อีกปัญหาใหญ่สังคมไทย เด็กเจนอัลฟ่า เสี่ยงซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย

05 กันยายน 2562

คอลัมน์ปฏิกิริยา ฐานเศรษฐกิจ ...โดย บิ๊กอ๊อด ปากพนัง

 

ต้องยอมรับว่าสถานะการเงินมีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกและความผันผวนทางเศรษฐกิจ สร้างวังวนจนเครียดป่วย เข้าข่ายที่ว่ารายได้น้อยลง แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความเครียด เมื่อเกิดสภาวะเครียดกดดัน ก็จะส่งผลกระทบเป็นวัฏจักรวนเวียนอยู่ไม่รู้จบ

 

ผู้เขียนอ่านพบข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ว่าคนไทยเราเป็นโรคเครียดซึมเศร้ามีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเหตุให้มีการฆ่าตัวตาย และน่าใจหายเมื่อพบว่า

 

“โรคซึมเศร้าในวัยรุ่นมีอัตราสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าเป็นห่วงหากรุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งเริ่มมีให้เห็นบ่อยครั้งมากขึ้นทุกปี”

 

โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นเจนอัลฟ่า หรือกลุ่มเด็กที่เกิดหลังปี 2553 เป็นรุ่นลูกของเจน Y และเจน Z  ซึ่งเป็นเด็กเจเนอเรชันใหม่เกิดขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยี และแอพพลิเคชันมากมาย รู้สึกน่าเห็นใจ และสัมผัสได้ถึงความน่าเห็นใจ หน้าตาเศร้าหมอง อ้างว้างมากขึ้น ขาดการสื่อสารพุดคุย  พ่อแม่มักอ้างไม่มีเวลา ยื่นให้แต่เงิน อ้างปัญหาเศรษฐกิจต้องทำมาหากิน  ไม่ใส่ใจเท่าที่ควร กดดันสูง ทำวัยรุ่นป่วยมากขึ้น สวนทางเทคโนโลยีสื่อสารที่ก้าวกระโดด แต่ทำให้วัยรุ่นสู่วงจรโดดเดี่ยว 

 

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า สังคมไทยมีความกังวลกับภาวะซึมเศร้า สอดรับกับรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบ 300 ล้านคน เป็นโรคซึมเศร้า ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ

 

 

การสูญเสียจากการฆ่าตัวตายในไทยมีค่อนข้างสูง เฉลี่ย 6 คนต่อประชากร 1 แสนคน เป็นเรื่องน่าห่วง

 

การทำความเข้าใจภาวะซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่นมีความสำคัญ ต้องสื่อสารในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม ช่วยกันป้องกันผลกระทบให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียซ้ำในสังคมไทย

 

โดยมีข้อมูลพบว่า ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ส่วนในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน

 

แม้โรคซึมเศร้าจะเป็นในกลุ่มเยาวชนน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

ที่สำคัญข้อมูลจากการศึกษาพบว่า แนวโน้มการฆ่าตัวตายของกลุ่มเยาวชนค่อนข้างจะสูงขึ้นกว่ากลุ่มอื่นๆในระยะหลังๆ

 

โรคซึมเศร้า มีสาเหตุหลากหลาย แต่ทางการแพทย์ระบุว่าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง แต่ก็ไม่ทิ้งสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจการเงิน ความผิดหวัง ความสัมพันธ์ ความรัก ความสูญเสีย เป็นต้น หากเยาวชนไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ จะทำให้ทุกปัญหากลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าและคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้

 

อาการของโรคซึมเศร้า มีตั้งแต่เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ มีความคิดอยากตาย บ้างกินมาก บ้างกินน้อย

 

ซึ่งคนรอบข้างสามารถสังเกตอาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติ ได้แก่ อาการเหม่อลอย    ไม่ร่าเริง แจ่มใส มาเข้าเรียนสายหรือไม่เข้าเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน หลับในห้องเรียน

 

อีกประเด็นเชื่อมโยงให้เยาวชนเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าคือเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน ที่ได้รับกล่าวถึงว่ามีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าของผู้บริโภค

