กระตุ้นอสังหาฯ ต่อลมหายใจเศรษฐกิจ

23 ต.ค. 2562 | 11:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3516 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-26 ต.ค.2562

 

กระตุ้นอสังหาฯ

ต่อลมหายใจเศรษฐกิจ

 

     ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 จำนวน 4 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิม ช้อป ใช้” มาตรการลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ที่ผ่านมา

     ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่ออกมาจะช่วยให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่การใช้จ่ายระดับฐานรากจนไปถึงระดับประเทศ ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัย และการลดภาระค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดทะเบียนจำนองที่อยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลางที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่าย เป็นการช่วยบรรเทาภาระให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ การเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น

     คงต้องยอมรับว่ามาตรการกำกับดูแลสินเชื่อบ้าน หรือ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์ ทำให้ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเริ่มเห็นตัวเลขชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จใหม่ (กทม.-ปริมณฑล) ที่ลดลง 14.55% การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย(กทม.-ปริมณฑล) ลดลง 16.47% ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ลดลง 9.8%

     ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท นอกจากจะช่วยพยุงไม่ให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าราว 1.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แล้ว มาตรการนี้ยังจะส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เครื่องนอนและอีกหลากหลายธุรกิจตามมา แต่หลายฝ่ายยังกังวลว่าการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้อาจไม่ประสบผลสำเร็จหากธปท.ยังไม่ผ่อนคลายมาตรการ LTV ต่อลมหายใจให้กับเศรษฐกิจของประเทศ