เมื่อผู้แทนไทย ไม่ยอมให้ตั้งข้อเสนอที่กระทบกับประเทศ ในเวทีสหประชาชาติ

05 ต.ค. 2562 | 03:54 น.

คอลัมน์ รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,511 วันที่ 6-9 ตุลาคม 2562

 

ในระหว่างสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายนที่ผ่านมาสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ได้จัดประชุมคณะทำงาน (Working Group Conference) เกี่ยวกับกฎหมายใน 2 ประเด็นใหญ่ โดยในระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน 2562 เป็นการประชุมเกี่ยวกับเรื่องการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons) และในระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2562 เป็นการประชุมเกี่ยวกับเรื่องการลักลอบขนคนโยกย้ายถิ่นฐาน (Smuggling of  Migrants) ซึ่งในการเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวทางการไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมจากหลายหน่วยงานประกอบไปด้วยผู้แทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด

ในการประชุมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องค้ามนุษย์นั้นประเทศไทยมี นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหัวหน้าคณะ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกในเรื่องนี้แล้ว หัวหน้าคณะผู้แทนไทยจึงได้ทำหน้าที่รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการของไทยในการจัดการปัญหาค้ามนุษย์ในประเทศ โดยมีนายวราโรจน์ เองสมบุญ ผู้แทนจากกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมในการให้ข้อมูลในประเด็นนี้ด้วย

 

เมื่อผู้แทนไทย  ไม่ยอมให้ตั้งข้อเสนอที่กระทบกับประเทศ  ในเวทีสหประชาชาติ

 

ผู้เขียนเองได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ในฐานะผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดที่มาจากสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริฯ เนื่องจากในระหว่างวันที่ 20-27 เมษายน 2563 จะมีการจัดประชุม Crime Congress ขึ้นที่เมืองเกียวโตประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริฯ จะได้เข้าร่วมและจัดนิทรรศการในการประชุมดังกล่าว ดังนั้นการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้ข้อมูลถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอาชญากรรมในเวทีสหประชาชาติเพื่อใช้เป็นแนวทางที่จะนำไปจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำผลงานของการจัดกิจกรรมของสำนักงาน ไปแสดงในการประชุม Crime Congress ที่ประเทศญี่ปุ่น

ในระหว่างประชุมดังกล่าวผู้เขียนมีข้อสังเกตที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความพยายามขับเคลื่อนบาง ประเด็น ของประเทศตะวันตกที่มีการจัด side event ขึ้นเกี่ยวข้องกับเรื่องคู่มือแม่แบบที่จะนำมาใช้เป็นมาตรการของรัฐเพื่อป้องกันเรื่องค้ามนุษย์จากการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานในกระบวนการที่ทำให้เกิดสินค้า (Model Guidelines on Government Measures to Prevent Trafficking for Labour Exploitation in Supply Chains) ซึ่งประเทศที่มีบทบาทหลักในการผลักดันเรื่องนี้คือสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา โดยมีความพยายามให้คู่มือแม่แบบดังกล่าวถูกนำไปใช้กำหนดในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Public Procurement) โดยการดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบกับประเทศ ใหญ่ๆ อย่างจีน และประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอาจรวมถึงประเทศไทย

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้อาจถูกหยิบยกขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เพราะหากเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างของการประชุมของประเทศสมาชิกในเวทีสหประชาชาติ การที่ประเทศสหรัฐฯจะยกขึ้นเป็นเหตุแห่งการกีดกันทางการค้ากับประเทศที่มีมาตรฐานตํ่ากว่าสิ่งที่กำหนดไว้ก็อาจเกิดขึ้นได้ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องการกีดกันทางการค้าประเภทที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (Non-Tariff Barriers)

 

เมื่อผู้แทนไทย  ไม่ยอมให้ตั้งข้อเสนอที่กระทบกับประเทศ  ในเวทีสหประชาชาติ

 

 

 

