บทเรียนจาก มาเรียม สู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

31 ส.ค. 2562 | 03:00 น.

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3501 หน้า 7 วันที่ 1- 4 กันยายน 2562

โดย ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การจากไปของพะยูนน้อยมาเรียมจากสาเหตุอันเนื่องมา จากขยะพลาสติกนั้นสร้างความเศร้าเสียใจประกอบกับความสะทกสะท้อนใจแก่คนไทยจำนวนมาก มาเรียมรอดชีวิตจากการเกยตื้นและการพลัดหลงจากแม่ และกำลังได้รับการอภิบาลอย่างเอาใจใส่จากทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาสาสมัคร และชาวบ้านในพื้นที่ แต่กลับต้องมาเสียชีวิตเพราะสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายโดยนํ้ามือมนุษย์

ผู้เขียนเชื่อว่าการจากไปของมาเรียมเป็นบทเรียนสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมนั้นอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เรานึกถึงและมีมากเกินกว่าที่เราจะคะเนได้ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม จึงอยากจะขอใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอมุมมองของเศรษฐศาสตร์ในการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาขยะพลาสติกและการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างจนส่งผลเสียดังที่เกิดกับมาเรียมและเพื่อนพ้องของเธอ

ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากความล้มเหลวของตลาด (market failure) ในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดกิจกรรม, พฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยเกินไปในขณะที่มีกิจกรรม, พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากเกินไป โดยสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่มีใครต้องการนี้ คือ ราคาของสินค้า-บริการ-กิจกรรม ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่สะท้อนมูลค่าหรือต้นทุนที่แท้จริงของมัน

ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ราคาทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการจัดสรรทรัพยากร เพราะทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคจะดู ราคาสินค้าในตลาดเพื่อตัดสินใจว่าจะผลิตสินค้าเป็นจำนวนเท่าใดและจะซื้อสินค้าเป็นจำนวนเท่าใด ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าโดยการเปรียบเทียบราคาระหว่างสินค้าชนิดต่างๆ เพื่อตัดสินใจว่าภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เขาควรซื้อสินค้าแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใดถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวผู้บริโภคเอง

 

บทเรียนจาก มาเรียม  สู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน


 

 

ส่วนผู้ผลิตจะพิจารณาราคาสินค้าที่ขายในตลาดประกอบกับราคาของปัจจัยการผลิตเพื่อตัดสินใจว่าควรผลิตสินค้าเป็นจำนวนเท่าใด และควรใช้ปัจจัยการผลิตแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด เพื่อให้บริษัทได้ประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐศาสตร์ หากราคาในตลาดสะท้อนต้นทุนและมูลค่าที่แท้จริงของสินค้า การตัดสินใจบนฐานของความต้องการให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุดจะก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างพอเหมาะพอควร

สาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะพลาสติก เกิดจากการที่ราคาของสินค้า (พลาสติก) ไม่สะท้อนต้น ทุนที่แท้จริงของการนำสินค้านั้นไปใช้ ทุกวันนี้ผู้บริโภคสามารถใช้สอยผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายชนิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เมื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ การใช้ผลิต ภัณฑ์พลาสติกเหล่านี้มีมากเกินความจำเป็น จนเกิดเป็นขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่รั่วไหลลงสู่ทะเลจนกลายเป็นภัยเงียบต่อสัตว์ทะเลดังเช่นทุกวันนี้

นอกจากนี้แล้ว กลไกตลาดยังไม่สร้างแรงจูงใจให้เกิดกิจกรรม, พฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในปริมาณที่มากเพียงพอ ทุกวันนี้พฤติกรรมที่ช่วย ให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น การที่ธุรกิจต่างๆ หันมาใส่ใจกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการปรับกระบวนการผลิต การปรับผลิตภัณฑ์ หรือปรับการบริหารจัดการ และการที่ประชาชนพยายามลดขยะพลาสติกของตัวเองโดยการปฏิเสธการใช้พลาสติก การทิ้งขยะพลาสติกให้ถูกที่ หรือการพกกระบอกนํ้าที่ใช้ซํ้าได้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่ผู้ทำทำด้วยใจรัก(ษ์) โดยไม่ได้สิ่งใดตอบแทน ทั้งๆ ที่กิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม

 

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าเมื่อกลไกตลาดล้มเหลว อนาคตของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงขึ้นอยู่กับจิตสำนึกอนุรักษ์ของคนในสังคมเป็นหลัก การรณรงค์ให้คนหันมาสนใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญ

แต่ในมุมมองของผู้เขียน สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการปรับกลไกตลาดให้สร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องต่อกิจกรรม, พฤติกรรมที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ดังเช่นกรณีขยะพลาสติก เราอาจสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลด ละ เลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกโดยอาจคิดเงินหากมีผู้บริโภคต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ก่อให้เกิดปัญหา (โดยเฉพาะพลาสติกกลุ่มที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use plastic)) การให้ส่วนลด, รางวัลแก่ผู้ที่มีพฤติกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้หลายอย่างได้เริ่มดำเนินการแล้วในประเทศไทยทั้งโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน และผู้เขียนหวังว่าประเทศไทยของเราจะมีมาตรการด้านขยะพลาสติกที่ครอบคลุมเพียงพอที่จะแก้ไขความล้มเหลวของตลาดในการจัดสรรขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน

ในภาวะที่ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ทุกภาคส่วนควรร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องให้เกิดกิจกรรม/พฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างบ้านที่ปลอดภัยให้แก่สัตว์ทะเลเช่นเพื่อนๆ ของน้องมาเรียมและสร้างโลกที่น่าอยู่ให้แก่พวกเราทุกคน

 

บทเรียนจาก มาเรียม  สู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน