เมื่อคนอังกฤษถามหา ‘ประชาธิปไตย’ จากนายกฯคนใหม่

07 ก.ย. 2562 | 02:00 น.

 

คอลัมน์ รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3503 หน้า 7 วันที่ 8-11 กันยายน 2562

 

บทความสุดท้ายที่ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่อง Brexit ก็คือตอนก่อนที่ตัวเองจะย้ายกลับมาอยู่ประเทศไทยเป็นการถาวรช่วงประมาณปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยความที่เรียนอยู่ที่อังกฤษทำให้ใกล้ชิดกับสถานการณ์โดยเฉพาะเรื่องแนวคิดที่แตกแยกกันระหว่างกลุ่มที่อยากแยกตัวออกจาก EU กับกลุ่มที่อยากให้ประเทศยังเป็นสมาชิกของ EU ต่อไป ซึ่งมีอัตราส่วนแตกต่างกันไม่มาก (ไม่ถึง 2%)

และถึงแม้จะย้ายกลับมาอยู่ไทยแล้ว ผมก็ยังคงติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากเส้นตายในการแยกตัวได้ขยับมาเป็นวันฮาโลวีน หรือก็คือวันที่ 31 ตุลาคมนั่นเอง จึงทำให้ผมพักไปเขียนประเด็นกฎหมายอื่นๆ บ้าง ซึ่งในช่วงกว่า 4 เดือนที่ผ่านมา ประเด็นที่เป็นที่จับตาหลักๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ เห็นจะไม่พ้นการที่อดีตนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ลาออกจากตำแหน่ง และ นายบอริส จอห์นสัน สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม ได้รับเลือกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

 

เมื่อคนอังกฤษถามหา  ‘ประชาธิปไตย’  จากนายกฯคนใหม่

บอริส จอห์นสัน

 

ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนตัว นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ จะไม่ได้ช่วยให้การแก้ปัญหาเกี่ยวกับ Brexit เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ในทางกลับกันกลับทำให้ปัญหาและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศกลับยิ่งแย่ลง ซึ่งเห็นได้จากการอ่อนตัวและภาวะความผันผวนอย่างหนักของค่าเงินปอนด์ หากจะพิจารณาว่าปัญหาในสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างการทำงานของนายกรัฐมนตรีทั้ง2 คนนี้แตกต่างกันอย่างไร คงต้องกล่าวว่ามีรูปแบบความขัดแย้งในสภาฯ ที่ต่างกัน แต่ได้ผลลัพธ์จากการ ขาดเสียงสนับสนุนรัฐบาลไม่แตกต่างกันเท่าไหร่

ในยุคของอดีตนายกฯ เมย์ ดูเหมือนว่าทั้งผู้แทนฯ จากพรรคแรงงานที่เป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน หรือแม้แต่ผู้แทนฯ ที่เป็นสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาลเอง ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาเรื่อง Brexit ในสภาฯ ของอดีตนายกฯ เมย์ จนทำให้แพ้ผลโหวตในสภาฯ ถึง 3 ครั้ง ส่วนในกรณีของ นายกบอริส จอห์นสัน นั้น มีสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมที่แตกแถวไปโหวตสนับสนุนพรรคแรงงานถึง 21 คน ซึ่งทำให้สุดท้ายสิ่งที่นายกฯคนปัจจุบันของอังกฤษเสนอ ก็พ่ายแพ้ไม่ต่างอะไรจากเมื่อครั้งอดีตนายกฯเมย์อยู่ในตำแหน่ง


 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่นายกฯ ทั้ง 2 คนนี้แตกต่างกันคือ อดีตนายกฯ เมย์ จริงๆ แล้วความเห็นโดยส่วนตัวของท่านเองต้องการที่จะให้ประเทศอยู่เป็นสมาชิกของ EU ต่อไป หรืออาจเรียกได้ว่าแรกเริ่มเดิมทีท่านเป็น Remainer แต่เนื่องจากต้องขึ้นมาทำหน้าที่เป็นนายกฯ แทน นายเดวิด คาเมรอน ที่ลาออกไป จึงต้องมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวนการการแยกตัวตามผลประชามติของประเทศ (ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ขัดกับความเห็นส่วนตัวของตัวเองอย่างสุดขั้ว) อาจเป็นเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ อดีตนายกฯเมย์ พยายามทำทุกทางที่จะเสนอเพื่อให้ได้ข้อตกลง ที่แม้ว่า UK จะแยกตัวออกจาก EU แล้ว แต่ก็จะได้รับผลเสียน้อยที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าจึงยังทำให้การดำเนินการบางเรื่องจำต้องมีจุดที่เกาะเกี่ยวกับ EU อยู่บ้าง

เช่น การเสนอให้ยังคงสถานะเป็นสมาชิกของ Custom Union ของ EU และนี่เองเป็นเหตุผลที่ทำให้คนในพรรคอนุรักษ์นิยม เกิดความไม่พอใจว่าทำไมไม่ให้มีการแยกตัวเด็ดขาดจาก EU ไปเลย ซึ่งแตกต่างจากนายกฯ บอริส จอห์นสัน ซึ่งแสดงจุดยืนอย่างชัดแจ้งมาโดยตลอดว่าตนเองเป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องการให้ UK แยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกของ EU หรือที่เรียกว่า Brexiteer