ซึ่งสิ่งที่ตั้งข้อสังเกตก็ไม่ต่างจาก ที่คิดไว้ เพราะเมื่อกลับสู่การประชุมคณะทำงานในห้องประชุมหลัก ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา ได้มีการตั้งข้อเสนอ (Recommendations) เกี่ยวกับเรื่อง Supply Chains และ Public Procurement ไว้ถึงกว่า 10 ข้อ จากจำนวน 51 ข้อ หรือประมาณ 20% ของข้อเสนอที่จะนำขึ้นพิจารณาโดยประเทศสมาชิก ผู้เขียนในฐานะผู้แทนไทยได้ตั้งข้อสังเกตต่อที่ประชุมว่าการตั้งข้อเสนอในทางปฏิบัติจะกำหนดให้เรื่องๆ หนึ่งอยู่ในข้อเสนอเพียง 1-2 ข้อ แต่ในเรื่องดังกล่าวถึงแม้จะมีการตั้งข้อเสนอมาจากหลายประเทศ และหลายข้อเสนอมีส่วนที่คล้ายคลึงกันที่สามารถนำมารวมกันได้ จึงไม่ควรที่จะกำหนดแยกให้เป็นข้อเสนอย่อยแยกต่างหากจากกัน ซึ่งมีผู้แทนจากหลายประเทศเห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้แทนไทย

 

เมื่อผู้แทนไทย  ไม่ยอมให้ตั้งข้อเสนอที่กระทบกับประเทศ  ในเวทีสหประชาชาติ

 

ในระหว่างประชุมถึงแม้จะมีการพยายามยุบรวมข้อเสนอเรื่อง Supply Chains กับ Public Procure ment แต่ก็ยังมีจำนวนรวมกันถึง 6 Recommendations ทำให้ผู้แทนไทย อียิปต์ และตุรกี ต่างตั้งประเด็นคัดค้านอีกครั้ง จนสุดท้าย ผู้แทนของประเทศแคนาดาได้ลุกไปปรึกษากับผู้แทนจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เพื่อที่จะนำข้อเสนอยุบรวมให้เหลือน้อยที่สุด โดยผู้แทนของแคนาดาได้นำร่างที่ยุบรวมแล้วมาให้ผู้แทนของไทยดูซึ่งเมื่อยุบรวมแล้วเหลือข้อเสนอในประเด็นดังกล่าวเพียง 2 ข้อเท่านั้นซึ่งถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อข้อเสนอที่มีการตั้งทั้งหมดแล้วจะเห็นว่าน้อยลงกว่าเดิมมาก หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมเรื่องนี้ถึงมีความสำคัญ เหตุเพราะการรับข้อเสนอให้รัฐภาคีนำไปปฏิบัติคือช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คู่มือแม่แบบที่เป็นประโยชน์กับประเทศพัฒนาแล้วนั้นได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าผลกระทบที่จะตามมาอาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าต่อไปได้ในอนาคต การลดจำนวนข้อเสนอในเรื่องดังกล่าวให้เหลือเพียง 2 ข้อ เป็นการแสดงให้เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้มีความโดดเด่นหรือเป็นที่สนใจมากกว่าข้อเสนออื่นๆ ที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ตั้งขึ้นให้พิจารณา ซึ่งนี่ถือเป็นบทบาทการทำหน้าที่ของผู้แทนไทยในการปกป้องการดำเนินการใดๆ ก็ตามที่อาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของประเทศในเวทีสหประชาชาติ

 

 

ส่วนในการประชุมประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการลักลอบขนคนโยกย้ายถิ่นฐาน ดร.อุทัย อาทิเวช อัยการพิเศษฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานวิชาการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมในฐานะที่เป็นประเทศที่ลงนามแต่อยู่ในระหว่างกระบวนการการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับดังกล่าว ในระหว่างประชุมผู้แทนไทยได้นำเสนอข้อมูลทางปฏิบัติที่ได้รับมาจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ที่ประชุมทราบถึงแนวทางที่ไทยใช้ในการจัดการปัญหา

บทบาทสำคัญของผู้ที่ทำหน้าที่ผู้แทนของแต่ละประเทศคือรักษาผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งถึงแม้ว่าผู้แทนของไทยจะมาจากหลากหลายหน่วยงาน แต่เราต่างมีวัตถุประสงค์หลักเดียวกันคือปกป้องประโยชน์ของชาติ และรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการในฐานะหนึ่งในสมาชิกของสหประชาชาติ

 

เมื่อผู้แทนไทย  ไม่ยอมให้ตั้งข้อเสนอที่กระทบกับประเทศ  ในเวทีสหประชาชาติ