เปิดความเสี่ยงตลาดแรงงานไทย2563!!!

20 ต.ค. 2562 | 00:22 น.

 

ภาคการผลิตไทยในปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านหลายเรื่อง  ถ้าไม่ขยับตัวมีหวังตกขบวนแน่  มีแนวโน้มเป็นไปได้ที่จะถูกเวียดนามปาดหน้า  2 สิ่งที่ไม่ควรกระพริบตา คือการปรับตัวในภาคผลิตที่กำลังล้อไปตามเทคโนโลยีAI(Artificial Intelligence)หรือปัญญาประดิษฐ์   และการปรับตัวของแรงงานในประเทศถ้าขยับตัวรับการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ก็เป็นไปได้สูงที่สถิติการจ้างงานลดลงจะพุ่งสูงขึ้น!

ตามข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า ตลาดแรงงานของไทยทั้งหมดมีจำนวนเฉลี่ยราว 37.6 ล้านคน คิดเป็น 56.5%ของประชากรไทยทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ 31 ธ.ค.61) มีประชากรไทยราว 66 ล้านคน  แรงงานส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเอกชนราว 21-22 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน และประกันสังคมตามมาตรา 39 และมาตรา 40 รวมกัน 4.242 ล้านคน ที่เหลือเป็นแรงงานอิสระและแรงงานนอกระบบ  แต่ละปีจะมีแรงงานที่ทำงานในภาคเอกชนอายุเฉลี่ย 55-60 ปี เกษียณออกจากตลาดแรงงานปีละ 4.5-5.0 แสนคน  มีอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.0% อัตราการวางงานต่ำอยู่ในอันดับ 4 ของโลก

โฟกัสที่สถานประกอบการ  มิถุนายน2562 ประเทศไทยมีจำนวนสถานประกอบการทั้งสิ้นราว 7.37 แสนราย  โดย 80-90% จะเป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก จะมีสัดส่วนแรงงานประมาณ 54% ,กิจการขนาดกลางมีสัดส่วนแรงงานราว 16.4% และกิจการขนาดใหญ่มีสัดส่วนแรงงานประมาณ 29.6%    สถานประกอบการภาคเอกชนไม่รวมภาคการศึกษา  มีการจ้างงานประมาณ 21-22 ล้านคน โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบไม่อยู่ในระบบประกันสังคม

อย่างไรก็ตามการจ้างงานช่วงครึ่งปีแรกของปี2562  พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 4.36 แสนคน สูงสุดในช่วง 6 เดือนและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา  โดยอัตราการว่างงานเดือนกรกฏาคมมีสัดส่วน 1.1%

-แนวโน้มจำนวนรง.-แรงงานลดลง

 เมื่อเจาะลงไปดูแรงงานในภาคการผลิต  ปี2561 ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่ามีจำนวนโรงงาน 140,535 โรงงาน มีแรงงานประมาณ 4.041 ล้านคน  และในช่วง 5 ปี ทั้งจำนวนโรงงานและจำนวนแรงงานมีแนวโน้มลดลง

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเปรียบเทียบครึ่งปีแรกของปี2561/2562 ตัวเลขผู้มีงานทำลดลงติดลบ 8.0%  ภาคอุตสาหกรรมและภาคท่องเที่ยวใกล้เคียงกันลดลง 6.2%  ภาคค้าส่ง-ค้าปลีกลดลง 4.35%   ภาคเกษตรเป็นภาคส่วนเดียวที่การจ้างงานเพิ่มขึ้น 3.8 %   สอดคล้องกับข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ระบุว่าการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ช่วงครึ่งปีแรกปี 2562 จำนวน 38,222 รายเพิ่มขึ้น 2%  แต่เดือนมิถุนายน 2562ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วคิดเป็น14%  แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะชะลอหรือหดตัวลง

เปิดความเสี่ยงตลาดแรงงานไทย2563!!!

