52 ปีของอาเซียน ฤาจะสูญเสียไปกับ มายาคติและกับดักนโยบายการค้าเสรี (1)

27 ต.ค. 2562 | 04:00 น.

 

บทความ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,517 วันที่ 27-30 ตุลาคม 2562

 

นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและผู้นำประเทศโดยทั่วไปเห็นว่าข้อตกลงการค้าเสรีที่ไม่มีการคิดภาษีศุลกากรระหว่างกัน เป็นนโยบายที่สามารถกระตุ้นการค้าระหว่างคู่ค้าและยกระดับความสามารถในการแข่งขันโดยนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจที่มากขึ้นได้ แต่กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์และผู้นำประเทศดังกล่าวจะต้องพิจารณานโยบายดังกล่าวอีกครั้ง จากการที่สหรัฐอเมริกาได้ใช้นโยบายกีดกันทางการค้า (protectionism) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการค้าเสรี และกลุ่ม EU ก็มีปัญหาการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ PIGS (โปรตุเกส, อิตาลี, กรีซ, สเปน) ที่มีความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจตํ่ากว่า จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงการค้าเสรี เหมาะสำหรับประเทศคู่ค้าหรืออุตสาหกรรมที่มีขนาด และขีดความสามารถในการแข่งขันใกล้เคียงกัน ผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนจึงควรทบทวนการใช้นโยบายข้อตกลงการค้าเสรีที่ ผ่านมา ว่าเหมาะสมกับอาเซียนหรือไม่ อย่างไร

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงถึงมายาคติและกับดักเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมลํ้า และความบกพร่องของฐานความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มประเทศภาคีสมาชิกอาเซียน พร้อมทั้งนำเสนอข้อแนะนำเพื่อความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของอาเซียน

เพื่อแก้ไขมายาคตินโยบายการค้าเสรี คณะผู้วิจัยขอนำเสนอ ผลกระทบทางลบของข้อตกลงการค้าเสรีที่มีต่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และ SMEs ไทย เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ที่ได้รับผล กระทบอย่างหนักจากการทุ่มตลาดโดยผู้ค้าเหล็กสัญชาติจีน ผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากทุนที่น้อยกว่า และกรณีล้งลำไยไทยที่มักจะเป็น SMEs ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการครอบงำระบบการค้าโดยล้งจากจีน โดยในระยะแรกนั้น ล้งจากจีนให้ราคากับเกษตรกรลำไยไทยสูงมากทำให้ล้งลำไยไทยต้องออกจากระบบ หรือลดบทบาท เพื่อผูกขาดการรับซื้อลำไย และส่งออกได้กำไรมากขึ้นจากข้อตกลงการปลอดภาษีซึ่งแม้ว่าตัวเลขยอดกำไรจากการส่งออกลำไยของไทยไปจีนสูงขึ้นนับ 10 เท่า แต่ผลกำไรที่แท้จริงนั้นตกอยู่กับล้งจีน ซึ่งกดราคาลำไยเกษตรกรไทย

 

 

 

ดังนั้นผลลัพธ์ที่แท้จริงของการเปิดการค้าเสรีลำไย ก็คือทำให้ระบบการค้าลำไยไทย เป็นระบบการค้าลำไยเมืองขึ้นของจีนนั่นเอง และเมื่อพิจารณาถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในกลุ่มประเทศภาคีสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 95-98% ของหน่วยธุรกิจทั้งหมด การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้าปลอดภาษี เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมักถูกละเลยสำหรับ SMEs ในกลุ่มอาเซียนเนื่องจากต้องจัดการเรื่องเอกสารในการขอสิทธิประโยชน์ FTA โดยต้องปฏิบัติตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า(Rules of Origin) และต้องได้รับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดของสินค้า(certificated of origin) ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ จึงเห็นได้ว่า FTA จะก่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่เพียงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรือเครือข่ายการผลิตข้ามชาติ ที่มีขีดความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยที่คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนหรือทำให้ทัดเทียมได้ หรือที่สามารถเรียนรู้ ยกระดับ และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ดังนั้นการใช้นโยบายข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งในระดับประเทศ ต่อประเทศและกลุ่มต่อกลุ่ม จึงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน มิฉะนั้น การดำเนินการตามนโยบายและข้อตกลงการค้าเสรีจะเป็นการซํ้าเติมภาวะรวยกระจุก จนกระจาย ตัวเลข GDP โต แต่ประชาชนทั่วไปยังมีความเป็นอยู่เช่นเดิม

และไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่ากลุ่มอาเซียน ได้ลอกเลียนใช้นโยบายข้อตกลงการค้าเสรีจากกลุ่มประเทศตะวันตกทั้งภายในกลุ่มและนอกกลุ่มอาเซียนอย่างไม่เหมาะสมเพราะมีมายาคติคือเข้าใจว่า การค้าเสรีนั้น ดีเสมอ ใช้ได้ในทุกกรณี เพราะเมื่อพิจารณาถึงฐานความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของอาเซียนแล้วจะพบว่าเรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับการหลอมรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (economic integration) น้อยมาก

 

52 ปีของอาเซียน ฤาจะสูญเสียไปกับ  มายาคติและกับดักนโยบายการค้าเสรี (1)

 

ในทางปฏิบัติ อาเซียนไม่ควรที่จะเร่งรัดในการทำข้อตกลงการค้าเสรีทั้งกับประเทศในกลุ่มหรือนอกกลุ่มการค้าอาเซียน เพราะที่จริงแล้ว เราตั้งกลุ่มอาเซียนมาเพื่อสามารถตั้งเงื่อนไขการค้า หรือคิดภาษีการค้ากับกลุ่มการค้า และประเทศมหาอำนาจอื่นทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นธรรม (Fair Trade Agreement) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มประเทศภาคีสมาชิกอาเซียนที่ยังไม่มีความพร้อม ทั้งในแง่ของความเข้มแข็งขององค์กรธุรกิจ และความฉลาดรอบรู้ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะเห็นได้ในกรณีของ AFTA  (ASEAN Free Trade Agreement)  ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีเทียม คือ แม้มีการลดพิกัดภาษีศุลกากรระหว่างกันเป็นศูนย์ก็จริง แต่กลับมีการใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อปกป้องประคองรักษาระบบเศรษฐกิจและ SMEs ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจส่วนใหญ่ของแต่ละประเทศเอาไว้ โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า ระบบการค้าภายในกลุ่มอาเซียนมีสภาพ เหมือนติดกับ คือ แทบไม่มีความคืบหน้าไปไหนเลยเป็นเวลานานกว่า 25 ปี แต่การที่จะก่อให้เกิด Fair Trade Agreement ตามแนวทาง ASEAN WAY แต่ละประเทศจะต้องมีองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่เพียงพอ รอบด้าน  และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเป็นพื้นฐานรองรับ เพื่อสร้างข้อตกลงทั้งในเชิงหลักการและวิธีการ ทั้งในการประชุมอาเซียนในระดับ ministry และ senior official meeting อันนำไปสู่การปฏิบัติกระทั่งเกิดผลเป็นรูปธรรม

 

52 ปีของอาเซียน ฤาจะสูญเสียไปกับ  มายาคติและกับดักนโยบายการค้าเสรี (1)

 

จากกราฟ จะเห็นได้ว่ากลุ่มประเทศอาเซียนมีความเหลื่อมลํ้าทางความรู้ทางเศรษฐ ศาสตร์อย่างมาก ดังที่เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มประเทศ CLMV มีความเหลื่อมลํ้าของฐานความรู้ทางเศรษฐศาสตร์สูงมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศภาคีสมาชิกอื่นเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ดังนั้นเพื่อที่จะก่อให้เกิด Fair Trade Agreement และเป็นไปตามแนวทาง ASEAN WAY ประเทศไทยควรจะมีบทบาทในการลดความเหลื่อมลํ้าทางความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมทางปัญญากับลาว เขมร และพม่า ด้วยการสร้างทีมงานวิจัยร่วมกันทางเศรษฐศาสตร์ ตามปฏิญญาอาเซียน ข้อที่ 5 ที่ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปของการฝึกอบรมและวิจัย และส่งเสริมการศึกษาด้านเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้

 

รายนามคณะผู้วิจัย :

ดร.ไพทัน ตระการศักดิกุล หัวหน้าคณะวิจัย, กัญชญา จุฑามณี, ตระการ ไตรพิเชียรสุข, คณึงลักษณ์ สุขขีนัง, ชญานนท์ เจริญชัยพงศ์, พิชญ์ คุ้มแคว้น คณะผู้ช่วยวิจัย