อีกปัญหาใหญ่สังคมไทย เด็กเจนอัลฟ่า เสี่ยงซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย

 

ยิ่งตอนนี้เด็กเจเนอเรชันใหม่เกิดขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยี และแอพพลิเคชันมากมายที่มีทั้งดีและไม่ดี หากใช้อย่างไม่ระวัง ไม่เหมาะสม ไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง อนาคตจึงน่ากังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตมากในหลายๆ เรื่อง

 

ตั้งแต่ความรุนแรง ความเครียด ภาวะซึมเศร้า นี่ยังไม่นับรวมปัญหาอาชญากรรมที่อาศัยข้อมูลบนโซเชียลมีเดียอีก มีสัญญาณส่งให้เห็นว่าเยาวชนขาดปฏิสัมพันธ์หรือมีโลกส่วนตัวสูงเพราะสามารถขลุกอยู่กับ อปุกรณ์สื่อสารที่ติดตัวไปได้อย่างอิสระ

 

นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนในปัจจุบันยังมีความกดดันสูงต่อการแข่งขันรอบตัว และจากสภาพแวดล้อมและค่านิยมของสังคมที่เป็นตัวกระตุ้นว่าต้องเก่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอด

 

หรือแม้แต่ความรักของพ่อแม่ที่คอยประคบประหงม ตามใจ ทำให้เด็กและเยาวชนขาดทักษะการสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง ไม่สามารถจัดการปัญหาเมื่อเกิดความผิดหวังในชีวิต ทำให้ทุกปัญหาสามารถกลายเป็นสาเหตุให้เกิดความกังวล ความเครียด จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าและคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้

 

ควรจำไว้ว่าเด็กวัยรุ่นที่ซึมเศร้าอาจไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นอะไรอยู่ หรือรู้สึกว่ายากที่จะบอกความรู้สึกออกมา  พวกเขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีอาการของโรคซึมเศร้า อาการของโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นอาจต่างจากผู้ใหญ่

 

ดังนั้น พ่อแม่ต้องคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของลูกในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความประพฤติ นิสัยการกิน อารมณ์พฤติกรรมการนอน หรือการเข้าสังคม โดยเฉพาะถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นคงอยู่นานหลายสัปดาห์ให้ถือว่า เป็นเรื่องจริงจังเมื่อลูกพูดหรือทำอะไรบางอย่างที่บ่งบอกว่าเขาอยากฆ่าตัวตาย

อีกปัญหาใหญ่สังคมไทย เด็กเจนอัลฟ่า เสี่ยงซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย

 

ถ้าคุณสงสัยว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ใช่แค่ความรู้สึกเศร้าทั่ว ๆ ไปให้พาไปรับการตรวจวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญช่วยลูกให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ปรึกษาแพทย์ถ้าคุณเห็นว่าลูกอาการไม่ดีขึ้นหรือสังเกตเห็นผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ทำให้ครอบครัวมีกิจวัตรที่แน่นอนในเรื่องการกิน การออกกำลังกาย และการนอนหลับ

 

“การพูดคุยและรับฟังลูกเสมอ และช่วยลูกให้รับมือกับผลกระทบที่เกิดจากโรคซึมเศร้าทำให้ลูกมั่นใจว่าคุณรักเขาเสมอ” 

 

เพราะโรคซึมเศร้าจะทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว อับอาย และไม่มีค่า ใครที่มีลูก มีหลาน หรือญาติ แม้แต่เป็นเยาวชนที่คิดว่าตนกำลังหรือมีแนวโน้มที่จะป่วย โปรดไปขอคำแนะนำจากแพทย์ ปฏิบัติตามคำแนะนำ หากมียาต้องรับประทาน ควรรับประทานยาสม่ำเสมอ 

 

ที่สำคัญคือการสร้างกำลังใจให้ตนเอง เชื่อมั่นตนเองแล้วอาการเจ็บป่วยจะดีขึ้น 

 

เชื่อเถอะว่า ไม่สนุกเลยที่จะเป็นคนไข้ในแผนกจิตเวช