เบื้องหลัง... กู้วิกฤติอุบลฯ

25 ก.ย. 2562 | 05:30 น.

คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,508 วันที่ 26-28 กันยายน 2562

 

ผมมีโอกาสไปร่วมในการอบรมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤติฯ จัดโดย กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ 5 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ในงานมีทั้งสื่อมวลชนที่เป็นสื่อเอกชนจากหลากหลายสื่อกว่า 30 ชีวิต สื่อที่อยู่สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ และฝ่ายสื่อสารองค์กรของหน่วยงานราชการอื่นๆรวมกันเกือบ 100 คน

เนื้อหาในการอบรมก็ว่ากันไป คงไม่สามารถนำมาเขียนอธิบายได้หมด แต่ที่นำมาเล่าต่อได้ คือ ได้ใช้โอกาสนี้สนทนากับหน่วยงานถึงสถานการณ์นํ้าท่วมที่อุบลราชธานี และพื้นที่อื่นๆ ในรอบนี้ ก็ได้ข้อมูลต่างๆ นานาตามแต่ละภารกิจของหน่วยงาน

สิ่งหนึ่งที่เล่าตรงกันคือปัญหาของ ระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System : ICS) ที่พื้นที่ประสบภัยจะต้องตั้ง ศูนย์ ICS นี้ เพื่อเป็นเครื่องมือที่ใช้สั่งการ ควบคุม และประสานความร่วมมือของแต่ละหน่วยงานในการจัดการในภาวะฉุกเฉิน และระดมทรัพยากรไปยังที่เกิดเหตุ เพื่อให้สามารถปกป้องชีวิต นึกภาพตามง่ายๆ คือ บทบาทของ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ตอนที่คุมสถานการณ์ที่ถํ้าหลวงขุนนํ้านางนอน กับความรุนแรงของภัยระดับ 2

 

เบื้องหลัง...  กู้วิกฤติอุบลฯ

พล..อนุพงษ์ เผ่าจินดา

 

ดังนั้นผู้บัญชาการศูนย์ ก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภัย ที่แบ่งเป็น 4 ระดับ ระดับ 1 เป็นสาธารณภัยขนาดเล็ก ท้องถิ่น อําเภอ สามารถควบคุมสถานการณ์และจัดการระงับภัยได้โดยลําพัง ระดับ 2 สาธารณภัยขนาดกลาง ท้องถิ่น อําเภอ ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ผู้อํานวยการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการจังหวัดจะเข้าควบคุมสถานการณ์

 

ระดับ 3 สาธารณภัยขนาดใหญ่ จังหวัดไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ผู้อํานวยการกลางหรือผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เข้าควบคุมสถานการณ์ และระดับ 4 สาธารณภัยขนาดร้ายแรงอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ควบคุมสถานการณ์

รอบหลายวันตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม-18 กันยายน อุบลราชธานีเป็นภัยระดับ 1 และขยับเป็น 2 ตามลำดับ แต่ทว่าผู้ว่าราชการจังหวัดกลับไม่มีการตั้งศูนย์ ICS นี้ขึ้นมา ทำให้การสื่อสารในภาวะวิกฤติไม่เกิดขึ้นการสั่งการ ควบคุมและประสานเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ต่างคนต่างทำ

เพราะเดิมทีหากหน่วยงานใด กู้ภัยจิตอาสา สื่อมวลชน ภาคประชาชน จะเข้าพื้นที่ต้องเข้ารายงานตัวและพึ่งพาศูนย์เป็นต้นทางลำดับแรก เพื่อไม่ให้เกิดความมั่วในการช่วยเหลือ

นั่นจึงทำให้บิ๊กป๊อก-พล..อนุพงษ์ เผ่าจินดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นท่าไม่ดี เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดไม่กล้าที่จะสื่อสารในภาวะแบบนี้ จึงใช้อำนาจในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ออกประกาศกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติยกระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ ระดับ 3 ในพื้นที่ 4 จังหวัด อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด

 

แล้วให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อํานวยการกลาง ดําเนินการและปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล อํานวยการ ประสานการปฏิบัติฯ และให้จัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) หรือ ศูนย์ ICS ที่ ปภ.เขต 13 อุบลราชธานี โดยมี นายบุญธรรม เลิศสุขเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้กํากับควบคุมพื้นที่ (Area Command) ในพื้นที่ 4 จังหวัด

ฟังจากหลายหน่วยก็บอกตรงกันว่า ถือว่าล่าช้ากับการตัดสินใจ แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไร แต่ข้อมูลอีกฝั่งระบุว่า ให้ความเป็นธรรมกับผู้ว่าฯ อุบลราชธานี ก็บอกว่า ด้วยความที่เป็นสถานการณ์ใหญ่ เป็นพื้นที่ชิงหน้าสื่อในทางการเมือง รัฐมนตรีลงพื้นที่รายวัน ..ทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาลก็ไม่ต่างกัน ทำเอาทั้งจังหวัด ส่วนราชการ ก็พะวงกับการคอยต้อนรับ พาลงพื้นที่ เกรงนายจะว่าถ้ามาแล้วไม่ได้เจอ ก็กลัวจะมีปัญหา

 

เบื้องหลัง...  กู้วิกฤติอุบลฯ