ชำแหละมรสุม “การบินไทย” ทำขาดทุนบักโกรก

22 ส.ค. 2562 | 08:30 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3498 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค.2562 โดย.. พริกกะเหรี่ยง
 

ชำแหละมรสุม “การบินไทย” ทำขาดทุนบักโกรก 


          การบินไทย “หัวทิ่ม” โชว์ผลประกอบการไตรมาส 2 บักโกรกไป 6.8 พันล้านบาท แตกต่างราวฟ้ากับเหวเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ยังพอมีกำไรอยู่ “445 ล้านบาท” ก็อย่างที่เข้าใจกันดีว่า เพราะเป็นช่วง “โลว์ซีซัน” แต่เหตุผลที่ ฝ่ายบริหาร “ดีดี” การบินไทย มักยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างเสมอที่ผ่านมาคือโยนบาปไปที่ราคาน้ำมัน แต่ปีนี้น้ำมันไม่ได้แพงขึ้น บาปจึงไปตกอยู่ที่ปัญหา “ค่าเงิน” ที่ผันผวน  และการแข่งขันที่รุนแรงและเทรดวอร์
          เรื่องของสงครามราคา การแข่งขันที่รุนแรง สาเหตุหลักมาจากสายการบิน “โลว์คอสต์” เป็นตัวเปิดศึกและคงจะหลอนตลอดไปเมื่อสายการบินต้นทุนต่ำ เตรียมเปิดเส้นทางบินข้ามทวีป มีการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่อย่าง แอร์บัส “เอ 330 นีโอ” ซึ่งบินได้ไกล ประหยัดน้ำมัน และไฉไลกว่า ที่สำคัญ “แอร์เอเชีย” ออร์เดอร์มาเป็นร้อยลำและเริ่มทยอยรับมอบจากแอร์บัส แล้วการขยับตัวของยักษ์ใหญ่ของเอเชีย อย่าง สายการบินหางแดง จะกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อสายการบินระดับพรีเมียม ซึ่งจะได้เห็นกันชัดๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ 
          หลายปัจจัยสะท้อนมายังผลประกอบการของสายการบินที่ไม่ใช่การบินไทยเท่านั้น แอร์เอเชีย ผลประกอบการครึ่งปีแรกยังพอมีกำไรปริ่มน้ำ “15 ล้านบาท” แต่เมื่อเจาะลึกไปดูผลประกอบการครึ่งปีก็ขาดทุนบานทะโรคไปถึง  482 ล้านบาท ส่วนการบินไทยขาดทุนดิ่งเหว! รวมตัวเลขครึ่งปีการบินไทยขาดทุนไป 6.4 พันล้าน ไม่รวมหนี้สินท่วมตัวอีกต่างหาก
          “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” จึงงัด 8 กลยุทธ์ ขึ้นมาแก้เกี้ยว ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ ซึ่งไม่ง่าย แต่ก็ดีกว่าไม่ทำ เพราะคงหมดหนทาง จึงต้องหันมาขายของผ่านออนไลน์ ซึ่งก็ไม่แปลกที่จะหารายได้เสริมทุกวิถีทางที่พอมีโอกาสเพื่อความอยู่รอด แต่มรสุมของการบินไทยมิได้ขาดทุนในส่วนของบริษัทแม่คือสายการบินแห่งชาติแล้วยังรวมบริษัทย่อยที่เข้าไปถือหุ้น 
          อย่างสายการบินนกแอร์ ที่การบินไทยต้องแบกรับภาระไปร่วมกว่า 100 ล้านบาท ไทยสมายล์ ที่เริ่มฟื้นแต่ยังไม่ดีนัก ครัวการบินภูเก็ต เป็นต้น ส่วนธุรกิจที่เป็น “นอนแอร์ไลน์” ที่เชิดหน้าชูตาการบินไทย อยู่ที่รายได้จากครัวการบินที่ยังทำกำไรกว่า 800 ล้านบาท ส่วนคาร์โกเจอผลกระทบจากส่งออกเทรดวอร์ ทำรายได้ทรุดไปเยอะ

 

          อีกทั้งภารกิจใหญ่ของการบินไทยยังอยู่ที่การจัดซื้อฝูงบินล็อตใหญ่ 38 ลำ มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ที่ฟันธงได้ว่า “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” น่าจะทำคลอดชงเข้าครม.ในเร็วๆ นี้ หลังเรียกฝ่ายบริหารเข้าไปเคลียร์ในรายละเอียดกันเป็นที่เรียบร้อยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาตามมาว่าจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ ในเมื่อฐานะการเงินของการบินไทยยังง่อนแง่นจะเพิ่มทุนใครจะซื้อในเมื่อบริษัทขาดทุนบักโกรก ถ้ากู้ดอกเบี้ยก็ต้องแพงซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทสูงขึ้นไปอีก ท่ามกลางคำถามตามมาว่าในเมื่อบริษัทยังขาดทุน ! จะไปซื้อเครื่องบินมาเป็นภาระทำไม? สร้างภาระหนี้สินเพิ่มทำไม? ซื้อเครื่องบินใหม่ แล้วยิ่งทำให้ขาดทุนใครรับผิดชอบ? 

