ทำอย่างไรจะลดปัญหารถติด ใน กทม.

22 ก.ย. 2562 | 02:00 น.

 

คอลัมน์รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3507 วันที่ 22-25 กันยายน 2562

 

รถติดดูจะเป็นปัญหาหลักที่คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต่างยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขเป็นลำดับต้นๆ คุณภาพชีวิตของชาวกรุงเสียไปเพราะการใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนน 3-4 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน จริงๆ แล้วเรื่องนี้ผมว่าเราพูดกันมานานมากแล้ว แต่เพราะเหตุใดปัญหานี้ยังไม่ได้มีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ

บทความนี้จะมาแสดงให้เห็นถึงปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้ปัญหานี้ยังคงอยู่คู่กับกรุงเทพ มหานคร (กทม.) มาอย่างยาว นาน และแน่นอนว่าในตอนท้ายของบทความก็จะได้นำเสนอวิธีที่ทั้งภาครัฐและประชาชนจำเป็นต้องยอมรับภาระบางอย่าง หากต้องการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

หากเราพูดถึงรถติดในกรุงเทพฯ คนบางส่วนก็จะกล่าวหาว่าทำไมกรุงเทพมหานครไม่จัดการเรื่องการจราจรให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เรื่องนี้คงต้องอธิบายให้เข้าใจก่อนว่า เรื่องการจัดการเกี่ยวกับการจราจรในกรุงเทพ มหานคร ไม่ได้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของผู้ว่าราชการ กรุงเทพฯ แต่อย่างใด หากแต่อยู่ในส่วนที่เป็นความรับผิดชอบของตำรวจจราจร นั่นหมายความว่าเราควรต้องไปต่อว่าตำรวจจราจร ว่าทำงานบกพร่องหรือ?

ในส่วนนี้ต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอัตราส่วน ของอาคาร และผู้อาศัยกับอัตรา ส่วนของถนนที่จะไม่ให้เกิดปัญหารถติด

จากงานวิจัยพบว่าพื้นที่ที่เป็นถนนควรจะมีไม่น้อยกว่า 30% ซึ่งหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกที่มีการอยู่อาศัยที่หนาแน่น ซึ่งมีพื้นที่ถนนน้อยกว่าอัตราส่วนที่กำหนดดังกล่าว ก็จะใช้วิธีการในการสร้างรถไฟฟ้าสาธารณะที่มีความถี่ของเที่ยวเพื่อให้เพียงพอกับจำนวนผู้ที่ประสงค์จะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสาธารณะ ดังนั้นการที่จะกล่าวหาว่ารถติดเป็นปัญหาที่มาจากการขาดประสิทธิภาพ ในการจัดการของตำรวจจราจรก็ดูจะไม่ถูกนัก

เมื่อย้อนกลับมาดูกรุงเทพ มหานครของเรา ซึ่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง และมีอัตราส่วนของถนนอยู่ไม่เกิน 4% ซึ่งถือว่าน้อยกว่าอัตราส่วนที่ควรจะเป็นอยู่มาก ประกอบกับการมีจำนวนรถไฟฟ้าสาธารณะที่มีจำนวนจำกัด

 

 

นอกจากนี้ยังเกิดข้อขัด ข้องในการให้บริการบ่อยครั้งอีกทั้งการจะเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าสาธารณะไม่ใช่เรื่องสะดวก ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางไปและกลับจากสถานี ซึ่ง ต่างจากหลายประเทศที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่จะใช้บริการรถไฟฟ้าสาธารณะ โดยมีที่จอดรถฟรี และมีรถรับส่งจากที่จอดรถไปยังสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนอยากที่จะใช้บริการรถไฟฟ้าสาธารณะมากขึ้น

นอกจากประเด็นที่กล่าวมาแล้ว เที่ยวการเดินรถของรถไฟฟ้าสาธารณะของกรุงเทพฯ ไม่มีความถี่เท่าที่ต่างประเทศจึงทำให้ไม่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่มีจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ด้วยเหตุนี้พี่น้องประชาชนโดยส่วนใหญ่ที่เคยใช้บริการรถไฟฟ้าสาธารณะจึงเคยพบกับประสบ การณ์ที่ต้องรอรถไฟฟ้าถึง 4-5 เที่ยว กว่าที่จะได้โดยสารรถไฟฟ้าไปยังจุดหมายได้

นั่นหมายความว่าแม้จะเดินทางมาถึงสถานีรถไฟฟ้าแล้ว ก็ใช่ว่าจะสามารถกะระยะเวลาที่จะเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางได้ เพราะไม่ทราบว่าจะได้ขึ้นรถเมื่อไหร่

 

ทำอย่างไรจะลดปัญหารถติด ใน กทม.