ดังนั้นเมื่อจุดยืนของนายกทั้ง 2​ คนนี้ต่างกัน จึงทำให้รูปแบบในการแก้ปัญหาเรื่อง Brexit นั้น ก็ย่อมต้องมีความแตกต่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากการที่อดีตนายกฯเมย์ พยายามจะหาจุดที่ให้ประเทศเสียหายน้อยที่สุด แต่นายบอริส จอห์นสัน กลับแถลงชัดเจนว่าไม่สนใจว่าวันที่ 31​ ตุลาคม 2562​ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการแยกตัว ก็ควรต้องปล่อยให้มีการแยกตัว ไม่ว่าจะเป็นการแยกตัวแบบมีข้อตกลง หรือไม่มีข้อตกลงกับ EU เลยก็ตาม ซึ่งจุดนี้เองที่สร้างความกังวลให้กับประชาชนในประเทศ รวมถึงสมาชิกพรรครัฐบาลหลายต่อหลายคน จนเป็นเหตุให้นายกฯคนปัจจุบันแพ้โหวตในสภาฯ ไป

จริงๆ เรื่องนี้พอจะมีทางออกไม่ให้การแยกตัวเกิดขึ้นในระหว่างที่ UK กับ EU ยังไม่สามารถที่จะหาข้อตกลงที่เห็นพ้องต้องกันทั้ง 2 ฝ่ายได้ นั่นก็คือการขอเลื่อนระยะเวลาการแยกตัวต่อไปอีกสักระยะอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้หากสมาชิกของสภาผู้แทนฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 2​ ใน 3 ลงมติให้ความเห็นชอบในการขอขยายระยะเวลาการแยกตัวจาก EU ออกไปก่อน ผลโหวตดังกล่าวจะเป็นการบังคับให้นายกฯบอริส จอห์นสัน จำเป็นต้องนำมติของสภาฯ ไปยื่นขอขยายระยะเวลาการแยกตัวออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับสิ่งที่นายกฯบอริส จอห์นสัน ต้องการให้เกิดการแยกตัวในวันที่ 31 ตุลาคมที่จะถึงนี้

 

สิ่งที่ทำให้ประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนช็อกก็คือ การตัดสินใจของนายกฯบอริส จอห์นสัน ที่จะให้สภาฯ หยุดการทำงานชั่วคราวจนกว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะกล่าวเปิดประชุมสภาฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 ตุลาคม 2562​ นั่นหมายความว่าเรื่องการพิจารณาในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ Brexit ของสภาฯ จะถูกหยุดไว้ชั่วคราวจนกว่าจะถึงวันดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าสภาฯ จะมีเวลาเหลือเพียง 17 วันเท่านั้นที่จะหาทางออกในเรื่อง Brexit

การตัดสินใจครั้งนี้ของนายกฯบอริส จอห์นสัน เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในทุกกลุ่ม และมีผู้คนจำนวนมากที่ออกมาถามว่าประชาธิปไตยของอังกฤษมันหายไปไหนการตัดสินใจแบบนี้ของนายกฯ เป็นเหมือนประชาธิปไตยเผด็จการของนายกฯ ที่ชื่อว่า บอริส จอห์นสัน

หากจะถามว่าการหยุดการทำหน้าที่ของสภาฯ ไว้ชั่วคราวเคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อังกฤษมั้ย ก็คงต้องตอบว่ามี แต่เป็นการหยุดเพียง 4 วันบ้าง 13 วันบ้าง แต่นี่จะเป็นการหยุดการทำหน้าที่ที่ยาวที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษ

โดยส่วนตัวของผมซึ่งติดตามเรื่อง Brexit มาอย่างใกล้ชิดไม่แปลกใจกับการตัดสินใจของนายกฯบอริส จอห์นสันสักเท่าไหร่ เพราะเมื่อท่านต้องการให้ประเทศมีการแยกตัวออกจาก EU ในวันที่ 31 ตุลาคม ไม่ว่าจะมีข้อตกลงหรือไม่ก็ตาม ท่านก็คงจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะขจัดกระบวนการใดๆ ที่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้สิ่งที่ตัวเองต้องการไม่เป็นผลออกไปให้พ้นทาง แต่สิ่งที่ทำไปนั้น นอกจากดูจะขัดแย้งกับวิถีทางประชาธิปไตยของอังกฤษซึ่งเป็นประเทศต้นแบบของระบอบประชาธิปไตยในโลกยุคใหม่แล้ว บุคคลที่ต้องแบกรับการตัดสินใจของนายกคนปัจจุบันท่านนี้ก็คือประชาชนตาดำๆ ทั้งประเทศ ที่มีแนวโน้มจะต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หากวันที่ 31 ตุลาคมนี้ UK ต้องแยกตัวออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง

ผมเองได้แต่หวัง ให้มีปาฏิหารย์ที่จะทำให้ปัญหาเรื่อง Brexit ได้รับการแก้ไขไปในทาง ที่ดีที่สุด กระทบต่อประชาชนในประเทศ และเศรษฐกิจ โลกน้อยที่สุดด้วยเช่นกัน

 

เมื่อคนอังกฤษถามหา  ‘ประชาธิปไตย’  จากนายกฯคนใหม่