ชำแหละมรสุม “การบินไทย” ทำขาดทุนบักโกรก
          ยังไม่ทันมีคำตอบ “ถาวร เสนเนียม” ในฐานะรมต.กำกับดูแลการบินไทยโดยตรง เรียกฝ่ายบริหารการบินไทยเข้าหารือด่วน พร้อมกับย้ำว่า จะซื้อเครื่องบินใหม่ก็ต้องมีแผนที่ชัดเจนว่า จะซื้อเครื่องบินแบบไหน รุ่นไหน นำไปบินเส้นทางไหน ทำรายได้อย่างไร? เรื่องนี้คงไม่มีอะไรมากไปกว่า กลัวเป็นตราบาปและถูกประจานย้อนหลังเหมือนเมื่อครั้งการซื้อเครื่องบินแอร์บัสเอ 340 ของบอร์ดและรัฐบาลในอดีต ที่เจ๊งไม่เป็นท่าตามหลอนมาจนถึงทุกวันนี้ ขายทิ้งก็ไม่มีใครซื้อ เอาไปบินก็ขาดทุนยับเยิน เพราะขนาดขนผู้โดยสารเต็มทุกที่นั่งก็ยังขาดทุน ต้องจอดกราวด์อยู่ที่อู่ตะเภา 
          การบินไทย! ช่วงนี้เหมือนพระศุกร์เข้า พระเสาร์ แทรก เปลี่ยนขั้วการเมือง ก็เหมือนเปลี่ยนนโยบาย แถมยังเจอ รมว.ที่มาจากคนละพรรคก็ยิ่ง “มึน” เข้าไปใหญ่ เมื่อกระทรวงการคลังว่าไปทาง คมนาคมไปอีกทาง โดยเฉพาะเรื่องเปลี่ยน -ปลด - บีบ บอร์ด ยังไม่ทันจะออกหัวออกก้อย ก็มาเจอดราม่าใหญ่ เรื่องการปรับลดสิทธิประโยชน์ของบอร์ด
          ยังไม่ทันไรก็มีสเต็ป 2 ตามมาคือการขอความร่วมมือจากพนักงานระดับฝ่ายบริหารของการบินไทยในการแสดงสปิริตช่วยกันลดค่าใช้จ่าย โดยส่งผ่านอี-เมล์ให้ตอบใน 2 ข้อหลักคือ ลดเงินเดือนค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 10% ต่อเดือน

ชำแหละมรสุม “การบินไทย” ทำขาดทุนบักโกรก

             ลดค่าพาหนะเหมาจ่ายสูงสดไม่เกิน 10% ต่อเดือน สำหรับพนักงานผู้บริหารระดับ 10 ขึ้นไปหรือระดับผู้อำนวยการที่เข้าข่าย 100 กว่าคน  เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2562 เพื่อร่วมมือกัน "ฝ่าวิกฤติ" องค์กรหลังขาดทุนติดต่อกัน แม้จะเป็นช่วงสั้นแค่ 4 เดือน แต่แสดงให้เห็นว่าอาการของสายการบินแห่งชาติที่ไม่สู้ดีนัก แต่ยังดีที่ยังไม่ “ลาม” มาถึงพนักงานและเป็นความสมัครใจไม่ใช่บังคับ มิเช่นนั้นคงเป็น “ดราม่า” กันไม่จบ! 
            ต่อกันด้วยข่าวพีอาร์   “กมลวิศว์ แก้วแฝก” ผอ.อ.ต.ก.จะจัดงานมหกรรมสินค้าเกษตรคุณภาพ “ORTORKOR SMART EXPO 2019” ตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพ (อ.ต.ก. Fair) วันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน ณ ฮอลล์ 7 อิมแพ็ค มีให้เลือก 212 บูธ และที่พิเศษ มีบริการ Delivery จัดส่งถึงบ้านภายใน 48 ชั่วโมง อำนวยความสะดวกไม่ต้องหอบหิ้วให้เมื่อย
          จองคิวเกือบเต็มหลักสูตร “The Master” ของสถาบันยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงบวก (iSAB) มาถึงรุ่นที่ 5 แล้ว งานนี้ “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานหลักสูตรระดมกูรูชื่อดังจากองค์กรยักษ์ใหญ่มาให้ความรู้เริ่มอบรมในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ ถ้าไม่อยากพลาดโอกาสดี ๆ รีบคลิกสมัครกันได้ที่ www.isabthailand.com  
           “ปิติ ตัณฑเกษม” บิ๊ก TMB ร่วมกับ ไอเอ็นจี จัด เดิน-วิ่งมินิมาราธอนการกุศล TMB | ING PARKRUN 2019   แบ่งเป็นวิ่ง Park Run  จัดวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคมนี้ โดยวิ่งผ่าน 3 สวน คือสวนสาธารณะจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯและสวนรถไฟ ระยะ 2.6-5.2 และ 10.5 กิโลเมตร กับวิ่ง Virtual Park Run ที่สามารถสะสมระยะที่สวนไหน เวลาใดก็ได้ ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน - 15 ธันวาคม โดย ทีเอ็มบีสนับสนุนเงินบริจาคเพิ่มอีก 1 ล้านบาท หากนักวิ่ง Virtual Park Run ทุกคนสามารถสะสมระยะทางวิ่งรวมได้เกิน 1 แสนกิโลเมตร ผู้สนใจซื้อบัตรวิ่งทั้ง 2 ประเภทได้ในราคา 600 บาท ได้ที่เว็บไซต์ https://parkrun.tmbfoundation.or.th  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป