รัฐโขกเพิ่ม ภาษีซ่อนหวาน ฤาจะทำให้คนไทยไร้โรค

27 กันยายน 2562

คอลัมน์ปฏิกิริยา ฐานเศรษฐกิจ ...โดย บิ๊กอ๊อด ปากพนัง

 

 

นับเป็นความปรารถนาดีอย่างยิ่งยวด และต่อเนื่อง โดยปรารถนาให้การเพิ่มภาษีน้ำหวานนำพาประชาชนชาวไทย ห่างไกลติดลิ้นชินรสหวาน แต่จะเป็นไปได้มากแค่ไหน 

 

เนื่องเพราะกรมสรรพสามิตโดยความปรารถนาของกระทรวงสาธารณสุข ดีเดย์ให้วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เริ่มบังคับใช้ให้มีการจัดเก็บภาษีนํ้าตาลในเครื่องดื่มพร้อมดื่ม หรือที่เรียกติดปากว่าภาษีความหวานจากเครื่องดื่ม โดยการปรับขึ้นภาษีแบบขั้นบันได ปรับเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี หากยังไม่สามารถลดปริมาณน้ำตาลได้ จะต้องเสียภาษีอีกเท่าตัว

 

ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม2562-30 กันยายน 2564 เครื่องดื่มที่มีปริมาณนํ้าตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตรจากเดิม เสียภาษี 0.50 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณนํ้าตาลเกิน 14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร จากเดิม 1 บาท และ ที่มีปริมาณนํ้าตาลเกิน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตรเพิ่มเติม 

 

เพียงเพื่อให้ผู้ประกอบการลดปริมาณนํ้าตาลในเครื่องดื่มลง เนื่องจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในต่างประเทศทำกันมาก่อนหน้าแล้ว อย่างเม็กซิโก อังกฤษ อินเดีย และองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้สำรวจและทำรายงานไว้ว่า การเพิ่มภาษีความหวาน 10-20% ช่วยลดยอดการซื้อลง คนลดการบริโภคลงจากเดิม เพราะไม่มีกำลังจ่าย จึงได้ผลกับกลุ่มที่มีรายได้ระดับที่น้อยหน่อย

 

ไม่ได้อยากย้อนแย้ง แค่อยากให้แง่มุมที่ต่างออกไป

 

ประเทศไทยมักเอาประเทศอื่นเป็นตัวอย่าง แล้วคิดว่าเหมาะกับคนไทยแล้ว แม้จะเข้าใจถึงความปรารถนาดี แต่ดูเหมือนความพยายามนี้จะเป็นปลายทางอุโมงค์หรือเปล่า

 

คนไทยและคงอีกหลายชาติ ไม่ได้ดื่มแค่เครื่องดื่มที่ใส่นํ้าตาล แต่ยังมีรสนิยมการดื่มอีกหลากหลาย รวมทั้งบริโภคที่ไม่ใช่การดื่มด้วย ไม่ได้แค่ดื่มเครื่องดื่ม ร้อนเย็น นํ้าหวานรสซ่าหรือนํ้าผลไม้สำเร็จรูป ยังมีนํ้าตาลนํ้าเชื่อมซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผสมเครื่องดื่มตามสั่ง ตามร้านคาเฟ่ 

 

นอกจากนั้นหลายร้านและเกือบทุกร้านยังใส่ส่วนผสม ซูคราโลส นํ้าตาลผลไม้ที่มีค่าความหวานสูงกว่านํ้าตาลทรายเสียอีก ไม่ทราบว่าภาษีนี้ไปถึงร้านค้ามั้ย

 

ยังไม่รวมในร้านอาหาร ร้านขนมที่คนไทยนิยมใส่นํ้าตาลเป็นส่วนประกอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรับอาหารหวานคาว  ทองหยิบทองหยอด  หรืออย่างก๋วยเตี๋ยวคนไทยนิยมปรุงรสชาติเพิ่ม ทั้งนํ้าตาล พริก นํ้าปลา

 

แม้ว่าจะเข้าใจถึงความปรารถนาดีของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้คนไทยห่างไกลจากโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคไม่ถูกต้อง 

 

 

 

 

การเก็บภาษีความหวานนี้เท่ากับ จับ“นํ้าตาล” มาลงทัณฑ์ให้เป็น “ฆาตรกร” เพราะก่อให้เกิดสารพัดโรค ทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโดยเฉพาะโรคเบาหวาน มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทะลุ 5 ล้านคนไปแล้ว ยังไม่รวมกลุ่มคนป่วยที่ยังไม่รู้ตัวอีกจำนวนมากเป็นล้านคน

 

ความจริง ไม่ว่าคนอ้วนหรือคนผอมก็สามารถเป็นเบาหวานได้

 

เพราะเบาหวานเกิดจากหลายสาเหตุทั้งจากพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต รับประทานอาหารมีแคลอรีสูง น้ำตาลสูง และไม่ออกกำลังกาย ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ 

