออึงไปทั่วป่าดงพงไพร ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

          ฝูงกุ้ง หอย ปู ปลา แตกกระสานซ่านเซ็นไปทั่ว ว่าการลงนามรอบนี้จะมีอะไรที่แตกต่างไปจาก RFP หรือไม่

          ป่าดงพงไพรเงียบเชียบวิโหวงเหวง ตั้งแต่เช้าของวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ยันถึงช่วงเวลา 13.30 น.

          อีเห็นดอดย่องไปเยือนที่ทำเนียบรัฐบาลรายงานพรานฯมาว่าการลงนามโครงการรอบนี้ มีอะไรหลายอย่างที่อธิบายออกมาในรายละเอียดของสัญญาการร่วมทุนแบบ Public Private Partnership หรือ PPP เปรียบเสมือนกุญแจ 9 ดอกในการไขปมไฮสปีดเทรน

          ดอกแรก คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี บอกว่า หน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการในการส่งมอบพื้นที่ให้ซีพีเพื่อก่อสร้างให้เป็นไปตามแผน ส่วนที่รัฐต้องจ่ายเงินค่าร่วมลงทุน 117,227 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มซีพีภายในระยะเวลา 10 ปีนั้น จะเริ่มจ่ายเมื่อก่อสร้างเสร็จ

          นัยแห่งความหมายของการสร้างเสร็จ ฤาษีคณิศบอกว่า จะแบ่งออกเป็น 3 ท่อน ไม่ได้หมายความว่าต้องรอให้สร้างเสร็จทั้ง 3 ส่วน ก่อนค่อยจ่ายเงินนะจ๊ะ...เข้าใจ๋...

          ถ้าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เสร็จตรวจสอบแล้วสามารถเปิดให้บริการได้ รัฐบาลจะจ่ายเงินให้ก่อนก็ได้ ถือเป็นระบบปกติที่ทำกัน

          พรานฯแปลความให้ฟังได้ว่า ถ้าสร้างแต่ละช่วงเสร็จ รถวิ่งได้ มาเคลมเงินจากรัฐบาลได้เบยยยยย

          ดอกที่ 2 พื้นที่มักกะสัน 140 ไร่ บริษัทที่ปรึกษามืออาชีพได้ประเมินราคาค่าเช่าที่เอกชนควรจ่าย รฟท.แล้ว แต่จะใช้บริษัท ที่ขึ้นทะเบียนในการประเมินราคากับ ก.ล.ต.หรือไม่ มิมีใครรู้

          การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บนที่ดินมักกะสันนั้น จะลงทุน 140,000 ล้านบาท เน้นพัฒนาเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ ศูนย์วิจัยฯ รีเทล โรงแรม เพื่อรองรับกลุ่มนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว และผู้โดยสารที่ใช้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

          ดอกที่ 3 อีเห็นบอกว่าจะมีการนำบริษัทร่วมทุนฯ ชื่อ “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด” (Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.) เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย

          ดอกที่ 4 ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร บอกว่า จะเร่งเข้าไปบริหารจัดการบริษัทรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ เพื่อจะได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจ/ออกแบบ เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และซัพพลายเออร์เพื่อเร่งจัดทำแผนก่อสร้างและเดินหน้าทันที

          เสี่ยศุภชัยบอกว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา การจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า

          ดอกที่ 5 เขาบอกว่าจะลงทุนในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ด้วยการก่อสร้างให้เร็วที่สุด เนื่องจากได้เตรียมรองรับรถไฟความเร็วสูงไว้แล้ว ส่วนช่วงดอนเมือง-พญาไท และพื้นที่สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา น่าจะเป็นส่วนที่มอบพื้นที่ยากที่สุด

          แปลง่ายๆ ว่า ถ้าจะเคลมเงินจากรัฐบาลได้ กรณีแอร์พอร์ตเรลลิงค์นี้ทำได้ง่ายที่สุด..555

          ดอกที่ 6 แหล่งเงินทุนการก่อสร้างจะมาจากเงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีธนาคารจากจีนและญี่ปุ่น รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย

          ดอกที่เจ็ด จะมีการแบ่งงานภายในกลุ่มพันธมิตร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) มีความสามารถในการก่อสร้างด้านโยธา ขณะที่บริษัท China Railway Construction Corporation Limited จากจีน เชี่ยวชาญเรื่องระบบรางรถไฟความเร็วสูง การบริหารงานเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง และการจัดหาดำเนินการรถไฟ

          ดอกที่ 8 ที่ไม่มีใครอธิบายคือ ในสัญญาที่ลงนามกันนั้นมีเอกสารแนบท้ายในสัญญาหลักอยู่ชิ้นหนึ่งมีข้อความระบุว่า “รัฐจะแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชนคู่สัญญา หากการรถไฟฯ ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาได้ครบ 100% ภายในกำหนด”

          พรานฯได้ยินมาว่าเงื่อนไขแบบนี้เกินกว่าทีโออาร์กำหนด..และอันอาจก่อให้เกิดการร้องขอของเอกชนให้ขยายเวลาให้ได้มากกว่าที่ใครจะคาดคิด

          พรานฯได้ยินมาว่า ดอกที่แปดนี้จะขยายไปสู่ดอกที่เก้าซึ่งเป็นกุญแจพิเศษ เพราะการใส่ในเอกสารแนบท้ายสัญญานั้นถือเป็นการตกลงที่ข้ามขั้นตอน เพื่อมิให้ต้องนำกลับไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกรอบหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้มีผลต่อสัญญาหลัก

          มันเป็นจริงหรือไม่การรถไฟฯ และรมว.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ต้องตอบ!