 

เหตุผลเหล่านี้จึงนำไปสู่การที่คนจำนวนไม่น้อยที่อยากเลือกใช้ช่องทางการบริการรถไฟฟ้าสาธารณะ เลือกที่จะใช้รถส่วนตัวในการเดินทางมากกว่า ประกอบกับค่านิยมของคนไทยที่เห็นว่า การมีรถยนต์ส่วนตัวขับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการประสบความสำเร็จอย่างหนึ่ง ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นเป็นการเพิ่มจำนวนรถยนต์ส่วนตัวในถนนที่มีอยู่จำกัดในกรุงเทพ มหานครให้มีปัญหาหนักยิ่งขึ้นไปอีก

 แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร หากจะมองว่าเมื่อเรามีพื้นที่ถนนไม่ได้อัตราส่วนที่เหมาะสม เราก็ควรจะเพิ่มจำนวนถนน ซึ่งประเด็นนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะนั่นหมายความว่ารัฐจะต้องมีการขอเวนคืนที่ดินจากประชาชนจำนวนมากมาเพื่อสร้างถนน ซึ่งนอกจากใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ใช้เวลาในการดำเนินการนาน และในระหว่างดำเนินการก็จะเป็นการเพิ่มปัญหารถติดไปทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร

หากเป็นเช่นนี้แล้วปัญหารถติดหนักในกรุงเทพฯ จะแก้ได้อย่างไร การเร่งสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มอีกหลายสาย แม้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรถปัญหาจราจรในอนาคต แต่หากกระบวนการหรือวิธีการจัดการที่จะจูงใจให้ผู้ที่มีรถยนต์ส่วนบุคคลหันไปใช้บริการรถสาธารณะไม่สามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม การสร้างรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นก็จะไม่เป็นการแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์เรื่องนี้อยู่ดี

 

หากเราหันไปดูว่าต่างประเทศใช้วิธีอะไรบ้างในการแก้ปัญหานี้ จะเห็นได้ว่ามาตรการที่เป็นผลโดยส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการที่มีการเรียกเก็บเงินเพิ่ม หรือนำใบเสร็จที่ใช้จ่ายในการรับบริการสาธารณะมาหักลดหย่อนภาษี หรือการเรียกเก็บค่าผ่านทางสำหรับรถที่ไม่ใช่รถในพื้นที่ แต่จะวิ่งเข้าไปในพื้นที่ที่มีการจราจรคับคั่ง เพื่อทำให้คนหันไปใช้บริการรถสาธารณะแทน ที่จะใช้รถส่วนตัว

แนวทางสุดท้ายจริงๆ ประเทศไทยเราก็เคยมีการเสนอให้ใช้แล้วในพื้นที่ถนนสีลม สาทร แต่สุดท้ายก็เกิดการต่อต้านจนไม่มีการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนนี้หากเราเห็นว่าเรื่องรถติดเป็นปัญหาที่ควรรับผิดชอบร่วมกันแม้ว่ามาตรการบางอย่างที่อาจจะกระทบกับเราบ้าง ก็ควรต้องให้ความร่วมมือ

ดังนั้นผู้เขียนขอเสนอว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ ควรให้ภาครัฐจัดให้มีบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอกับความต้องการของประชาชน โดยควรจัดให้มีที่จอดรถฟรีสำหรับผู้ที่จะจอดรถเพื่อใช้บริการรถไฟฟ้าสาธารณะ นอกจากนี้ควรจัดให้มีรถโดยสารสาธารณะฟรีสำหรับบุคคลที่จะเดินทางไปขึ้นรถไฟฟ้า หรือเดินทางจากรถไฟฟ้าไปยังอาคารจอดรถ

ส่วนภาคประชาชนหากรัฐมีมาตรการใดๆ ที่มุ่งนำมาใช้เพื่อการลดปัญหาจราจรก็ควรสนับสนุน แม้ว่ามาตรการนั้นๆ อาจจะส่งผลกระทบกับตัวประชาชนผู้ปฏิบัติไปบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วผลที่จะได้รับจากมาตรการจะส่งผลดีกับสังคมโดยส่วนรวม

 เพราะฉะนั้นหากภาครัฐและภาคประชาชนร่วมใจกันอย่างที่กล่าวมานี้ ปัญหาการจราจรก็คงจะค่อยๆ ทุเลาเบาบางลงเป็นลำดับ

 

ทำอย่างไรจะลดปัญหารถติด ใน กทม.