2 เดือน รมต.เกษตร สอบตกยกทีม...?

27 ก.ย. 2562 | 10:50 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3509 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.- 2 ต.ค.2562 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

2 เดือน รมต.เกษตร

สอบตกยกทีม...?

 

          ถึงเวลานี้เป็นเวลากว่า 2 เดือนเต็ม ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 เข้าบริหารประเทศ หลายกระทรวงออกสตาร์ตเดินหน้าทำงานตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภาไว้ เริ่มมีผลงานให้เห็นประปรายอย่างน้อยมีการเริ่มต้น

          แต่ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และทีม 3 รัฐมนตรีช่วย ผ่าน 60 วันแรก ทั้งที่มีรัฐมนตรีมากที่สุด มีประเด็นเร่งด่วนให้ขับเคลื่อนมากที่สุด แทบเรียกได้ว่าสอบตกอย่างสิ้นเชิง ไร้ผลงานรูปธรรมหรือการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือเกษตรกร

          วันที่เข้ากระทรวงวันแรก เฉลิมชัย พร้อม 3 รมช.มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้ข้าราชการทำงานบูรณาการ สื่อสาร เชื่อมโยงข้อมูล  มุ่งเน้นระบบการตลาดนำการผลิต  ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม ตั้งเป้าให้เกษตรกรรู้ว่าควรจะปลูกพืชชนิดใด ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ทำงานเชิงรุก โดยวางแผนงานที่ชัดเจนและรอบคอบ บริหารจัดการนํ้า ซึ่งต้องทำทันทีเนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนและเกษตรกร

          การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต่างๆ อาทิ การแก้ปัญหาโรคระบาดในพืชและสัตว์ การแก้ปัญหาราคายางพาราตกตํ่าและการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

          เฉลิมชัย บอกว่าจะเร่งรัดโครงการประกันรายได้ยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 60 บาท ให้พื้นที่เกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ 1.1 ล้านรายก่อน พร้อมกับการลดซัพพลายยางลง 5 แสน - 1 ล้านตัน พร้อมกับยืนยัน 1 ตุลาคมเงินบาทแรกถึงมือชาวสวนยาง ตั้งแต่ประกาศครั้งแรก เรื่องถูกส่งไปที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

          กยท.รับลูกมาแล้วกำหนดราคายางแผ่นดิบ 60 บาท/กิโลกรัม ให้ได้รับส่วนต่างชดเชย 240 กิโลกรัม/ปี โดยรัฐจะจ่ายชดเชยรายได้ 6 เดือน เมื่อเฉลี่ยเป็นรายเดือนเท่ากับเดือนละ 20 กิโลกรัม/ไร่/คน หากยางแผ่นดิบถ้าเกษตรกรขายได้ 40 บาท จะมีส่วนต่างราคา 20 บาท/กิโลกรัม จากรัฐที่ประกันราคายางแผ่นที่ 60 บาท/กิโลกรัม ส่วนนํ้ายางสด ที่เกษตรกรขายได้ 39 บาท/กิโลกรัม เช่นเดียวกับนํ้ายางก้อนถ้วย หากเกษตรกรขายได้ 17-18 บาท/กิโลกรัม ราคาส่วนต่างที่รัฐประกันรายได้ 23 บาท/กิโลกรัม รัฐจะชดเชยส่วนต่างเพิ่มให้ 5-6 บาท/กิโลกรัม

          ต้นทุนแต่ละชนิดยางไม่เท่ากัน อย่างยางแผ่นดิบต้นทุนที่ 55 บาท/กิโลกรัม นํ้ายางสดราคา 33 บาท/กิโลกรัม ยางก้อนถ้วยอยู่ที่ ราคา 21 บาท/กิโลกรัม

          ทั้งเงื่อนไขการจ่าย สูตรการคำนวณเป็นที่คัดค้านอย่างหนักจากชาวสวน โดยเฉพาะการกำหนดยางก้อนถ้วยที่ 23 บาท/กิโลกรัม ยังเป็นเงื่อนไขและสูตรคำนวณที่ยังแกว่งไปมาไม่ลงตัว ที่สำคัญเกษตรกรผู้ผลิตในที่ไม่มีเอกสารสิทธิจะช่วยเหลืออย่างไร 

          และทั้งหมดแล้วยังต้องเข้าไปสู่ที่ประชุมคณะกรรมการยางธรรมชาติ ที่กำหนดประชุมวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมครม.อีกที

          “นั่นหมายความว่าบาทแรกจะยังไม่ถึงมือชาวสวนในวันที่ 1 ตุลาคมเป็นแม่นมั่น”

          การแก้ปัญหาโรคระบาดสัตว์ โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF (AFRICAN SWINE FEVER) ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา แต่ไม่ติดคน หากพบการระบาดของโรคจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ของประเทศไทยไม่ตํ่ากว่า 1 แสนล้านบาท โรคนี้มีระบาดในจีนหมูตายไป 200 ล้านตัว ทำให้ราคาหมูในจีนดิ่งเหวมาแล้วและระบาดในเวียดนามหมูตายไปจำนวนมาก ไม่มีหลักประกันใดๆว่าโรคระบาดนี้ จะไม่ย้ายข้ามพรมแดนเข้ามา ซึ่งทางการต้องเข้มแข็งร่วมมือในการสกัดกั้นมากกว่านี้

          เฉพาะ 2 เรื่องหลักก็เป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นคำถามตรงไปที่กระทรวงเกษตรฯ

          เป็นคำถาม เฉลิมชัย ในฐานะรมว.เกษตรฯ ในการบริหารจัดการ ยังไม่นับรวมคำถามเรื่องบริหารจัดการนํ้า การแก้ปัญหาเยียวยาเกษตรกรหลังนํ้าท่วม ฯลฯ ล้วนเป็นคำถามเฉลิมชัย ทำอะไร?

          จะมีที่พอให้เห็นความคึกคักอยู่บ้าง อยู่ตรงที่ความพยายามผลักดันยกเลิกใช้สารพิษพาราควอต ของ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯเท่านั้น

          แต่ความพยายามของ มนัญญา ไม่อาจช่วยให้คะแนนของกระทรวงเกษตรฯกระเตื้องขึ้นมาจนสอบผ่านในการทำงาน 2 เดือนแรก

          เฉลิมชัยและทีมรมช.ต้องเร่งมือให้มากกว่านี้

          ก่อนที่เกษตรกรจะดำดิ่ง...จนโงหัวไม่ขึ้น