วาระลวงโลก แก้ฝุ่นมรณะ PM 2.5

04 ต.ค. 2562 | 07:48 น.

คอลัมน์ปฏิกิริยา ฐานเศรษฐกิจ ...โดย บิ๊กอ๊อด ปากพนัง

 

ราวต้นปี 2562 หากยังจำกันได้ ได้เกิดสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐาน จนชาว กทม.สะพรึง หลังจากนั้นรัฐบาลได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป แล้วมันก็หายไปราวครึ่งปี

 

และแล้วเจ้าปีศาจน้อยมันก็กลับมาใหม่ ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มตั้งแต่ 24 กันยายน 2562 โดยแตะระดับที่เกิน 100 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และในบางช่วงเวลาสูงถึง 202 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ในวันที่ 30 กันยายน 2562 ในบางพื้นที่ ขณะที่ค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้คือไม่เกิน 50 ไม่โครกรัม/ลบ.ม. 

 

นับได้ว่าครั้งนี้ค่าฝุ่น PM2.5 สูงกว่าครั้งก่อนหน้ามาก โดยสภาพอากาศนิ่งและปิดได้ครอบคลุม กทม.จนละอองฝุ่นไม่สามารถลอยไปตามอากาศได้

 

ฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วนี้ เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด เช่น การเผาไหม้(ควันดำ)ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้างรถไฟฟ้าสารพัดสี ซึ่งเป็น 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่

 

จะสังเกตได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เริ่มรุนแรงมากขึ้นและเริ่มกลายเป็นปัญหาเรื้อรังวนรอบกลับมาพบเจออีกพร้อมมีความถี่มากขึ้นจากแต่เดิมที่จะเกิดเป็นปัญหาหนักๆในรอบหลายๆปี

 

ในทุกครั้งที่เกิดปัญหา รัฐจะแอกทีฟมากทุกหน่วยงานในช่วงแรก พอสถานการณ์คลี่คลายก็เงียบไป ขาดความต่อเนื่อง ยิ่งหน่วยงานเอกชนด้วยแล้ว ทำได้แค่ขอความร่วมมือ เช่น พ่นน้ำบริเวณก่อสร้าง ลองไปดูเถอะ ไม่มีหรอก 

 

นี่ละครับจิตสำนึกคนไทย คุณเคยเห็นผู้รับเหมาโครงการรถขนส่งมวลชน แถลงข่าวให้ความร่วมมือลดมลพิษมั้ย 

 

ดูเหมือนจะมีแต่หน่วยงานเดียว ซึ่งต้องรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว คือ กรมควบคุมมลพิษยังคงดำเนินมาตรการแก้ไขต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ 

 

ขณะเดียวกันก็จะดำเนินมาตรการแก้ไขระยะกลางและระยะยาว โดยแบ่งออกไป 2 ช่วง คือ ระยะกลางตั้งแต่ปี 2562 – 2564 และระยะยาวไปจนถึงปี 2566 ซึ่งจะมีการปรับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเป็นยูโร 5 ปรับการใช้รถยนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม และงดการเผาในที่โล่งแจ้ง  

 

แต่แค่หน่วยงานเดียว เหมือนตบมือข้างเดียว ย่อมไม่ดัง ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันอย่างจริงใจและจริงจัง ไม่ใช่ทำแบบ”ขายผ้าเอาหน้ารอด”

 

เราจะสังเกตได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เริ่มรุนแรงมากขึ้นและเริ่มกลายเป็นปัญหาเรื้อรังวนรอบกลับมาพบเจออีกพร้อมมีความถี่มากขึ้นจากแต่เดิมที่จะเกิดเป็นปัญหาหนักๆในรอบหลายๆปี

 

ส่วนใหญ่มักมองเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ  เศรษฐกิจมาเป็นลำดับแรกๆ ปัญหาอื่นไว้ทีหลัง

 

ดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จบูรณาการแบบจริงๆจังๆหรือได้รับการแก้ไขแบบขอไปที ตามสถานการณ์เฉพาะหน้า แล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ก็จะวนซ้ำกลับมาเหมือนเดิมอีกหรือหนักกว่าเดิมด้วยความถี่ที่มากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

 

 

เกิดเหตุการณ์ครั้งหลังนี้ทำให้ผมนึกถึงสาวน้อยวัยกระเตาะ แต่มีความจริงจังมุ่งมั่นเกินวัย นั่นคือ  “เกรตา ธันเบิร์ก” เด็กหญิงชาวสวีเดนวัยเพียง 16 ปี นักขับเคลื่อนด้านสภาพภูมิอากาศผู้กลายเป็นตัวแทนพลังของเยาวชน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากจกระตุ้นจิตสำนึกของพลเมืองโลก ด้วยคำพูดเฉียบคมโดนใจ คนทั่วโลก

 

 เธอกล่าวตำหนิบรรดาผู้นำโลกว่ามัวแต่สนใจตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจและละเลยการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกอย่างจริงจัง ในงานกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา

 

“ระบบนิเวศทั้งหมดกำลังพังทลาย เรากำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่พวกคุณพูดมีแต่เรื่องเงินและเรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด คุณกล้าดียังไง!”

 

ใจจริงนั้น ผมอยากขอยืมคำพูดเธอมาใช้ เพราะมันชัดเจน ผลที่เกิดขึ้นมักเกิดจากคนทั้งโลก และไม่ควรปล่อยผ่านให้เป็นปัญหาของคนรุ่นต่อๆไป

 

พูดหยาบๆ ก็คือเค้าเรียกว่า ให้เด็กมาด่า มากระตุ้นต่อมสำนึกผู้ใหญ่ 

 

ผมขอฝากถึงผู้หลักผู้ใหญ่ ทำงานทำอะไรให้จริงจังและต่อเนื่อง ไม่ใช่เพื่อใคร เพื่อเราทุกคน เพราะทุกคนต้องหายใจ ต้องอยู่บนโลกนี้เหมือน ๆกัน         

 

อย่ารอจนปัญหาจวนตัวหรือวินาทีสุดท้าย ซึ่งอาจจะไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขได้อีกเลย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปฏิกิริยา : ป่วย-ตายจากฝุ่นพิษ เรียกค่าเสียหายจากรัฐได้มั้ย