วิบากกรรมซ้ำซาก!!! “อุตสาหกรรมเหล็ก”

12 ต.ค. 2562 | 23:04 น.

 

 

     เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาด ทุกท้องที่ ในราชอาณาจักร  พ.ศ. … ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้  ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมรอรับแจ้งมติอย่างเป็นทางการจากครม. จากนั้นจะมีการลงราชกิจจานุเบกษา แล้วประกาศใช้อย่างเป็นทางการคาดว่าภายในปีนี้จึงจะออกประกาศดังกล่าวได้

 

     ที่น่าจับตาการพิจารณาเรื่องห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่ยืดเยื้อลากยาวนั้น มีการตั้งคำถามจากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กว่าไปเอื้อประโยชน์ต่อใครหรือป่าว!!!

 

     ถ้าย้อนกลับไป 4-5 ปีที่ผ่านมาวงการเหล็กและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐต่างรู้ดีว่าในประเทศไทยมีกำลังผลิตเหล็กเส้นล้นตลาดอยู่จำนวนมาก เมื่อดูจากความสามารถในการผลิตของเครื่องจักรเฉพาะเหล็กเส้นประเภทเดียวรวมกำลังผลิตแต่ละค่ายแล้วมีขนาดความสามารถผลิตได้รวมกันทั้งสิ้นกว่า 10 ล้านตันต่อปี  แต่ทุกวันนี้ผลิตใช้จริงอยู่ที่ราว  3 ล้านตันต่อปีเท่านั้น

วิบากกรรมซ้ำซาก!!!  “อุตสาหกรรมเหล็ก”

     ประเด็นอยู่ที่ว่าเบื้องหลังที่มีการพิจารณายืดเยื้อ ลากยาวมาหลายปี มันล้นตลาดอยู่เห็นๆ แต่ทำไมยังปล่อยใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานและบางรายขยายกำลังผลิตใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง


    

เมื่อปี 2557-2558 กลุ่มผู้ประกอบการผลิตเหล็กเส้นต่างพร้อมใจกันออกโรงยื่นหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรม  ป้อนข้อมูลปัญหาเหล็กเส้นที่มีอยู่จำนวนมาก  และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม  เกิดผลกระทบจนผู้ประกอบการบางรายต้องปิดตัว บางรายหันไปทำธุรกิจอื่น บางรายต้องยอมเปิดทางให้ผู้ที่มีสายป่านยาวกว่าเข้ามาบริหารกิจการไปแล้ว

    

  ในขณะที่ตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐยังไม่แสดงแอกชันอะไรในการดูแลอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศอย่าง “เหล็ก”  อย่างจริงจัง  ขณะเดียวกันกลับไปสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานเพิ่มขึ้น หรือขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้น  ดังจะเห็นว่าช่วงหลังมีรายใหม่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 10 ราย และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนจีน

วิบากกรรมซ้ำซาก!!!  “อุตสาหกรรมเหล็ก”

     ที่น่าจับตาบางรายมีเส้นสายกว้างขวาง มีอดีตข้าราชการจากภาครัฐเข้าไปนั่งเป็นที่ปรึกษา  บางราย ก่อนหน้านั้นถูกสั่งปิดให้ปรับปรุง เนื่องจากมีกำลังการผลิตเกินปริมาณที่ขออนุมัติ  เพื่อเลี่ยงจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบวิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (ตามเงื่อนไขผู้ประกอบการที่มีขนาดกำลังผลิตเหล็กเส้นตั้งแต่ 100 ตันต่อวันขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องทำอีไอเอ)  เมื่อผลิตเกิน 100 ตันต่อวันก็ต้องทำอีไอเอ อีกทั้งบางรายบริษัทยังมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  ขณะที่บางรายน่าสงสัยว่าทำไมถึงได้รับอีไอเอรวดเร็วมาก ตามปกติจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการเรื่องอีไอเอนาน 6-12 เดือน 

