เข้าใจกลไกการทำงานของอาเซียน

11 ก.ย. 2562 | 04:05 น.

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3504 วันที่ 12-14 กันยายน 2562

 

ปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียน และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนรอบปลายปีก็จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน นอกจากการประชุมระดับผู้นำแล้ว อาเซียนยังมีการประชุมระดับรัฐมนตรี ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับผู้ปฏิบัติงาน การประชุมภาคเอกชน การประชุมนักวิชาการ การประชุมของภาคประชาสังคม การประชุมของเด็กและเยาวชน ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็น การประชุมและการตั้งคณะทำงานขึ้นมาในทุกมิติและในทุกระดับ

ทั้งนี้เพราะประชาคมอาเซียนคือความร่วมมือของ 10 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทุกเรื่องที่ครอบคลุมทั้งมิติการเมือง ความมั่นคง สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ จากต้นปีมาจนถึงวันนี้เรามีการประชุมเกิดขึ้นในประเทศไปแล้วมากกว่า 200 การประชุม คุณผู้อ่านคงเริ่มมีคำถามว่า แล้วที่เจรจากันไป ตกลงกันไป และหาข้อสรุปได้ในแต่ละมิติแต่ละเรื่อง ใครล่ะที่เป็นผู้ประสานงาน เป็นผู้บังคับใช้ เป็นผู้ติดตามให้เรื่องต่างๆ ข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้มันเกิดขึ้นจริง

กลไกการทำงานเพื่อติด ตามและบังคับใช้ให้ข้อตกลงต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง แบ่งออกเป็น 3 ระดับครับ เริ่มจากระดับที่ 1 สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ซึ่งตามกฎบัตรอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียนเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีตัวตนทางกฎหมาย ตั้งอยู่ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างประเทศสมาชิก โดยมีเลขาธิการอาเซียน (Secretary-General of ASEAN) เป็นหัวหน้าสำนักงาน


 

 

โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนจะเป็นผู้แต่งตั้งเลขาธิการอาเซียนจากคนชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนบนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร เลขาธิการอาเซียนมีวาระการ ดำรงตำแหน่ง 5 ปีเท่านั้น ไม่สามารถต่ออายุได้ ปัจจุบันเลขาธิการอาเซียนคือ Dato’ Paduka Lim Jock Hoi อดีตนักการทูตอาวุโสซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยรัฐบาลบรูไน ที่ผ่านมาผู้แทนจากประเทศไทยดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนแล้ว 2 ท่าน คือ คุณแผน วรรณเมธี ระหว่างปี 1982-1986 และ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ระหว่างปี 2008-2012

จากระดับภูมิภาคที่เป็นแกนกลาง ก็มาถึงระดับที่ 2 สำนัก งานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ (ASEAN National Secretariat) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกรมในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศ ไทยเรียกหน่วยงานนี้ว่า กรมอาเซียน ปัจจุบันมี ดร.สุริยา จินดาวงษ์ ทำหน้าที่เป็นอธิบดี มีหน้าที่ประสานกิจการอาเซียนที่แน่นอนว่าคาบเกี่ยวกับการทำงานของทุกกระทรวง ในหลายๆ กรมให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พิมพ์เขียวประชาคม และแผนงานต่างๆ ของอาเซียน รวมทั้งต้องทำหน้าที่ติดตามผลการดำเนินงานในระดับประเทศ

 

เข้าใจกลไกการทำงานของอาเซียน

 

โดยกรมอาเซียนประกอบด้วยหน่วยงานระดับกอง 3 หน่วยงานตามเสาหลักของอาเซียนนั่นคือ กองการเมืองและความมั่นคง, กองเศรษฐกิจ และกองสังคม และวัฒนธรรม จากนั้นก็มีกองยุทธศาสตร์และความร่วมมืออาเซียน ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมให้กิจการของทั้ง 3 เสาหลักสอดคล้องพ้องกัน พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนให้ผลประโยชน์ของไทยและผลประโยชน์ของอาเซียนเป็นไปทิศทางเดียวกัน มีกองความสัมพันธ์กับคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลกิจการระหว่างไทย อาเซียนและประเทศ อื่นๆ นอกอาเซียน และก็มีสำนักงานเลขานุการกรมดูแลกิจการต่างๆ ภายในกรม

ระดับที่ 3 จะเป็นตัวกลางระหว่างสำนักเลขาธิการอาเซียนที่จาการ์ตา และกรมอาเซียนในประเทศไทย เรามีหน่วยงานที่เรียกว่า คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (Committee of Permanent Representatives- CPR) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนระดับเอกอัครราชทูต แต่เรียกตำแหน่งว่า เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน มีภารกิจในการสนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา รวมทั้งประสานงานกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ ตลอดจนดูแลความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนภายนอก

 

ประเทศไทยได้แต่งตั้ง คุณภาสพร สังฆสุบรรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำอาเซียนและมีคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนิเซีย คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียนได้รับบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียน (The Community Councils) องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา (Sectoral Ministerial Bodies) สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ

และในวาระที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของเรา ก็ได้รับเกียรติให้เป็นผู้จัดเวทีเสวนาครั้งสำคัญที่ คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศนั่นคือ ท่านทูตของประเทศอาเซียน 10 คนจะขึ้นเวทีเดียวกัน (ซึ่งปกติแล้วเรามักจะไม่ค่อยเห็นท่านทูตหลายๆ คนขึ้นเวทีเดียวกัน เนื่องจากบางครั้งการแสดงความคิดเห็น ถึงแม้เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัว แต่เมื่อออกจากปากท่านทูตก็อาจจะถูกตีความและกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้) นอก จากทูตอาเซียน 10 คน 10 ประเทศแล้ว เราก็ได้รับเกียรติจากรองเลขาธิการอาเซียนด้านการเมืองความมั่นคง มาบอกเล่าเรื่องราวของ ประชาคมอาเซียนจากทุกมุมมอง ในหัวข้อเสวนาCPR and its Linkage to ASEAN”

งานนี้เราเปิดให้นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปเข้ารับฟังการเสวนาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และคณะผู้จัดก็เตรียมการไว้แล้วว่า จะใช้ภาษาให้ง่ายที่สุดในการอธิบายเรื่องต่างๆ เพื่อให้คนที่ไม่มีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องอาเซียนเลยก็สามารถเข้าใจได้

ดังนั้นท่านผู้อ่านท่านใดที่สนใจ สามารถเข้าร่วมฟังการเสวนาได้ในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน ศกนี้ ตั้งแต่เวลา 09.30-12.00 . ห้องบรรยาย 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยห้องบรรยายนี้คือห้องบรรยายที่ทรงเกียรติและเก่าแก่ที่สุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารหอประชุมใหญ่จุฬาฯ เรียนเชิญท่านผู้สนใจทุกท่านนะครับ และสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-2218-3929 หรือ www.asean.chula.ac.th

 

เข้าใจกลไกการทำงานของอาเซียน