 

ปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลให้เกิดเบาหวานได้ แต่พบว่าคนอ้วนเป็นเบาหวานมากกว่า เนื่องจากพฤติกรรมการกิน แล้วคิดหรือว่าจัดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มพร้อมดื่มเพิ่มขึ้น จะแก้จุดที่ “คัน”ได้ตรงจุด

 

แต่หากมองอีกแง่มุมแล้วผมไม่เชื่อนะว่ามันจะได้ผลนะครับ 

 

เพราะไม่มีใครชอบให้บังคับหรอก เชื่อว่าตราบใดที่มีเงินซื้อก็ยังดื่ม แพงขึ้นก็เอา เพราะใครๆ ที่ชื่นชอบเครื่องดื่มซ่าๆทั้งหลายมักดื่มเพราะรู้สึกสดชื่น ซาบซ่า ผ่อนคลาย ถึงจะมีชนิด 0 แคล ก็แค่ทางเลือกที่อาจทำให้รู้สึกบาปต่อตนเองน้อยลง

 

 

จากประสบการณ์ผมเองก็เช่นกัน การดื่มนํ้าส้มซ่า ๆสักแก้ว มันช่วยผ่อนคลาย หรือ กาแฟสักแก้วเวลางานรัดตัว ผมรู้ว่ามันไม่มีประโยชน์หรอก แต่มันช่วยเรื่อง อารมณ์ ความพอใจ ผ่อนคลายจริงๆ

 

รัฐโขกเพิ่ม ภาษีซ่อนหวาน ฤาจะทำให้คนไทยไร้โรค

ภญ.พญ.ดร.ศรินรัตน์ วงศ์สิริลักษณ์ แพทย์และเภสัชกร ที่ให้ความรู้และมีกิจกรรมเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ได้กล่าวถึงนํ้าตาล ซึ่งเป็นสารให้ความหวานหลักในอุตสาหกรรมอาหารว่า นํ้าตาลไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ต้องเติมในอาหารเลย แม้แต่สารให้ความหวาน แต่การติดหวาน เป็นเรื่องของอารมณ์ ความพึงพอใจ สมองสั่งการให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น 

 

มีผลงานวิจัยออกมาแล้วว่านํ้าตาลติดง่ายกว่าโคเคน 10 เท่า การติดนํ้าตาลเป็นกลไกเดียวกับคนติดยาเสพติด เมื่อได้รับ สมองรับรู้ว่าได้รับรางวัล พึงพอใจ ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานมาในรูป ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สมองจึงชินอยากกินหวานมากขึ้น

 

ภญ.พญ.ดร.ศรินรัตน์ ยังให้คำแนะนำว่า ทำไมไม่ควรกินหวาน เพราะไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อร่างกายและหากเลี่ยงได้ควรเลี่ยง เนื่องจาก นํ้าตาล หรือสารให้ความหวานกระตุ้นอินซูลินพรํ่าเพรื่อ จะเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา

 

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยกับ รศ.ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวว่า ควรสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าการขึ้นภาษีนํ้าตาล อาจจะมีส่วนช่วยให้พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไปได้ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการปรับความเคยชินในการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด เค็มจัด หรือมันจัด ให้อยู่ในระดับที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

 

“การค่อยๆ ปรับลดมาจะช่วยให้ควบคุมได้อย่างถาวร การปลูกฝังตั้งแต่ในโรงเรียนและการรณรงค์อย่างต่อเนื่องจะมีส่วนช่วยได้มากให้คนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน” รศ.ดร. ประไพศรี กล่าวทิ้งท้าย

 

สำหรับผมแล้วเห็นว่าการชูประเด็นเรื่องผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพน่าจะมีประโยชน์มากกว่าการขึ้นภาษี โดยเฉพาะการรณรงค์ถึงอันตรายของมันเมื่อบริโภค ใช้พรีเซนเตอร์ด้านสุขภาพดังๆ หลายๆ ท่าน มาร่วมรณรงค์เป็นแคมเปญเชิญชวนให้ความรู้ สร้างสรรค์และกำลังใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “ติดหวาน” น่าจะเห็นผลได้อย่างยั่งยืนมากกว่า

 

รู้มั้ยตอนนี้ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานหวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง ต่างๆเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่สร้างความเสียหายด้านค่าใช้จ่ายสูงสุดให้แก่ภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันรัฐได้สูญเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมเฉลี่ย 5 แสนล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยในอีกกว่า 10 ปีข้างหน้า

 

ดูๆ แล้วน่าวิตกกังวลกับคุณภาพชีวิตคนไทยในอนาคตไม่น้อยเลย

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่กระทรวงสาธารณสุข  ได้เร่งรณรงค์ทางอ้อมโดยให้กรมสรรพากร มีการจัดเก็บภาษีความหวานจากเครื่องดื่มเกือบทุกชนิดเพิ่มเป็นหลายเท่าตัว