"ลุงตู่" รับผิดชอบคนเดียว รับผิดชอบอย่างไร?

13 ส.ค. 2562 | 09:34 น.

คอลัมน์ที่นี่ไม่มีความลับ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3496 หน้า 16 ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค.2562 โดย... เอราวัณ

 

 "ลุงตู่"

รับผิดชอบคนเดียว

รับผิดชอบอย่างไร?                            

          ปมการนำครม.ถวายสัตย์ ต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปถวายสัตย์ เมื่อ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นประเด็นที่ ลุงตู่ กำลังหาทางแก้ไขให้ “ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตน ตามมาตรา 161

          ความว่า “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนตลอดไป" ขาดคำว่า "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

          แม้ว่าลุงตู่ ออกมารับผิดหลังแถลงนโยบาย พร้อมขอโทษ ครม. และประกาศขอรับผิดชอบคนเดียว ปัญหาคือ ลุงตู่จะรับผิดชอบและแก้ไขปัญหานี้อย่างไร  เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อบัญญัติ หรือ กำหนดโทษในกรณีกล่าวคำถวายสัตย์ ไม่ครบ แต่มีข้อเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้านและคนในพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เช่น เทพไท เสนพงศ์ จากประชาธิปัตย์ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ แห่งพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่เรียกร้องให้แก้ไขปัญหา 2 ช่องทาง คือ 1.ขอพระบรมราชานุญาต นำครม.ถวายสัตย์ใหม่ และ 2.ลาออกแล้วเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ คณะรัฐมนตรีใหม่ ถวายสัตย์ใหม่ และแถลงนโยบายใหม่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เลือกทั้ง 2 ทาง

          ต้องหารือ “กุนซือทางกฎหมาย” ทั้ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, ดิสทัด โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทั้ง 3 คน ถูกยกให้เป็น “ซือแป๋”ด้านกฎหมาย แต่เหตุการณ์ “ถวายสัตย์ไม่ครบ” ก็น่าจะเป็นความรับผิดชอบของทั้ง 3 คนที่ไม่รอบคอบ จนกลายเป็นเหตุ “กิ้งกือตกท่อ” 3 กุนซือด้านกฎหมายจะหาทางออกนี้ได้มั้ย หรือต้องอาศัยรุ่นใหญ่อย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หาทางออกให้?

          ในขณะที่กำลังเผชิญปัญหารัฐธรรมนูญ “สะดุดขาตัวเอง”เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับพรรคย่อย 10 พรรค (พรรคละ 1 เสียง) ขย่มซ้ำ ด้วยการกลัวเรื่องผิดสัญญาในตำแหน่งทางการเมือง (ผู้ช่วยรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี-เลขาฯรัฐมนตรี-ประธานคณะกรรมาธิการในสภา) จึงส่งเสียง “ทวง” คำมั่นครั้งโหวตสนับสนุนลุงตู่ เหตุเพราะคนเจรจาหลังสุดชื่อ สมศักดิ์ เทพสุทิน ไปทำให้เกิดความไม่มั่นใจ ไม่เหมือนเมื่อครั้ง “ผู้กองมนัส-ธรรมนัส พรหมเผ่า” เคยปิดดีลไว้ ทำให้เดือดร้อนถึง อุตตม สาวนายน และ ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ ต้องปิด “ดีลใหม่”  ทุกเสียงมีค่า อย่าไว้ใจคนที่ไม่มี “บารมีพอ” ไปประสาน แม้จะเป็นพรรคย่อยก็ตาม