นายธนิต โสรัตน์  รองประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มี 4 ปัจจัยหลักที่จะมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย คือ 1.การเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ทำ ให้มีการนำ เทคโนโลยีก้าวหน้าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์อัจฉริยะ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่ดิจิทัลลีนออโตเมชั่น ซึ่งจะทำให้การจ้างงานลดลงอย่างเป็นนัยหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมยานยนต์ และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ แผงวงจร ฮาร์ดไดร์ฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ หลายโรงงานมีโครงการเกษียณก่อนเวลาตลอดจนการลาออกโดยสมัครใจซึ่งไม่ได้มีอยู่แต่ในภาคอุตสาหกรรม  ในสถาบันการเงิน ภาคการค้าและภาคบริการก็เกิดขึ้น

 2. นโยบายของไทยต้องการปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีและออโตเมชั่น เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 60% ลงทุนในพื้นที่อีอีซีในอุตสาหกรรมที่เป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เงื่อนไขการลงทุนของไทยไม่ได้ผูกติดกับการจ้างงานเหมือนในอดีตที่ผ่านมา อีกทั้งการลงทุนใหม่เน้นเทคโนโลยีชั้นสูงทำให้แนวโน้มการจ้างงานลดน้อยลง

3. เศรษฐกิจโลกอยู่ในวัฏจักรชะลอตัวเริ่มมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2557 โดยเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น การเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว แม้แต่ประเทศจีนการขยายตัวอยู่ในช่วงต่ำสุดในรอบ 20 ปีอีกทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนส่งผลต่อโซ่อุปทานโลก ขณะเดียวกันประเทศไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูงทำให้การส่งออกเชิงดอลลาร์สหรัฐเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมติดลบ 2.0 % แต่ในรูปเงินบาทหดตัวติดลบ 2.43%

 4. สถานการณ์ว่างงานของไทยยังอยู่ในอัตราที่ต่ำเป็นอันดับ 7  จาก 181 ประเทศทั่วโลก(World Bank 2017) เป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากด้านการว่างงานน้อยที่สุดในโลก แสดงให้เห็นถึงแม้จะมีปัจจัยด้านการเข้ามาของเทคโนโลยีก้าวหน้าและหรือผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกตรึงตัว ตลาดแรงงานของไทยมีภูมิคุ้มกันรับมือได้ดีกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วที่การว่างงานอยู่ในระดับเฉลี่ย 3-4% ขณะที่ไทยอัตราการว่างงานไตรมาส 2 อยู่ที่1.1%

“แต่การว่างงานต่ำเช่นนี้ก็ไม่ได้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างเนื่องจากคำนิยามของผู้ว่างงาน คือคนที่ไม่มีงานทำหรือคนที่ทำงานต่ำกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แรงงานส่วนใหญ่ของไทยเป็นแรงงานนอกระบบอยู่ในภาคเกษตรหรือเป็นแรงงานในครอบครัว รวมไปถึงคนที่ช่วยกิจการที่บ้านหรือทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนขณะเดียวกันคนที่เกษียณอายุก่อนเวลาหรือเข้าโครงการ“Early Retire” ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแต่คนกลุ่มนี้ไม่ถูกนับว่าเป็นผู้ว่างงาน และยิ่งน่าห่วงปี2563 จะมีเด็กที่เรียนจบใหม่เกิดขึ้นอีกกว่า 520,000 คน”

นายชาลี ลอยสูง  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโลหะแห่งประเทศไทย กล่าวว่ายิ่งเศรษฐกิจโลกซบเซายิ่งมองเห็นภาพชัดเจนว่าหลายบริษัทออกมาลดต้นทุน และที่ง่ายที่สุดคือการลดต้นทุนด้านแรงงานทั้งแรงงานประจำและโดยเฉพาะแรงงานเอาต์ซอร์ซ สามารถเลิกจ้างง่ายไม่มีภาระผูกพันธ์  ขณะเดียวกันก็จะมองเห็นภาพการเติบโตของแรงงานเอาต์ซอร์ซ

“ยอมรับว่า ปี 2563 อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อภาคการผลิตในไทยโดยสรุปจะมีทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เซรามิก สิ่งพิมพ์และธนาคาร ที่งานหน้าเคาน์เตอร์มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน  น้อยลง ตรงนี้ทำให้ภาคแรงงานมีคำถามมาตลอดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ภาครัฐจะมีวิธีการรับมือป้องกันไว้อย่างไร โดยเฉพาะนับจากนี้ไปอีก 3-5 ปี แรงงานไทยจะเป็นอย่างไร”

จากสภาวการณ์ดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อตลาดแรงงานไทย ที่จะทำให้คนที่มีงานทำลดลงค่อนข้างสูง และนับเป็นความเสี่ยงของตลาดแรงงานไทย2563!!!

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007