     ยิ่งไปกว่านั้นที่น่าสังเกตมีผู้ผลิตเหล็กรายหนึ่ง ส่งงบการเงินไปยังกระทรวงพาณิชย์เมื่อปี 2560  แจ้งว่ามีรายได้จำนวน 8,000 ล้านบาท  แต่บริษัทได้รับอนุมัติผลิตเหล็กเส้นที่ 2 แสนตันต่อปี  หากมียอดขายที่  8,000 ล้านบาท แปลว่าบริษัทแห่งนี้จะต้องมีขนาดกำลังผลิตมากถึง 4 แสนตันต่อปี  โดยมียอดจำหน่ายสูงกว่ากำลังการผลิตที่ได้รับอนุมัติ ปกติราคาขายเหล็กเส้นเฉลี่ยอยู่ที่ 17,000-18,000 บาทต่อตัน  หากกำลังผลิต 2 แสนตันต่อปี  จะต้องมีรายได้อยู่ที่ราว  3,000-4,000  ล้านบาทต่อปี  และที่น่าจับตาเมื่อปี 2561 รายได้พุ่งสูงขึ้นกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ผลการดำเนินงานในขณะนั้นทำไมไม่ถูกตรวจสอบ  อีกทั้งในปี 2562 ยังขอขยายกำลังผลิตเพิ่มอีก

  วิบากกรรมซ้ำซาก!!!  “อุตสาหกรรมเหล็ก”

     ข้อสังเกตดังกล่าววงการเหล็กต่างรู้ดี และมีการแจ้งข้อมูลถึงสิ่งผิดปกติดังกล่าวไปยังกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนหน้านี้ ให้ภาครัฐช่วยเข้าไปตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลจากผู้ประกอบการรายนี้  แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนออกมา!!!  

 

    อย่างไรก็ตามถามว่าทำไมนักลงทุนถึงสนใจเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กในประเทศไทย  คำตอบคือ 1.ประเทศไทยโดยรัฐ-เอกชนเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายไปทั่วประเทศ ทำให้มีตลาดเหล็กรองรับจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในอนาคต   2.ก่อนหน้านั้นจีนสั่งยกเลิกการผลิตเหล็กที่มีกระบวนการผลิตเก่าล้าสมัยจนไปสร้างปัญหามลพิษภายในประเทศจีน และรัฐบาลจีนสนับสนุนให้ธุรกิจเหล็กของจีนออกมาลงทุนนอกประเทศและไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จีนสนใจเข้ามาลงทุนมีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรบางส่วนออกมาปักฐานยังประเทศไทย 3.ปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ทั่วโลกต้องออกมากระจายความเสี่ยงเรื่องแหล่งผลิตสินค้า และไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายเป็นฐานผลิตเหล็กชนิดต่างๆสำหรับขายในประเทศไทยและส่งออกในอนาคต

 

ปัจจุบันในประเทศมีผู้ประกอบการผลิตเหล็กเส้นทั้งไทยและต่างชาติรวมแล้วราว 40-50 ราย มีขนาดกำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 10 ล้านตัน ในจำนวนนี้สัดส่วน 20-30% เป็นทุนต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มทุนจีนเข้ามาลงทุนมากสุด ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กเส้นในปัจจุบันอยู่ที่  3  ล้านตันต่อปี(มีแนวโน้มเติบโตจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ) ปัจจุบันผู้ผลิตแต่ละรายมีกำลังผลิตจริงเฉลี่ย  20-30% ต่อรายยังเหลือกำลังผลิตอีก 70-80%  ส่วนความต้องการใช้เหล็กทุกชนิดภายในประเทศโดยรวมอยู่ที่ 18-19 ล้านตันต่อปี

 

เวลานี้มีเสียงตะโกนจากกลุ่มทุนเหล็กทุกชนิดทั้งรายเล็กรายใหญ่ในประเทศไทย  อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความจริงใจและจริงจังต่อการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานาน โดยเฉพาะ 2 รัฐมนตรีหลักอย่าง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่เพิ่งเข้ามาสานต่อหลายเรื่องหลายปัญหาที่ค้างคาอยู่

   

 อย่าให้ปัญหาถูกดองไว้นานแบบรัฐบาลก่อนๆ โดยเฉพาะเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ ที่หลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็ก ก็อย่ารอโชคชะตาฟ้าลิขิตจากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว  ควรออกแรงปรับตัวพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับและมีคุณภาพดียิ่งๆขึ้นด้วย  ค่ายไหนรายไหนที่หมกเม็ด ปฎิบัติตนออกนอกลู่ โปรดอย่าชะล่าใจ!!!   เพราะเชื่อว่าในอุตสาหกรรมเหล็กยังมีนักเรียนดีอยู่จำนวนมากที่ไม่อยากเผชิญกับวิบากกรรมซ้ำซาก!!!

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007