มองจีน มองไทย... นักการเมืองกัดกัน=ถ่วงประเทศ?

13 ก.ย. 2562 | 12:00 น.

 

คอลัมน์ ล้วงตับ โดย จิ้งจกตัวใหญ่

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3505 หน้า 7 วันที่ 15 - 18 กันยายน 2562

 

ท่ามกลางการเมืองไทยช่วงนี้ร้อนระอุยิ่งกว่าลาวาในภูเขาไฟปะทุเสียอีก หลากหลายประเด็นที่ขัดแย้งกันทั้งในและนอกสภา ฝ่ายค้านก็จ้องจับ ผิดหาเรื่องหาราวปาหินใส่ฝั่งรัฐบาลแบบไม่มีหยุดพัก

ฝั่งรัฐบาลเองก็ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน สวนวาทะกลับไปตอบโต้ระหว่างกันอย่างไร้ซึ่งประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง พายุดิจิทัลลูกใหญ่กำลังซัดเข้าโหมกระหนํ่าที่ประชาชนฐานราก ใยนักการเมืองทั้งหลายถึงเลือกอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่กลับเลือกนั่งนิ่งดูดายทนดูความเดือดร้อนของประชาชนฐานรากจากการถูกพายุดิจิทัลซัดเข้าจังๆ หลายคนไม่ปรับตัวก็ยากจนอยู่วันยังคํ่า

ขอเล่าเรื่องย้อนหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เพื่อเตือนสติกวักมือนักการเมืองให้ลืมตามองดูสัญญาณเตือนครั้งใหญ่จากจีนแผ่นดินใหญ่ วันนี้เขาสามารถปลูกทุเรียนหมอนทองได้เองแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่คนไทยจะนิ่งดูดาย เพราะการที่จีนคิดจะทำอะไรแล้ว ไม่มีคำว่าทำไม่ได้

เชื่อว่าหลายคนคงจำได้ดีในสมัยหนึ่ง จีน คือตลาดยางที่ใหญ่ของประเทศที่ปลูกยางทั้งหลายในเอเชียใต้ ราคายางถูกควบคุมด้วยกลไกตลาดยางที่จีน เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเราดันไปเชื่อความคิดที่ว่า เพราะจีนไม่มีปัญญาปลูกยางเองได้ จึงนำเข้าจำนวนมหาศาล เพราะแผ่นดินจีนไม่สามารถปลูกได้

แต่ลืมวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนไปว่า จีนมีดินแดนที่กว้างใหญ่ หลายมณฑลมีภูมิประเทศที่หลากหลายตั้งแต่ระดับหนาวสุดขั้ว ชุ่มชื้น จนแห้งแล้ง ยิ่งกว่านั้นสามารถเช่าที่ดินที่มีภูมิอากาศใกล้เคียงกับไทย แถบประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพาะปลูกแทน


 

 

มากไปกว่านั้น ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จีนมีนั้น ทำให้เกิดความวิปโยคของยางทันที เมื่อจีนสามารถปลูกยางเองได้ และมีการนำยางเข้าน้อยลง จากนั้นมาเราก็ไม่เคยเห็นยางแตะที่ราคา 100 บาทอีกเลย

จีนเขานำเทคโนโลยี และ นวัตกรรมมาใช้ในการหาวิธีปลูกพืชผลทางเกษตรและผลิตสินค้าที่ขายดีด้วยตัวเอง เพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศอื่น แล้วปล่อยสินค้าของตัวเองเข้าตีตลาดด้วยราคาที่่ตํ่ากว่ามาก เรียกว่า ทุ่มตลาดทุเรียนไทยกำลังจะประสบชะตากรรมเดียวกัน ทั้งๆ กำลังขึ้นหม้อ มีจำนวนส่งออกมากในสัดส่วนตลาดจีนกว่า 80% และมีราคาสูงก็ตาม ถ้าหากบ้านเรายังยํ่าอยู่กับที่ไม่ปรับตัวเท่าทันเทคโนโลยี

 

มองจีน มองไทย...  นักการเมืองกัดกัน=ถ่วงประเทศ?

 

หากทอดบทเรียนการที่จีนสามารถปลูกทุเรียนเองได้นั้น ถ้ามองลงไปอีกจะเห็นว่า ไม่ใช่แค่จีน เพราะทุเรียนที่จีนใช้ทดลองปลูกจนสำเร็จนั้น ใช้สายพันธ์ุทุเรียนที่พัฒนามาจากประเทศมาเลเซีย นั่นหมายความว่า เพื่อนบ้านเรานั้น ไม่ใช่ประเทศเดียวที่พัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนให้ดีมีคุณภาพ ยังมีเวียดนาม และอินโดนีเซียอีกที่พยายามตีตื้นเรา ซึ่งเขาล้วนใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งสิ้น

คงต้องย้อนมองดูตัวเอง (ไทย) แล้วว่าเรามีดีอะไรนอกจากคุณภาพ ของผลผลิตทางการเกษตร อะไรคือเครื่องการันตีและที่สำคัญอะไรคือสิ่งที่จะรักษาคุณภาพได้นอกจากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

 

แต่อย่างว่า หลายคนบอกเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความจำเป็นอย่างนู้นอย่างนี้ รัฐบาลก็ออกมาตีฆ้องร้องป่าวประกาศว่า เราจะนำประเทศไปสู่ยุค 4.0 นำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตร ทำสมาร์ทฟาร์มนู่นนี่นั่น แต่สุดท้ายติดบ่วงหรือกับดักที่ว่าเกษตรกรหรือประชาชนฐานราก ไม่เข้า ถึงและไม่รู้จักนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เลยต่อให้รัฐบาลจะพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเดียวแต่กลับไม่สอนเขาให้ความรู้เขา นำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยอย่างเป็นรูปธรรม ท้ายที่สุด เกษตรกรหรือประชาชนฐานราก ก็ถูก Disrupt จากพายุดิจิทัลอยู่ดี และจะเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

คงต้องบอกว่า...การที่จะผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เข้ามาในภาคเกษตรนั้น คงไม่ใช่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งถึงจะสำเร็จได้ แต่กระทรวงแรกที่จะต้องทำและเป็นหน้าที่โดยตรง คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวง ต้องผลักดันและให้ความรู้ ความสำคัญ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ลงไปสู่ฐานราก และที่สำคัญต้องสอนเขาด้วยอย่างจริงจัง ไม่ใช่เอาแต่ทฤษฎี อยู่แต่ในรายการและพรีเซนสเตชันสวยหรูอย่างเดียว

อีกอย่างได้ข่าวมาว่า คนรับผิดชอบกระทรวงนี้มาจากพลังแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในวิปรัฐบาลนั้นก็มีคนที่มากความรู้ความสามารถระดับปริญญาเอก เป็นดอกเตอร์กันหลายคน และฝ่ายค้านเองหลายพรรค ทั้งพรรคยุคไนโดเสาร์ ยุคแห่งอนาคต ต่างก็มี ความรู้ความสามารถสูงยิ่งปัญญาชน น่าจะมาช่วยกันหาทางออกและพัฒนาประเทศ ช่วยเกษตรกรให้เป็น สมาร์ทฟาร์เมอร์ดีกว่ามากัดกันทั้งในและนอกสภา เป็นการฉุดประเทศ และไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อชาติบ้านเมืองและปากท้องของพี่น้องคนไทยเลย

 

มองจีน มองไทย...  นักการเมืองกัดกัน=ถ่วงประเทศ?